วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

แพทย์ มช. เตือนเม็ดเลือดสูงมฤตยูเงียบ

Spread the love

แพทย์ มช. เตือนเม็ดเลือดสูงมฤตยูเงียบ…เสี่ยงพังผืดในไขกระดูก

 

โรคเม็ดเลือดสูงและโรคพังผืดในไขกระดูกเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะการเจริญของเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้   แพทย์ทางโลหิตวิทยาส่วนใหญ่และองค์กรเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้จัดให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง

คณะแพทย์หน่วยโลหิตวิทยา  ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “โรคเม็ดเลือดสูงได้แก่ โรคเม็ดเลือดแดงสูง (โรคเลือดข้น) โรคเกล็ดเลือดสูงและโรคพังผืดในไขกระดูกเป็นความผิดปกติของไขกระดูกที่เกิดขึ้น เมื่อเซลล์ปกติในไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดเพิ่มขึ้นผิดปกติ โดยขาดการควบคุม  แพทย์ทางโลหิตวิทยาจัดให้โรคเม็ดเลือดแดงสูง (โรคเลือดข้น) โรคเกล็ดเลือดสูงและโรคพังผืดในไขกระดูก เป็นกลุ่มโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า myeloproliferative neoplasm (MPN) เนื่องจากภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติของกลไกที่ควบคุมการสร้างเม็ดเลือด โดยพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมด มีการกลายพันธุ์ของยีน JAK2  CALR และ MPL อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อมีการกลายพันธุ์ขึ้น จึงทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ โดยไม่มีกลไกควบคุม ยั้บยั้ง กรณีที่ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นเป็นหลักจะเกิดเป็นโรคเม็ดเลือดแดงสูงหรือโรคเลือดข้น (polycythemia vera หรือ PV) ถ้าสร้างเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นจะเกิดเป็นโรคเกล็ดเลือดสูง (essential thrombocythemia หรือ ET) ถ้ามีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างพังผืดเพิ่มขึ้นเกิดเป็นโรคพังผืดในไขกระดูก (primary myelofibrosis หรือ PMF) นอกจากนี้ทั้งโรคเลือดข้นและโรคเกล็ดเลือดสูงสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคพังผืดในไขกระดูกได้อีกด้วย

ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยโดยพบโรคเม็ดเลือดแดงสูง (โรคเลือดข้น) และโรคเกล็ดเลือดสูงประมาณ 1-3 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ส่วนโรคพังผืดในไขกระดูกพบได้น้อยกว่าคือ 1 คนต่อประชากร 100,000 คน เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 50-70 ปี ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคเม็ดเลือดแดงสูง (โรคเลือดข้น) และโรคเกล็ดเลือดสูงคือการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดเช่น เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามผู้ป่วยบางรายอาจจะมาด้วยเลือดออกผิดปกติเนื่องจากการทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติก็ได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการหรือมีอาการไม่จำเพาะเจาะจงเนื่องจากการไหลเลือดไม่สะดวกเช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นต้น ส่วนอาการของโรคพังผืดในไขกระดูก เป็นผลมาจากจากเซลล์เม็ดเลือดถูกแทนที่ด้วยพังผืด ร่างกายจึงไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ ทำให้มีปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง เกิดภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำ จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและภาวะเลือดออกง่ายตามลำดับ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีตับและม้ามโตขึ้น เพื่อทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดทดแทนไขกระดูก

 

 

การวินิจฉัยโรคในกลุ่มนี้เริ่มจากการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดซึ่งสามารถทำได้ที่โรงพยาบาลทั่วไปได้ ซึ่งจะพบว่ามีความผิดปกติ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้มีเม็ดเลือดแดงสูง มีเกล็ดเลือดสูง หรือมีพังผืดในไขกระดูกได้ ถ้าไม่พบและสงสัยว่าจะเกิดจากกลุ่มโรคนี้ก็อาจทำการตรวจไขกระดูกรวมทั้งการกลายพันธุ์ของยีน JAK2 หรือยีนอื่นๆ ต่อไปเพื่อยืนยันการวินิจฉัย  แม้ว่าโรคเม็ดเลือดแดงสูง (โรคเลือดข้น) โรคเกล็ดเลือดสูงและโรคพังผืดในไขกระดูกนี้จะเกิดจากความผิดปกติของยีน แต่ก็ไม่ได้ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ และไม่ได้ส่งต่อจากพ่อแม่สู่ลูก ในผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะพบการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเองในภายหลัง ซึ่งอาจเป็นผลจากการสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี รังสีชนิดที่มีพลังงานสูงมาก หรือสารเคมีบางชนิด เช่น เบนซีน โทลูอีน เป็นต้น

การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงสูง (โรคเลือดข้น) และโรคเกล็ดเลือดสูงถือว่าดีมาก หลังการรักษาด้วยยาต้านเกล็ดเลือด รวมทั้งยาลดปริมาณเซลล์เม็ดเลือดในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ส่วนโรคพังผืดในไขกระดูก การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยบางประการ เช่น อายุ การตรวจนับเม็ดเลือดและอาการของโรค เมื่อติดตามผู้ป่วยไป 10 ปีพบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 20% มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันได้ ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจมีโรคค่อนข้างคงที่หรือค่อยๆ มีอาการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เช่น ม้ามโตขึ้น ทำให้มีอาการอึดอัดแน่นท้อง หรือมีอาการซีด อ่อนเพลียมากขึ้น แพทย์ผู้ดูแลจะติดตามอาการและตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงของโรค

การติดตามและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของโรค ในผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงสูง (โรคเลือดข้น)และโรคเกล็ดเลือดสูง แพทย์จะนัดมาติดตามระดับเม็ดเลือดเป็นระยะ หลังให้การรักษา ส่วนโรคพังผืดในไขกระดูก หากผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ แพทย์อาจแนะนำให้ติดตามและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของโรคโดยการตรวจร่างกายและตรวจนับเม็ดเลือด รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ ถ้าอาการมีการดำเนินของโรคเพิ่มขึ้น แพทย์อาจจะเริ่มต้นการรักษา

คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาและการปฏิบัติตัว ความร่วมมืออันดีกับแพทย์ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม หากมีประวัติโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากวางแผนที่จะมีบุตรหรือตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกัน เนื่องจากการรักษาบางอย่างมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ เมื่อมีข้อสงสัยควรซักถามแพทย์ อาจเตรียมรายการคำถามเมื่อถึงเวลานัด รวมทั้งบันทึกข้อมูลเพื่อช่วยจำ  การไปตรวจตามที่แพทย์นัด เพื่อที่แพทย์จะสามารถติดตามและให้การรักษาที่เหมะสม  เปิดกว้างเมื่อพูดคุยถึงอาการและวิธีการรักษา การสื่อสารระหว่างผู้ป่วย-แพทย์ที่ดีมีแนวโน้มที่จะช่วยปรับปรุงผลการรักษา การรักษาโดยแพทย์ทางเลือกเช่น การฝังเข็ม การออกกำลังกาย การเล่นโยคะ การทำสมาธิ และการผ่อนคลาย ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าเป็นการรักษาเพียงอย่างเดียวในด้านการรักษาโรคเม็ดเลือดแดงสูง (โรคเลือดข้น)และโรคพังผืดในไขกระดูก ดังนั้นผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการรักษาเพิ่มเติมตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน

 

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน