วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

“จ้วยกั๋นหมู่เฮา เมาบ่ขับ” ลดอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์

Spread the love

“จ้วยกั๋นหมู่เฮา เมาบ่ขับ” ลดอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์

สงกรานต์

 

มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนในเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา

ผนึกพลังจัดโครงการ “จ้วยกั๋นหมู่เฮา เมาบ่ขับ” ลดอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์

 

มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) จับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งชุมชนในพื้นที่รณรงค์ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และจ.พะเยา โชว์ไอเดียสร้างสรรค์เฟ้นหาแนวทางลดอุบัติเหตุจากการ “เมาแล้วขับ” ในช่วงปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึง มั่นใจการลงพื้นที่ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (สปช.) มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม ของคนในชุมชนให้รู้จักดื่มอย่างรับผิดชอบและสามารถสร้าง มาตรการที่ชุมชนยอมรับร่วมกัน อันนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วยความสมัครใจ ล่าสุดได้มีการจัดงาน แถลงข่าวเปิดตัวโครงการประจำปี 2558 อย่างเป็นทางการ

 

นางสาววลี เกียรติพงษ์พันธ์ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ มปอ. ยังคงเดินหน้าจัดโครงการ “จ้วยกั๋นหมู่เฮา เมาบ่ขับ” ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อปลูกจิตสำนึกในการดื่มอย่างรับผิดชอบ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนชุมชนในจังหวัดพื้นที่เป้าหมายเพื่อรณรงค์ ป้องกัน และลดอุบัติเหตุจราจร บนท้องถนนอันมีสาเหตุมาจากการเมาแล้วขับให้แก่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น รวมถึงนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ ทั้งนี้ การดำเนินงานของ มปอ. ได้ใช้กลยุทธ์ในการ ระดมความคิดร่วมกับชุมชนการอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำในชุมชน โดยในปีนี้เราได้รับความร่วมมือจากสมาคมพัฒนากรและชุมชนเพื่อเป็นกลไกเชื่อมโยง นโยบายและแนวคิดหลักของ มปอ. ไปสู่แกนนำชุมชนให้ได้เรียนรู้กลยุทธ์การวางแผนป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับ อุบัติเหตุอันเกิดจากการดื่มอย่างขาดความรับผิดชอบ โดยในปีนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เราได้รับการสนับสนุนจากหลาย หน่วยงานในการร่วมรณรงค์โครงการอันเป็นประโยชน์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย หน่วยงานราชการในพื้นที่รณรงค์ 3 จังหวัด (จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา) หน่วยงานทหาร หน่วยงานตำรวจ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานด้านการขนส่ง หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย และภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัท มายา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งในนามตัวแทนของมปอ. ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้

 

ทั้งนี้ โครงการ “จ้วยกั๋นหมู่เฮา เมาบ่ขับ” เป็นโครงการรณรงค์เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องของ เมาไม่ขับ และสร้างให้เกิดจิตสำนึกของการดื่มอย่างรับผิดชอบในช่วงเทศกาลสงกรานต์      โดยจัดขึ้นครอบคลุมในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก  อีกทั้งคนในพื้นที่ที่ไปทำงาน ต่างจังหวัดจะกลับมาฉลองเทศกาลปีใหม่ไทยที่บ้านเกิด  โดยโครงการนี้ครอบคลุมระยะเวลาดำเนินการระหว่างมกราคม – เมษายน 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบของการเมาแล้วขับ อีกทั้งยังเสริมสร้างในคนในชุมชนได้แสวงหาแนวทางในการระดมความคิดเห็นและวางแนวทางปฏิบัติ พร้อมกำหนด ผู้รับผิดชอบของแต่ละชุมชนเพื่อร่วมลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับในชุมชนของตนเอง    โดยแบ่งรายละเอียดการดำเนินงานออกเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย

 

  1. การจัดอบรมผู้นำชุมชน (Community workshop) ที่จัดขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2558 เป็นเวลา2 วันโดยทาง มปอ.และสปช.ได้จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ อีกทั้งระดมความคิดและแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ โดยได้เลือก 2 ตำบล ได้แก่ ต.แม่คือ และต.ตลาดใหญ่ ในอ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่  และในจ.เชียงราย เลือกตำบลในอำเภอเมือง ได้แก่ ต.บ้านดู่ , ต.นางแล และ ต.ท่าสุด

 

  1. สื่อประชาสัมพันธ์โครงการ โดยจะดำเนินการตลอดเดือนมีนาคม 2558 โดยทาง มปอ. จะมีการติดตั้ง ป้ายสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์โครงการและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการ “เมาไม่ขับ” ให้เกิดกับผู้ขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งป้ายดังกล่าวจะถูกนำไปติดตั้งบริเวณริมเส้นทางการสัญจรที่สามารถเห็นได้เด่นชัดใน 9 อำเภอรวมกันทั้งใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.พะเยา

 

  1. การจัดงานแถลงข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์การจัดโครงการผ่านสื่อมวลชนใน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย

 

  1. การณรงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์    (ช่วง 7 วันอันตราย)        โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 เมษายน 2558 ที่    จ.เชียงใหม่ และระหว่างวันที่ 14-15 เมษายน 2558 ที่ จ.เชียงราย ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะได้ดำเนินการจัดการรณรงค์    เมาไม่ขับ  โดยแบ่งกิจกรรมเป็น 2 รูปแบบ คือ การประชาสัมพันธ์ด้วยรถเคลื่อนที่และการออกบูธเพื่อรณรงค์ และให้บริการตรวจวัดระดับแอลกอฮอลล์

 

เรามั่นใจอย่างมากว่าแนวคิดของ มปอ. ในการให้ชุมชนได้แสดงออกทางความคิดเห็นและฝึกที่จะสร้างมาตรการ ในการป้องกันอุบัติเหตุด้วยกลไกที่เหมาะสมกับแต่ละชุมชนนั้น จะก่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น จากการสำรวจพื้นที่ การเกิดอุบัติเหตุในปีที่ผ่านมาพบว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในถนนสายย่อยภายในชุมชน ดังนั้น การเข้าไปรณรงค์ในชุมชน จึงเป็นการรณรงค์ที่สาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และยั่งยืน” นางสาววลี เกียรติพงษ์พันธ์ กล่าวสรุป

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ