วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

สรุปผลการดำเนินโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่เมืองน่าอยู่

Spread the love

สรุปผลการดำเนินโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่เมืองน่าอยู่

จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมสรุปผลการดำเนินโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่เมืองน่าอยู่

จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมนำเสนอสรุปผลการดำเนินโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่เมืองน่าอยู่ พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินงานพัฒนาชุมชนเชิงนิเวศน์ (Eco  Village) ของจังหวัดเชียงใหม่ในระยะต่อไป และการดำเนินงานขยายผลไปยังพื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ อีก 24 อำเภอที่เหลือด้วย

นายธานินทร์  สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดทำโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2556 โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นที่ปรึกษา ฯ เพื่อดำเนินการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาชุมชนตามกระบวนการพัฒนาชุมชนเชิงนิเวศน์ (Eco  Village) ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องของจังหวัดเชียงใหม่ และจัดทำแนวทางการดำเนินการ (แผนแม่บท) เพื่อจัดตั้งตำบลน่าอยู่หรือชุมชนต้นแบบเชิงนิเวศน์ของจังหวัดเชียงทุกอำเภอ นั้น ในวันที่ 20 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่จึงได้จัดประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่เมืองน่าอยู่ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนทุกอำเภอเข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของโครงการและนำไปประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการขยายผลโครงการ ฯ ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ว่า จะดำเนินการในอีก 24 อำเภอที่เหลือ อำเภอละ 1 ตำบล ซึ่งทีมงานที่ปรึกษาได้มีการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายไว้แล้วทั้ง 24 อำเภอ เพื่อศึกษาปัญหา และพัฒนาแผนเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยมีคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนก่อน ใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่า ดิน น้ำ อากาศ โดยมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำเกษตรกรรม “โครงการพืชอาหารปลอดภัย” แต่ขาดความต่อเนื่องเนื่องจากขาดงบประมาณ ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย ซึ่งประสบปัญหาพื้นที่ชุมชนทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง ซึ่งมีหมู่บ้านต้นแบบอนุรักษ์ป่า ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงได้รับรางวัลระดับประเทศ และ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา ที่มีสภาพพื้นที่เป็น    เนินเขาสลับซับซ้อน ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จะยกตัวอย่างการบริหารจัดการของประเทศภูฐานว่า เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรประมาณ 700,000 คน โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึงปีละ 6,000 ล้านบาท มีพืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว ถั่ว และงา มีการนำระบบการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีมาใช้บริหารงาน มีสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม และดำเนินชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง จึงอยากให้นำมาศึกษาเชิงเปรียบเทียบและนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานโครงการพัฒนาเชียงใหม่เมืองน่าอยู่ของจังหวัดเชียงใหม่

ด้านผู้แทนมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้สรุปผลการดำเนินโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่เมืองน่าอยู่ว่า ได้ดำเนินการกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อวางแผนดำเนินการและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาออนใต้ กำหนดแผนงานการพัฒนาออนใต้เมืองน่าอยู่ มีการจัดสัมมนาชุมชนนิเวศและวิกฤตโลก มหกรรมบ้านจุ้ม เมืองเย็น : เชียงใหม่ก้าวสู่ชุมชนนิเวศและจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการดำเนินงานชุมชนนิเวศระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ พร้อมทั้งมีการแถลงข่าวสื่อมวลชนด้วย มีการคัดเลือกตำบลน่าอยู่ (Eco Village) หรือ ชุมชนต้นแบบเชิงนิเวศน์ของจังหวัดเชียงใหม่ 1 ตำบล 1 อำเภอ รวมทั้งมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ ฯ ผ่านสื่อต่าง ๆ

 

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ