วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

เชียงใหม่จัดทำแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์น้ำปี 2556

Spread the love

                 โครงการชลประทานเชียงใหม่ จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำรองรับสถานการณ์น้ำจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2556

โครงการชลประทานเชียงใหม่ จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำฤดูฝน จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2556  ทั้งแผนงานก่อนน้ำมา หรือก่อนถึงฤดูฝน ระหว่างน้ำมา และหลังน้ำมา สามารถนำไปเป็นคู่มือปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำในฤดูฝน พ.ศ. 2556 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายเจริญฤทธิ์  สงวนสัตย์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ต้องประสบภัยอันเกิดจากน้ำช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะสภาพน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำฝาง มาโดยตลอด โดยมีระดับความรุนแรงมากน้อยต่างกันไปในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนและสภาพของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความสูญเสียจากภัยอันเกิดจากน้ำช่วงฤดูฝนที่ส่งผลกระทบกับเกษตรกรหรือประชาชนให้มากที่สุด โครงการชลประทานเชียงใหม่ จึงได้จัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำขึ้น เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทราบขั้นตอนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ทราบการแบ่งมอบหน้าที่ ระบบการดำเนินงานและเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในด้านต่าง ๆ ไว้รองรับสถานการณ์ ทราบขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติงานในการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำได้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือนเป็นคู่มือปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ (ฤดูฝน) พ.ศ. 2556 โดยมีขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในลำน้ำสายหลัก เช่น    แม่น้ำปิง แม่น้ำแตง แม่น้ำแจ่ม แม่น้ำขาน และพื้นที่เสี่ยงภัยต่าง ๆ ในจุดที่กำหนดไว้ เพื่อกำหนดมาตรการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่ต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างโครงการชลประทานเชียงใหม่กับส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แผนงานดังกล่าว กำหนดดำเนินงานทั้งก่อนน้ำมา ระหว่าง น้ำมา และ หลังน้ำมา โดย แผนงานก่อนน้ำมา หรือก่อนถึงฤดูฝน ในส่วนของแผนงานที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ประกอบด้วย การคาดการณ์และติดตามสภาวะทางอุตุ-อุทกวิทยาอย่างใกล้ชิด การบริหารน้ำในอ่างน้ำ ทั้งในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อกำหนดการเก็บกักน้ำและการระบายน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักน้ำในอ่าง การใช้ระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัย การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม การจัดตั้งศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของโครงการเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและจัดทำรายงานรวมถึงการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการบริหารข้อมูลน้ำฝน น้ำในอ่างฯ น้ำท่าและน้ำท่วม ส่วนแผนงานที่ใช้สิ่งก่อสร้าง ได้กำหนดแผนงานขุดลอกและกำจัดวัชพืชในคลองชลประทาน งานซ่อมแซมบำรุงรักษาการตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทานต่าง ๆ และการเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์

แผนงานระหว่างน้ำมา เป็นแผนงานที่กำหนดขึ้นเพิ่มเติมจากแผนงานก่อนน้ำมา ทั้งมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้างตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ประกอบด้วย การส่งน้ำเข้าระบบชลประทานในพื้นที่การเกษตรโดยใช้ประโยชน์จากระบบชลประทานเพื่อลดปริมาณยอดน้ำสูงสุด การปรับแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมด้านท้าย สำหรับมาตรการการใช้สิ่งก่อสร้าง ประกอบด้วย การเสริมประสิทธิภาพของอาคารชลประทานในบริเวณต่าง ๆ ที่พบว่ายังไม่มีศักยภาพเพียงพอกับขนาดของสถานการณ์น้ำหลากที่คาดว่าจะเกิดขึ้น งานเสริมพนังกั้นน้ำ/คันคลองส่งน้ำ หรือคลองระบายน้ำ การสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยเหลือ เร่งซ่อมแซมอาคารที่ชำรุดให้ใช้งานได้ชั่วคราว

แผนงานหลังน้ำมา เป็นแผนงานหลังเกิดอุทกภัย หรือช่วยเหลือหลังน้ำท่วม โดยการเร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมภายหลังที่สภาพน้ำลดระดับลง เร่งสำรวจความเสียหายของระบบชลประทาน เพื่อซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ประเมินศักยภาพของปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อช่วยเหลือในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งเตรียมการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และรถยนต์บรรทุกน้ำ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำว่า มีสาเหตุเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของชุมชน และด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองในด้านต่าง ๆ เช่น การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เพาะปลูก และที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในด้านทรัพยากรน้ำ โดยเห็นว่าในการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพนั้น ควรมีการดำเนินงานแบบบูรณาการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการเชื่อมโยงข้อมูลและสามารถแจ้งเตือนภัยได้ทันเหตุการณ์ โดยการสร้างเครือข่ายในการเตือนภัยในส่วนของพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ชุมชน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนงานโครงการแก้ไข/บรรเทาปัญหาอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง (ท่าวังตาล) ซึ่งสามารถระบายน้ำหลากได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2556 การศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง (อ่างเก็บน้ำกึ๊ดและอ่างเก็บน้ำแม่แตงและการศึกษาความเหมาะสมโครงการอ่างเก็บน้ำปิงตอนบนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว  โครงการแก้มลิงฝายแม่แตง บ้านห้วยป่าห้า ตำบลแม่แตง อำเภอแม่แตง พื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ความจุดของแก้มลิง ประมาณ 6.00 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการแก้ไขปัญหาปัญหา/บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวงอย่างบูรณาการ โดยปรับปรุงอาคารและฝายในลำน้ำกวงให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 4 แห่งในพื้นที่ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ดังกล่าวที่เป็นที่ลุ่มบริเวณจุดบรรจบของน้ำแม่ขานกับแม่น้ำกวง และการซ่อมแซมฝายดอยน้อย และฝายวังปาน ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัยในปี 2554 โดยก่อสร้างฝายคอนกรีต พร้อมประตูระบายทรายที่ได้มาตรฐานและมีความมั่นคงแข็งแรงทุดแทนฝายเดิม

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอันเกิดจากน้ำฤดูฝนเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำแผนการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ และแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ส่วนราชการมีความพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย สร้างความเข้าใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐานของแต่ละหน่วยงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรให้ได้มากที่สุด

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ