วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

AEC and MICT Smart Thailand

10 ก.พ. 2013
563
Spread the love

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับ บริษัท ไบรอัน เคฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดการสัมมนา “AEC and MICT Smart Thailand” 

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับ บริษัท ไบรอัน เคฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดการสัมมนา “AEC and MICT Smart Thailand” ภายใต้โครงการสัมมนาเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นและเผยแพร่ความรู้ต่อข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยในกรอบอาเซียน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 ณ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้สนใจเข้าร่วมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนประมาณ 150 คน โดยในการสัมมนาครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ต่อจากการสัมมนาที่จังหวัดขอนแก่นและชลบุรี โดยครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

การสัมมนาในครั้งนี้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยในกรอบอาเซียน และประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในสาขาบริการคอมพิวเตอร์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง และบริการโทรคมนาคม โดย ดร. รัชดา เจียสกุล และ ดร. กรวิกา พิมุขมนัสกิจ จากบริษัท ไบรอัน เคฟ (ประเทศไทย) จำกัด และดร. ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “การเปิดตลาดการค้าบริการสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยในกรอบอาเซียน: ประเทศไทยพร้อมหรือไม่” โดย นางสาวทศวรรณ เสมอวงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานความร่วมมือพหุภาคี สำนักกิจการระหว่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นางเมทินี ศิริสวัสดิ์ ผู้อำนวยการส่วนสาขาธุรกิจบริการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ ดร. ณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และดำเนินการเสวนาโดย ศ.ดร. จตุรนต์ ถิระวัฒน์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะการเปิดตลาดการค้าบริการสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทย ให้แก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ทั้งนี้ ในส่วนของเนื้อหาสำคัญของการบรรยาย สามารถสรุปได้ว่า การค้าบริการ หมายถึง การให้บริการที่สามารถเกิดขึ้นได้ 4 รูปแบบ (Mode of Supply) ได้แก่

Mode 1 การบริการข้ามพรมแดน (Cross-border Supply) เป็นการให้บริการจากพรมแดนของประเทศสมาชิกหนึ่งไปสู่พรมแดนของประเทศสมาชิก อื่นที่เป็นลูกค้า โดยผู้ให้บริการไม่ต้องปรากฏตัวอยู่ในพรมแดนของประเทศลูกค้า

Mode 2 การบริโภคในต่างประเทศ (Consumption Abroad) การให้บริการเกิดขึ้นในพรมแดนของประเทศผู้ให้บริการ โดยอาศัยการเคลื่อนย้ายของผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ

Mode 3 การจัดตั้งธุรกิจเพื่อให้บริการ (Commercial Presence) เป็นการเข้าไปลงทุนตั้งนิติบุคคลประเภทต่างๆ เพื่อให้บริการในประเทศลูกค้า เช่น การจัดตั้งสาขา ตัวแทน หรือบริษัท เป็นต้น

Mode 4 การให้บริการโดยบุคคลธรรมดา (Presence of Natural Persons) เป็นการเข้าไปทำงานประกอบอาชีพหรือวิชาชีพในสาขาบริการด้านต่างๆ เป็นการชั่วคราว ในประเทศลูกค้า

ทั้งนี้ ในส่วนของ Mode 1 และ 2 ไม่ค่อยมีข้อจำกัดในระหว่างอาเซียนด้วยกัน ส่วน Mode 3 และ 4 จะมีความแตกต่างกันไปในระหว่างสาขาย่อย ซึ่งจะมีการทยอยเปิดเสรีเพิ่มมากขึ้นจนถึงปี 2558 ทั้งนี้ บทบาทของเทคโนโลยี ICT จะมีส่วนอย่างมากในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกของการค้าสินค้าและบริการระหว่างภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะมีผลให้รูปแบบและวิธีการทำธุรกรรมทางการค้าเปลี่ยนแปลงไป ในส่วนของการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะช่วยให้มีการกระตุ้นให้ภาครัฐมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎระเบียบ ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้ดูแลสาขาบริการโทรคมนาคม บริการคอมพิวเตอร์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ถือว่าเป็นหนึ่งในสาขาเร่งรัดการรวมกลุ่ม โดยทางกระทรวงฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านนโยบายรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ กรอบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย (พ.ศ. 2554-2563 นโยบาย) หรือ ICT 2020 แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556 และนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ ยังได้เตรียมความพร้อมของหน่วยงานกำกับดูแล ได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) โดยมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมและการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของสำนักงาน กสทช. เพื่อเตรียมความพร้อมภายในสำนักงานฯ  และจัดทำเว็บไซด์  http://asean.nbtc.go.th รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับการดำเนินโครงการศึกษา เรื่องการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและศึกษาผลกระทบเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558 ในส่วนความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องการเข้าถึงตลาด รวมถึงการสนับสนุนการค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยอาจให้หน่วยงาน SIPA ช่วยเข้ามาดูแลเพิ่มขึ้น

การดำเนินการสัมมนาในครั้งนี้ นับว่าเป็นการดีที่ภาครัฐได้เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ โครงการนี้มีแผนการจัดสัมมนา “AEC and MICT Smart Thailand” ทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 2 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 จังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 3 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งที่ 4 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 จังหวัดกรุงเทพฯ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมการสัมมนาเพิ่มเติม โดยดูรายละเอียดและเอกสารประกอบการสัมมนาได้ฟรีที่ www.bryancaveseminar.com

 

สำนักข่าว

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน