วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

ขึ้นค่าแรง 300 ผึ้งน้อยกระทบแน่!!! วอนรัฐชดเชยส่วนต่าง

10 ม.ค. 2013
312
Spread the love

ขึ้นค่าแรง 300 ผึ้งน้อยกระทบแน่!!!  วอนรัฐชดเชยส่วนต่าง

 

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 9 ม.ค.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางอัจฉรา แก้วกำชัยเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และนายวีรศักดิ์ ลดาคม ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ทำการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการในจังหวัดเชียงใหม่ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี พ.ศ.2556 มาตรการที่ 13 การจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ ไปยังสถานศึกษาและสถานประกอบกิจการ ณ บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด โดยมี นางรัตนา ปาละพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด เป็นผู้ให้การต้อนรับ
โดยเมื่อคณะผู้ตรวจราชการมายังพื้นที่ของบริษัทผึ้งน้อย จำกัด ทางผู้จัดการพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดห้องเพื่อทำการสัมมนาถกปัญหาและรับฟังความคิดเห็น และทำการพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อศึกษาผลกระทบจากนโยบายขึ้นราคาค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ของรัฐบาล ซึ่งงบริษัทผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัดเป็นหนึ่งในสถานประกอบกิจการที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าไปดำเนินโครงการยกระดับศักยภาพแรงงานในสถานประกอบกิจการ โดยการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือ และปลูกฝังคุณลักษณะ ทัศนคติที่ดีในการทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานของลูกจ้างให้ตรงตามที่สถานประกอบกิจการต้องรองรับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
โดยนางรัตนา ปาละพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด กล่าวว่า สำหรับนโยบายขึ้นราคาค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่ทางรัฐบาลได้มีมาตรการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมานั้นทาง บริษัทได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยคาดว่า 3 ปีนับจากนี้อาจจะขาดทุน แต่ระยะต่อไปก็จะเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้อยู่ที่กำลังใจของบุคลากรที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน เบื้องต้นสิ่งที่อยากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐคือข้อเสนอที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะการชดเชยค่าส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจาก 250 บาทเป็น 300 บาทต่อวัน ประกอบกับค่าขนส่งวัตถุดิบที่แพงกว่าภาคอื่นที่รัฐบาลควรนำมาเป็นข้อพิจารณาและการพัฒนาฝีมือแรงงานที่จะขอภาครัฐให้การสนับสนุนวิทยากรอบรม
ทางด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเบื้องต้น รัฐบาลมีหน่วยงานที่ติดตามประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าว และมีมาตรการช่วยเหลือ 16 มาตรการตามที่ประกาศไว้แล้ว ขณะที่ยอดการเลิกจ้างของผู้ประกอบการเดือนธันวาคม 2555 มีประมาณ 5-6 พันคน ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ต้องรอดูสิ้นเดือนมกราคม 2556 อีกครั้ง โดยจังหวัดที่เลิกจ้างมากที่สุดคือจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมในพื้นที่ คือจังหวัดสระบุรี รองลงมาคือพระนครศรีอยุธยา
นายวีรศักดิ์ ลดาคม ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีมาตรการ 3 มาตรการเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท คือ ให้กู้เงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 โดยจัดสรรงบประมาณ 600 ล้านบาท ขยายระยะเวลาอีก 1 ปี โครงการคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ เพื่อเติมความรู้ให้แก่แรงงาน ในส่วนที่ยังขาดและยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ต่อยอดให้แก่ผู้ที่จบการศึกษาและกำลังหางานทำ ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้งบประมาณ 400 ล้านบาท และผู้ประกอบการสามารถนำมาลดหย่อนได้ อีกทั้งจัดศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด โดยจะให้บริการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและค่าวิทยากร อีกทั้งมีเบี้ยเลี้ยงให้ผู้เข้ารับการอบรมเพิ่มทักษะด้วย สำหรับผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทนั้น เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผลกระทบอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้อยู่ที่การบริหารจัดการของผู้ประกอบการ ซึ่งหน่วยงานกระทรวงแรงงานได้วางมาตรการไว้รองรับเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว

 

สำนักข่าว 
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน