วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

24 มิถุนา รำลึก “80 ปี วันปฏิวัติสยาม”

22 มิ.ย. 2013
450
Spread the love

24 มิถุนา รำลึก  “80 ปี วันปฏิวัติสยาม”  

 

ใกล้รุ่ง วันที่ 24 มิ.ย.ของทุกๆ ปี เวลาห้านาฬิกา  บริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า จะมีประชาชนจากกลุ่มต่างๆ ลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)  กลุ่มประกายไฟการละคร กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล  กลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน  (CCP.) กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพาและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้นเดินทางมาร่วมรำลึก 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

ย้อนไปเมื่อ 80 ปีที่เเล้ว ในวันที่ 24 มิ.ย. พ.ศ.2475 ได้เกิดการปฏิวัติสยามหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่มีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบจากระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในเวลาต่อมา

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกันขึ้นเป็นพรรคการ เมืองพรรคแรกของสยาม ที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ภายใต้การนำของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และบุคคลสำคัญที่เป็นแกนนำ คือ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช, พ.อ.พระยาฤทธิอาคเนย์, พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม), พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ยึดอำนาจการปกครอง โดยอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ และประกาศใช้ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ขึ้น

 

สาเหตุที่ทำให้การปฏิวัติครั้งนี้สำเร็จลุล่วง มีดังนี้ 1.สาเหตุทางเศรษฐกิจ โดยเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน เศรษฐกิจภายในประเทศทรุดหนัก 2.สาเหตุทางการเมือง โดยสามัญชนที่รับราชการมีความรู้สึกว่ารัชกาลที่ 7 ส่งเสริมให้พวกราชวงศ์หรือพวกเจ้าหน้าที่รับราชการผูกขาดอำนาจทางการเมือง และทรงตั้งอภิรัฐสภาที่มีพระราชวงศ์เป็นสมาชิก โดยมีอำนาจอิทธิพลเหนือกว่าเสนาบดีสภา 3.สาเหตุทางสังคม ที่พวกเจ้ามีสิทธิต่างๆ เกินกว่าสามัญชน

 

นอกจากนี้ หลายประเทศทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ อันเป็นแรงกระตุ้นให้แกนนำกลุ่มผู้ก่อการมีกำลังใจที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ คณะราษฎรได้ประกาศหลักการสำคัญในประเทศดังนี้ 1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายของประเทศไว้ให้มั่นคง 2.จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้มาก 3.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน 5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ และ 6.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

จากนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้จัดทำเค้าโครงเศรษฐกิจขึ้น โดยมีสาระสำคัญคือ 1.ให้สิทธิประชาชนมีโอกาสเป็นข้าราชการทุกคน 2.รัฐดำเนินการปฏิรูปที่ดินโดยบังคับซื้อที่ดินมาเป็นของรัฐหรือสหกรณ์ และดำเนินการเกษตรกรรมเอง ทำให้ผลผลิตเป็นของรัฐหรือสหกรณ์ (เป็นการสนับสนุนส่งเสริมระบบสหกรณ์ให้สามารถควบคุมราคาขายได้) 3.รัฐดำเนินการในเรื่องธนาคาร การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการอุตสาหกรรมเอง เพื่อตัดพ่อค้าคนกลางหรือนายทุนที่แสวงหากำไรออกไปก่อนจะสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475

การเรียกร้อง 24 มิถุนายน ในฐานะของวันชาติกลับคืนมา เราต้องถือกันว่า การทำลายวันชาติ 24 มิถุนายนนั้น เป็นดอกผลของเผด็จการ เพราะมีผู้ที่อยากจะให้ลบวันนี้ออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย  ถ้ารื้อฟื้น 24 มิถุนายนได้ ประเทศไทยก็จะได้มีวันชาติเช่นเดียวกับประเทศอื่นเสียที

 

ธนวรรธน์  จรณชัยวัจน์

ทีมข่าว CNXNEWS รายงาน