Chiang Mai Creative City in Crafts and Folk Art

Spread the love

Chiang Mai Creative City in Crafts and Folk Art

1795763_263031903906480_1739043584429143383_n

 

องค์การบริการส่วนจังหวัดเชียงใหม่มีเป้าหมายที่จะดำเนินการ “โครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่เป็นเครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ขององค์การ UNESCO (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน)” โดยทำงานร่วมมือกับคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำการศึกษาศักยภาพความเป็นไปได้และความพร้อมของของเมืองเชียงใหม่ทางด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนวทางและแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เพื่อการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ให้เป็น “เมืองสร้างสรรค์” (Creative City) สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน(Creative City of Crafts and Folk Art ) ขององค์การ UNESCO

เมืองสร้างสรรค์ (Creative City) หมายถึง เมืองที่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจและสังคมของเมืองนั้นๆ และต้องประกอบการด้วยรากฐานที่มั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรม มีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นของคนทำงานสร้างสรรค์ และมีสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุนเพราะความยั่งยืนของสถานที่ในเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งเมืองดังกล่าวมีการพัฒนางานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ที่ขยายจากภาคอุตสาหกรรม เข้าสู่การบริการที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ จนเป็นที่ยอมรับว่า เป็นเมืองที่อาศัยวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุผลที่เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เนื่องด้วยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนามาเป็นเวลายาวนานกว่า 700 ปี จึงมีความเพียรพยายามของทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชนพยายามที่จะผลักดันเพื่อเสนอให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมือง “มรดกโลก” ของ UNESCO
แต่ในขณะเดียวกันเมืองเชียงใหม่ก็ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านอีกด้วย ข้อมูลเบื้องต้นจากการศึกษาในพื้นที่ของเมืองเชียงใหม่และอำเภอต่างๆโดยรอบ รวม 8 อำเภอ ของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบแหล่งงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านสำคัญๆ เป็นจำนวนมากถึง 87 แหล่ง ซึ่งประกอบด้วยงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านประเภทต่างๆ ได้แก่ งานเครื่องเขิน งานเครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา งานหล่อและบุดุนโลหะ งานทอผ้า งานแกะสลักและผลิตภัณฑ์จากไม้ งานจักสาน และงานศิลปะกระดาษต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่รวมแหล่งผลิตเล็กๆน้อยๆ และโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนร้านค้าที่เกี่ยวกับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านอีกนับร้อยแห่ง ที่แสดงให้เห็นว่าเมืองเชียงใหม่ มีเศรษฐกิจมูลค่าสูงเกี่ยวข้องกับธุรกิจการผลิตและสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเป็นอันมาก ดังรายละเอียดส่วนหนึ่งที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดและคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำมาจัดแสดงนิทรรศการ ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไป

ดังนั้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับเมือง(City) ตรงตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของ UNESCO ที่จะเป็นองค์กรที่สามารถเสนอให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ต่อ UNESCO ได้ ได้ตระหนักเห็นศักยภาพและความสำคัญของเมืองเชียงใหม่ในด้านดังกล่าวนี้ จึงมีเป้าหมายที่จะยื่นเสนอให้เมืองเชียงใหม่เป็น “เมืองสร้างสรรค์” (Creative City) ในสาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ขององค์การ UNESCO

 

ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นเมืองสร้างสรรค์ครั้งนี้ คือ
1. ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ จะเป็นการดึงดูดการลงทุน สร้างงาน เพิ่มรายได้ และยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการขยายขอบเขตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การท่องเที่ยวและการบริการ และยังเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ เช่น การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างระบบทางการเงิน
2. ประโยชน์ในเชิงสังคม จะก่อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น มีการจัดตั้งเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์ เกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาของสังคมที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อสร้างมูลค่า และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์
3. ประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพของเมือง ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงภูมิทัศน์ และส่งเสริมแผนบริหารจัดการสภาพแวดล้อมของเมือง
นอกจากนี้เมื่อเมืองเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative City) ซึ่งจะทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO ซึ่ง UNESCO จะส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ที่จะนำไปสู่รูปแบบใหม่ของความร่วมมือในระดับนานาชาติ ทั้งในส่วนของภาคประชาชน เอกชน สาธารณะ และประชาคมขึ้น จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงสร้างความเป็นไปได้ในการสร้างรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยว (Creating New Tourism Opportunities) ที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเข้าใจ รับรู้มีประสบการณ์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของเมืองนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในลักษณะทางวัฒนธรรมของเมืองที่ตนไปเยือน

อนึ่งปัจจุบันเมืองต่างๆ ในโลก ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Creative City of Crafts and Folk Art ) ได้แก่ เมืองอัสวาน ประเทศอียิปต์ เมืองคานาซาวา ประเทศญี่ปุ่น เมืองซานเตเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมืองอินซอน ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น

 

โดยได้เปิดงานแถลงข่าว โครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ขององค์การ UNESCO สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านโดย นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ณ ลานหอประวัติศาสตร์ เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 สิ่งหาคม 2557 ที่ผ่านมา

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: รศ. ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์  ๐๘๑-๗๘๓-๘๘๙๔  หรือ

นางสาวอรกัญญา อินทวงศ์ ๐๙๕-๖๗๕-๑๓๑๔

โทรสาร ๐๕๓-๒๑๑-๗๒๔, ๐๕๓-๙๔-๔๘๔๙ หรือ woralun@gmail.com หรือ

chiangmaiccfa@gmail.com

 

โครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่เป็นเครือข่าย

เมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของ UNESCO

(สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน : Craft and Folk Art)

 

หลักการและเหตุผล

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสรรค์โดยการส่งเสริมการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ควบคู่กับพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ ตามแนวทางเครือข่ายวิสาหกิจเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและบุคคลกรในการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ พัฒนาระบบการเงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมการจดทะเบียน การใช้และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สนับสนุนการศึกษาวิจัยในประเดนที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่มีคุณภาพ และทันสมัย เพื่อสร้างบรรยากาศ และสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ อาทิ การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ พื้นที่สาธารณะรูปแบบต่างๆ การจัดกิจกรรม และงานแสดงสินค้าและบริการสร้างสรรค์สาขาต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการผลิต การค้า และ การบริการของธุรกิจ สร้างสรรค์ของภูมิภาคอาเซียน (Creative Hub of ASEAN)

รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของเมืองสร้างสรรค์ และกำหนดนโยบายการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ เป็นนโยบายหรือภายใต้พันธสัญญาการขับเคลื่อน นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นและเสริมสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อสร้างสรรค์ยังเป็นแนวทางสำคัญภายใต้กรอบแนวคิดในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าบริการ

เมืองเชียงใหม่เชียงใหม่มีความเจริญในด้านวัฒนธรรม ศิลปกรรม ศาสนา ประเพณี และวรรณกรรมที่สืบทอดมาจากอดีตจนปัจจุบัน อันถือว่าเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญหากมีการนำด้านคิดสร้างสรรค์มาผนวกกับทุนทางสังคมดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานคุณภาพการผลิตบนฐานความคิดสร้างสรรค์ที่มีความได้เปรียบทางปัญญาและวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลายในท้องถิ่น ให้ผสมผสานกับเทคโนโลยีเหมาะสมสร้างกระบวนการจัดการทรัพย์สินทางวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืน และมีอยู่แล้วเสียใหม่ (Repacking Culture) โดยใส่ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) ในกระบวนการผลิต จะทำให้เกิดการสร้างคุณค่า และมูลค่า (Value Creation) ที่ทำให้สร้างสรรค์เศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ให้ตอบสนองต่อตลาดโลกในปัจจุบันได้ ซึ่งจากศักยภาพในด้านต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ดังกล่าวข้างต้นทำให้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกระทรวงพาณิชย์ในด้านหัตถกรรมสร้างสรรค์ และได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เข้าร่วมการคัดเลือก เป็นเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของ UNESCO โดยมุ่งการพัฒนางานหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ และการผลิตสินค้าในท้องถิ่นให้มีศักยภาพ โดยใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ อันจะเป็นโอกาสสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นกับสินค้าและบริการของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต

ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการจัดการศึกษารวบรวม และจัดทำข้อมูลเมืองเชียงใหม่เพื่อสมัครเข้าร่วมการประเมินเป็นเครือข่ายสมาชิกเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของ UNESCO โดยการดำเนินการปรากฏว่ายังไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของ UNESCO ได้เพราะยังขาดข้อมูล และผลดำเนินงานทางด้านที่เกี่ยวข้องตามกฎเกณฑ์มาตรฐานที่ UNESCO กำหนดไว้

ดังนั้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดให้มีภารกิจหน้าที่การส่งเสริมจารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ได้ตระหนักเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่บรรลุเป้าหมาย การเป็นเครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของ UNESCO ให้ประสบความสำเร็จตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) จึงได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นเครือข่ายสมาชิกเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของ UNESCO (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน : City of  Crafts And Folk Art) ขึ้น

 

วัตถุประสงค์

  1. ศึกษาสำรวจข้อมูล วิเคราะห์ จัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมจังหวัดเชียงใหม่สมัครเป็นเครือข่ายสมาชิกเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ของ UNESCO สาขาหัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art)
  2. จัดทำแผนการดำเนินงาน (Road Map) การขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ให้เป็น “ศูนย์กลางหัตถกรรมสร้างสรรค์ระดับโลก” ตามเกณฑ์ UNESCO
  3. เพื่อขับเคลื่อนแผนงานเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ (Road Map) ซึ่งมีความพร้อมเพื่อผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์

 

เป้าหมาย

จังหวัดเชียงใหม่สามารถจัดทำและขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์และสามารถสมัครเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกจาก UNESCO ได้ในระยะต่อไป

 

ระยะเวลาดำเนินการ

ตั้งแต่เดือน เมษายน 2557 – ธันวาคม 2557

CNX NEWS รายงาน