วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

82 ปี 28 นายกรัฐมนตรีไทย 7 บุคคลผู้ครองเก้าอี้นานกว่า “ยิ่งลักษณ์”

27 เม.ย. 2014
1178
Spread the love

82 ปี 28 นายกรัฐมนตรีไทย 7 บุคคลผู้ครองเก้าอี้นานกว่า “ยิ่งลักษณ์”

วาระ ทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำลังจะถูกตัดสิน-พิพากษา ในเดือน พ.ค.นี้ เป็นการตัดสินผ่านบัญชีคดีความในมือองค์กรอิสระ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะนำไปสู่การกำหนดชะตากรรมนายกรัฐมนตรีคนที่ 28

อย่างไรก็ตาม กว่า 989 วัน บนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ 134 วัน บนเก้าอี้รักษาการ ทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ติดอันดับ 8 ใน 10 ของนายกรัฐมนตรีไทย ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด

โดยนับตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน กว่า 82 ปี ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 28 คน และมีบุคคลสำคัญครองตำแหน่งยาวนานกว่าเธอ ดังนี้

 

1.จอมพลแปลก พิบูลสงคราม หรือ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” เป็นนายกรัฐมนตรี 8 สมัย รวมระยะเวลากว่า 4,625 วัน
ดำรงตำแหน่งครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ต่อจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ด้วยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น

นโยบายที่สำคัญของ “จอมพล ป.” คือการมุ่งมั่นพัฒนาประเทศให้มีความทัดเทียมนานาประเทศ ปลุกความรู้สึกรักชาติของคนไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” รวมถึงการประกาศสำนักนายกฯ ว่าด้วย “รัฐนิยม” ทิ้งวาทะเด็ด “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” กระทั่งหลายสิ่งกลายเป็นกฎหมาย และวัฒนธรรมของชาติในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม “จอมพล ป.” ที่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการทางทหารที่มีบทบาททางการเมืองสูง แต่วาระสุดท้ายบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เขากลับถูกกระทำการรัฐประหารโดยผู้บัญชาการทหารบกที่เขาแต่งตั้งขึ้น ชื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

2.จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี 4 สมัย ที่ดำรงตำแหน่งนานถึง 3,889 วัน

เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2501 และบริหารงานได้เพียง 9 เดือน ก็ต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้จอมพลสฤษดิ์ ผู้กุมอำนาจตัวจริง เข้าสู่อำนาจแทน

กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอมจึงสืบทอดแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลถนอม เป็นอีกหนึ่งยุคของไทย ที่ถูกมองว่าใช้อำนาจทางการทหารเข้าแทรกแซงการเมือง กระทั่งเกิดแผนก่อการ “รัฐประหารตัวเอง” ก็ยิ่งทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

การพ้นตำแหน่งเกิดจากรัฐบาลสั่งใช้อาวุธเข้าปราบปรามนักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญในยุค14 ต.ค. 2516 เป็นเหตุให้ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และการกลับเข้าประเทศในปี 2519 ด้วยการบวชเป็นสามเณร ก็เป็นเหตุให้นักศึกษา ประชาชนออกมาประท้วงขับไล่ จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ในที่สุด

3.พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 เข้ารับตำแหน่งสืบต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2523 และเป็นการดำรงตำแหน่ง 3 สมัยติดต่อกันซึ่งทั้ง 3 สมัย พลเอกเปรมไม่เคยอยู่จนครบวาระ แต่ทว่าเกิดจากการยุบสภา เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ในหลายเหตุการณ์ด้วยกัน

โดยการยุบสภาครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นภายหลังที่รัฐบาลไม่สามารถผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้สำเร็จ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เป็นพรรคร่วม เกิดปัญหาขึ้นภายใน จนทำให้เสียงโหวตในสภาไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็มีกระแสคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 แม้พรรคชาติไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะเชื้อเชิญให้พลเอกเปรมกลับเข้าสู่ตำแหน่ง แต่เขาปฏิเสธด้วยประโยคสั้น ๆ แต่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองว่า “ผมพอแล้ว” จึงทำให้วาระบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงในวันที่ 4 ส.ค. 2531

4.นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย รวมระยะเวลา 2,211 วัน

เขาก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 และสิ้นสุดตำแหน่งด้วยการยุบสภา ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ตำแหน่งได้อีกครั้ง หลังจากที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งจากพิษฟองสบู่แตก ปี 2540

อย่างไรก็ตาม “รัฐบาลชวน 2” ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกแง่มุมหนึ่ง ถึงการไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐบาลถูกจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ โดยมีเสียงสนับสนุนในสภา 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าเสียงสนับสนุนฝั่งรัฐบาล 1 เสียง ที่ต้องการให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 เป็นผลให้เกิดตำนาน “งูเห่าภาคแรก”

โดย ส.ส.พรรคประชากรไทยได้แหกมติพรรคไปสนับสนุนฝ่ายค้านให้นายชวนได้เป็นนายกฯ

5.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 2 สมัยซ้อน รวมระยะเวลา 2,048 วัน

เป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ต่อจาก “รัฐบาลชวน 2” ด้วยการนำเสนอนโยบายประชานิยม อาทิ ปลดหนี้เกษตรกร รักษาทุกโรค ทำให้พรรคไทยรักไทยเอาชนะเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้สำเร็จ และทำให้ “รัฐบาลทักษิณ” บริหารงานจนครบวาระ 4 ปี

และในยุค “รัฐบาลทักษิณ 2” เขาก็ได้รับคะแนนเลือกตั้งถึง 375 เสียงในสภา แต่เป็นรัฐบาลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการคอร์รัปชั่น และเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง นำมาสู่การชุมนุมขับไล่จากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและลงเอยด้วยการถูกก่อการรัฐประหารในวันที่19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือเป็นอันสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทันที

6.พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี 5 สมัย รวมระยะเวลา 2,004 วันซึ่งการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เกิดขึ้นโดยการทำรัฐประหารพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ

นอกจากนั้น เขายังเป็นหัวหน้าคณะราษฎร นำคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนได้รับฉายาว่า “เชษฐบุรุษประชาธิปไตย” อีกด้วย

7.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเพียง 1 สมัย แต่กินเวลานานกว่า 1,763 วัน การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลสฤษดิ์ เกิดขึ้นหลังจากโค่นอำนาจ “จอมพล ป.” ได้สำเร็จในปี 2500 และมอบหมายให้นายพจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้งดังกล่าว ทำให้ “จอมพลถนอม กิตติขจร” เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก

ทว่าการเมืองในรัฐสภาไม่สงบ เนื่องจากบรรดา ส.ส.เรียกร้องเอาผลประโยชน์ ถึงขั้นขู่ว่าจะถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล ส่งผลให้ “จอมพลถนอม” ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

และเป็นเวลาเดียวกันกับที่จอมพลสฤษดิ์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ จึงได้ทำการยึดอำนาจตัวเองอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศในเวลาต่อมา

เครดิตข่าว

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1398402927