วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

3 อธิบดีกรมภาษี “หน้ามืด” รายได้วูบ

13 พ.ค. 2014
257
Spread the love

3 อธิบดีกรมภาษี “หน้ามืด” รายได้วูบ เร่งมาตรการอุดรูรั่ว-ต้อนเข้าระบบ

จากกรอบเป้าหมายจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 (ต.ค. 56-ก.ย. 57) เดิมตั้งไว้ที่ 2.275 ล้านล้านบาท ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญปัจจัยลบต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองได้ส่งผ่านผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรก (ต.ค. 56-มี.ค. 57) ที่ต่ำกว่าประมาณการไป 20,828 ล้านบาท หรือ 2.2% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.3%

ขณะที่ในส่วนของ 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการไปมากถึง 59,672 ล้านบาท หรือ 5.8% แถมแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังปีงบประมาณ (เม.ย.-ก.ย. 57) รายได้จะยิ่งลดลงไปอีกมากกว่า 100,000-150,000 ล้านบาท ซึ่งแม้การเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าหมาย จะสามารถชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยการกู้เงินจนเต็มเพดาน 250,000 ล้านบาท และสามารถดึงเงินคงคลังที่มีหลายแสนล้านบาทมาช่วย “อุด” แต่ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ จะกระทบไปถึงการจัดทำงบประมาณปี 2558 รวมถึงปีถัด ๆ ไป เพราะต้องใช้ฐานรายได้ของปีนี้ไปคำนวณ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลต้องเรียกประชุมและสั่งการให้ทั้ง3กรมภาษีเร่งดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บอุดช่องโหว่-ช่องว่างไม่ให้เกิดการรั่วไหล ซึ่งแต่ละกรมก็ต้อง “งัด” มาตรการต่าง ๆ ที่ยังพอทำได้ขึ้นมาทำ เพื่อ “ลดช่องว่าง” การขาดดุลให้เหลือน้อยที่สุด ภายใต้เงื่อนไขที่ยังไม่สามารถปรับขึ้นภาษีได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน



                        ราฆพ ศรีศุภอรรถ            สุทธิชัย สังขมณี           สมชาย พูลสวัสดิ์

ศุลกากรโอดนำเข้าสินค้าทุนหด-บาทอ่อนฉุดรายได้

นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า รายได้ของกรมศุลกากรที่จัดเก็บได้ลดลงเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าฟุ่มเฟือยที่ชะลอตัวอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าที่มีอากรสูงอย่างรถยนต์ และอะไหล่ยานยนต์ สาเหตุหนึ่งเกิดจากการลงทุนภายในประเทศหลายโครงการที่สะดุดลง ทั้งโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท โครงการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รวมถึงความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมืองยังกระทบต่อการใช้จ่ายงบฯลงทุนภายใต้งบประมาณปี 2557

เดิมคาดว่าจีดีพีจะโต 4.5-5% มูลค่านำเข้าจะเพิ่มอีกราว 15% ในรูปดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อโครงการเหล่านี้ล้มเลิกไป ทำไม่ได้ ก็ทำให้มีผลในทางตรงข้าม ทำให้การนำเข้านอกจากจะไม่ได้ 15% แล้ว ยังลดลงเพราะเหตุความไม่สงบอีก 7-8% เท่ากับว่าตอนนี้การนำเข้าลดลงไปแล้วมากกว่า 25% ซึ่งกรมศุลฯเก็บรายได้จากฐานการนำเข้า จึงเป็นสาเหตุหลักที่ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามประมาณการ”

2.ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งที่ผ่านมาอ่อนค่าลงมาก และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไปอีกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยกตัวอย่าง กรณีรถยนต์ สมมติราคารถอยู่ที่ 1 แสนดอลลาร์ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าไป 2 บาท ทำให้ราคารถที่ต้องแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มอีก 2 แสนบาท แล้วเมื่อเสียภาษีอีก 324% เท่ากับว่าผู้นำเข้าจะต้องเสียเพิ่มอีกคันละ 6-7 แสนบาท

“พอสถานการณ์เงินบาทเป็นอย่างนี้ ทำให้เขาชะลอการนำเข้า หรือนำเข้ามาแล้วก็จะนำรถเข้าไปเก็บในคลังทัณฑ์บน หรือเขตปลอดอากร ชะลอการเสียภาษี รายได้ศุลกากรก็หายไป”

ตั้งทีมประกบผู้นำเข้า 50 รายใหญ่/เคลียร์คดีค้าง

สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ นายราฆพกล่าวว่า เนื่องจากกรมศุลกากรไม่สามารถขยายฐานภาษีได้เพราะต้องเก็บตามธุรกรรมการนำเข้า ดังนั้น เพื่อให้การเก็บภาษีทำได้ใกล้เคียงประมาณการ หรือเสียหายน้อยที่สุด มีทางเดียวที่ทำได้คือ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ซึ่งจะดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ 1.เร่งเคลียร์คดีพิพาททางภาษีอากรที่ค้างอยู่มากกว่า 100 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าภาษีนับหมื่นล้านบาท เช่น คดีบริษัทโตโยต้าฯ คดีบริษัทแอมเวย์ เป็นต้น 2.เร่งจำหน่ายของกลางที่ยึดไว้มูลค่าหลายร้อยล้านบาท โดย 2 ส่วนนี้คาดว่าจะทำให้มีรายได้กลับมาประมาณ 5,000 ล้านบาท และ 3.ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าในลักษณะฉ้อฉล เช่น สำแดงราคาต่ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อประสานกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีการนำเข้าส่งออกสูง โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอำนวยความสะดวกใกล้ชิด เพื่อให้การเสียภาษีเป็นไปอย่างถูกต้อง และจะส่งผลดีกับในระยะยาวด้วย

“รายใหญ่มีเยอะ แต่ช่วงแรกจะเน้นสัก 50 รายก่อน ที่มีมูลค่านำเข้าส่งออกเป็นแสนล้านบาทขึ้นไป”

กรมจะพยายามจัดเก็บรายได้ให้ต่ำกว่าประมาณการน้อยที่สุดซึ่งหลังจากกรมมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพดังกล่าวแล้วมั่นใจว่าปีนี้ไม่น่าจะต่ำเป้าเกินกว่า20,000ล้านบาท จากปัจจุบันจัดเก็บต่ำเป้าประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะจัดเก็บได้ราว 110,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมกว่า 131,800 ล้านบาท

นายราฆพกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติเริ่มพิจารณาเหมือนกันว่า สถานการณ์ในเมืองไทยเป็นแบบนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว ประเทศอื่นอาจจะน่าลงทุนกว่า ก็จะมีผลไปในระยะยาวเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่ 1-2 ปีถ้าประเทศไทยยังไม่แก้ปัญหาให้ได้ อย่างเวลานี้บริษัทรถยนต์ที่ไปลงทุนที่อินโดนีเซียช่วยให้การส่งออกเขาขยายตัว 30% แต่ของไทยติดลบ 13.6% มันทำให้เห็นภาพว่าเราต้องมองไปให้ไกลกว่านั้น”

สรรพสามิตเข้มตรวจสินค้าเลี่ยงภาษี

ขณะที่ นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้การบริโภคลดลง ผู้ผลิตสินค้าก็ลดกำลังการผลิต ทำให้กระทบต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตค่อนข้างมาก โดย 7 เดือนแรกจัดเก็บภาษีได้แล้ว 2.37 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือ 5.98% ส่วนใหญ่เป็นภาษีรถยนต์ที่หายไปกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท หรือ 23.57% รองลงมาภาษียาสูบหายไป 5,070 ล้านบาท ขณะที่ภาษีเบียร์และสุรายังเกินเป้าหมายอยู่ ทั้งปีน่าจะต่ำเป้าหมายไปไม่เกิน 5% แต่หวังว่าใน 1-2 เดือนข้างหน้า น่าจะมีภาษีรถยนต์เข้ามาจากยอดจองในงานมอเตอร์โชว์ 4 หมื่นคัน ทำให้ภาษีรถยนต์น่าจะดีขึ้นจากที่ลดมาตลอดทุกเดือน โดยเฉพาะเดือน เม.ย.ที่หายไปกว่า 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ กรมได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเร่งรัดการจัดเก็บภาษี เพื่อตรวจสอบทุกพื้นที่ที่มีผู้เสียภาษีอยู่ ให้เจ้าหน้าที่ทำงานให้เต็มประสิทธิภาพ อย่าให้มีรั่วไหล ขณะเดียวกัน ก็ให้เข้มงวดด้านการป้องกันและปราบปรามสินค้าที่หลบเลี่ยงภาษี โดยนำระบบไอทีเข้ามาช่วย อย่างเช่น การจัดซื้อรถโมบายแล็บเพิ่มอีก 3 คันในปีนี้จากที่มีอยู่แล้ว 3 คัน สำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำมันและสุราที่อาจจะมีการลักลอบตามแนวชายแดน

สรรพากรลุยบี้บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับกรมสรรพากรที่ฐานภาษีใหญ่ที่สุดและได้รับผลกระทบในแง่เม็ดเงินมากที่สุดเพราะคาดว่ารายได้ทั้งปีจะต่ำกว่าเป้าหมายไปราว110,000ล้านบาท นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมจะดำเนินการ “เชิงรุก” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในช่วง 6 เดือนหลังอย่างเต็มที่ใน 2 ด้านหลักคือ การเข้มงวดการตรวจสอบภาษีบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่เป็นนิติบุคคล และเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่ออุดช่องโหว่ “การถ่ายเทกำไร” ระหว่างนิติบุคคลกับผู้ถือหุ้น และผู้บริหาร โดยจะนำร่องในส่วนกลาง อาทิ กลุ่มธุรกิจย่านสำเพ็ง วรจักร และวัดตึก เป็นต้น ก่อนขยายไปสู่ภูมิภาค

อีกด้านก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านไอทีเชื่อมโยงข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฯ ข้อมูลทะเบียนราษฎรกับกระทรวงมหาดไทย และข้อมูลผู้ถือครองที่ดินกับกรมที่ดิน เพื่อดึงคนที่มีรายได้แต่ยังไม่เคยเสียภาษีเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น

สิ่งที่ดำเนินการนี้ ทางกรมสรรพากรต้องการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่อยู่ในระบบและเสียภาษีอย่างถูกต้อง รวมถึงป้องกันการเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดเก็บภาษี ซึ่งทางกรมสรรพากรมีข้อมูลทางการเงินอยู่แล้ว เป็นข้อมูลทางอ้อมที่ได้รับจากธนาคาร

 

 

ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1399952958

 

ำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน