วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

“ใครได้ ใครเสีย” กับ โครงการรับจำนำข้าว ภายใต้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

Spread the love

“ใครได้ ใครเสีย” กับ โครงการรับจำนำข้าว ภายใต้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

 

โครงการ การจำนำข้าวของรัฐบาล นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจสวนทางกับความเป็นจริง ส่งผลให้รัฐบาลส่งออกข้าวได้ยากและขาดทุนมหาศาลแม้ก่อนน้านี้ผู้ส่งออกจะออกมายืนยันตัวเลขว่าไทยจะส่งออกข้าวได้น้อยลงและเสียแชมป์ส่งออกข้าวของโลก แต่รัฐบาลยังคงยืนยันว่าในปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 9 ล้าน 5 แสนตัน แม้ครึ่งปีแรกจะส่งออกได้น้อยลงถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

 

ทางออกประการเดียวที่จะช่วยให้ไทยส่งออกข้าวได้ในครึ่งปีหลัง คือยุติโครงการรับจำนำข้าว และขายข้าวที่รัฐบาลมีอยู่หรือในสต็อก โดยราคาตลาด แต่ไม่ได้รับประกันว่า เมื่อยกเลิกโครงการรับจำนำแล้วไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้า เพราะผู้ซื้อจีนและอินโดนีเซียมีผลผลิตค่อนข้างดีในปีนี้ และรัฐบาลยังตัดสินใจต่ออายุโครงการรับจำนำข้าวออกไปอีก 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งจะทำให้มีข้าวในสต็อกมีจำนวนมหาศาล

ขณะนี้ไทยมีข้าวอยู่ในสต็อกเกือบเท่ากับปริมาณ 10ล้าน5แสนตัน เทียบเท่ากับปริมาณที่ไทยได้ส่งออกทั้งหมดเมื่อปี 2554

ประเด็นการใช้เงินอุดหนุนของรัฐบาล ในบทความชี้นี้วิจารณ์ว่าเป็นการใช้เงินมหาศาล เพราะปัจจุบันรัฐบาลจ่ายเงินรับจำนำข้าวเปลือกแก่ชาวนาสูงกว่าราคาตลาดกว่าร้อยละ 37 ขณะที่อินเดียกับเวียดนามขายข้าวเกรดต่ำกว่าไทยเล็กน้อย แต่ราคาต่างกันเกือบ ร้อยละ 40

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า เรื่องจำนำข้าวเห็นมาตั้งแต่อดีตแล้วว่ามันเกิดปัญหาขายไม่ออก ข้าวสต็อกไว้เสียหาย ขายรัฐก็ขาดทุนหลายหมื่นล้าน ขนาดก่อนหน้านี้เปิดรับจำนำจำกัดยังเสียหายมหาศาล แต่คราวนี้รับจำนำทุกเมล็ด ราคาก็เกินราคาตลาด ถ้าเกิดความเสียหายครั้งนี้ไม่เหลือ พังหมดทั้งระบบ แล้วสุดท้ายจะส่งผลไปที่เกษตรกรรายย่อย เดือดร้อนกันหมด วันนี้เกษตรกรดีใจได้ราคาดีแต่อย่าลืมอีกไม่นานจะต้องเสียใจอย่างมาก

ตนสนับสนุนถ้าจำนำจำกัดเฉพาะรายย่อย แต่ไม่ใช่ทำแบบไม่ดูอะไรเลย กลายเป็นไปช่วยชาวนาขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่านักธุรกิจเกษตร แล้วทุกวันนี้พวกรายใหญ่ได้เงินก่อน ชาวนาจริงๆได้ที่หลังพอชาวนาบางกลุ่มโวยรัฐก็ส่งคนไปจ่ายเงินอุดปากเสียงจริงๆก็มาไม่ถึง

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า โดยพฤติการณ์แล้วที่รัฐทำอยู่ไม่ใช่จำนำ แต่เป็นการซื้อ ครม.ทั้งคณะ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปลัด อธิบดี กำลังดำเนินการจัดซื้อข้าวอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเดี๋ยวตนจะไปดำเนินการตรวจสอบให้เห็นว่าไม่ใช่จำนำแต่เป็นซื้อ แล้วถ้าเป็นการซื้อมีปัญหาแน่นอน หากซื้อจากเกษตรกรรายย่อยอาจไม่เป็นไร แต่ถ้าซื้อจากรายใหญ่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะโดน เพราะเป็นการดำเนินการจัดซื้อโดยผิดกฎหมาย ตนต้องทำเพราะต้องการกดดันทุกวิถีทางให้รัฐไปช่วยเกษตรกรรายย่อยจริงๆ

เท่าที่ดูตอนนี้ฟันธงได้เลยว่าใช่ ตอนนี้ทุกคนระวังตัวพยายามเตะลูกยาวๆรอให้ตัวเองเกษียณก่อน แต่มาคราวนี้ไม่ได้ พวกท่านเปิดศึกใหญ่ เล่นรับจำนำทุกเมล็ด ทำนิติกรรมอำพรางใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีมูลค่าถึง 4 แสนล้าน เท่ากับว่าท่านซื้อของ 4 แสนล้าน โดยไม่ผ่านกระบวนการอะไรเลย” นายไพบูลย์ระบุ

รศ.สมพรกล่าวขยายความการจำนำข้าวปัจจุบันต่างจากอดีตว่า เมื่อก่อนเป็นโครงการเล็กๆ ใน ธ.ก.ส. เริ่มเมื่อปี 2516 พอปี 2529 รัฐค่อยรับมาเป็นโครงการหลัก แต่ราคารับจำนำแค่ 81 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าซื้อขายขณะนั้น เพราะต้องการช่วยเกษตรกรที่ขัดสนเงินให้มีเงินหมุนเวียนในฤดูเก็บเกี่ยว และลดจำนวนข้าวให้เข้าสู่ตลาดไม่มากเกินไป พอหลังฤดูเก็บเกี่ยวราคาข้าวสูงขึ้น เกษตรกรก็ไถ่ถอนไปขายได้ราคาที่สูงขึ้นมา

ระยะหลังเริ่มเป็นโครงการมีการเมืองแทรกแซงสูงขึ้น ก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนรับจำนำและวงเงิน เคยเพิ่มถึง 9 ล้านตัน ตอนนั้นมีข้าวในสต็อกเยอะเลย เพราะรัฐยกราคาสูงกว่าตลาด ชาวนาจึงไม่มาไถ่ถอน แล้วพอมารัฐบาลชุดนี้รับจำนำทุกเม็ดไม่จำกัดจำนวน ตนถึงบอกว่าเป็นเรื่องหายนะ ก่อนหน้านี้ข้าวอยู่ในมือรัฐ 1ใน 3 แต่ตอนนี้มาอยู่ในมือรัฐทั้งหมด ตอนนี้ตนคำนวณคร่าวๆทั้งนาปี-นาปรัง ใกล้จะ 19 ล้านตันข้าวเปลือกแล้ว ทอนเป็นข้าวสารก็อยู่ที่ 12 ล้านตัน ซึ่งมโหฬารมาก

รศ.สมพรกล่าวต่อว่า วิธีแบบนี้เราไม่เรียกว่าจำนำ แต่รัฐเป็นเจ้ามือรายใหญ่ในการรับซื้อ เป็นผู้ผูกขาดในตลาดข้าวเปลือก ปัญหาในอดีตพอยกราคาจำนำสูงขึ้นกว่าราคาตลาด ตลาดกลางที่เคยทำงานในชนบทที่ช่วยในแง่ของการกระจายข้าว คัดเกรดให้ราคาตามคุณภาพข้าว เป็นอำนาจต่อรองระหว่างโรงสีกับเกษตรกรอย่างดี มันพังหมดเลย ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากถ้าทำกลไกตลาดเสีย

เป็นการทำลายตลาดข้าวเปลือก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะรัฐเป็นผู้ซื้อ 2 ใน 3 ของปริมาณผลผลิตข้าวทั้งหมด ยกเว้นรายเล็กๆ ที่ไม่สามารถเข้าโครงการได้เพราะอยู่ห่างไกลก็ขายผ่านช่องทางอื่น อันนี้ก็ทำให้มีข้าวส่งออกจำนวนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ไทยส่งได้แค่ 4.4-4.5 ล้านตันเท่านั้น จากที่เคยส่งที่ 8 ล้านตันภายใน9เดือนที่ผ่านมาเราลดลงไปถึง 45เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการส่งออก

รศ.สมพรกล่าวด้วยว่า เรามีข้อมูลว่ามีคนเข้าโครงการรับจำนำข้าว 1.2 ล้านครัวเรือน ในขณะที่มีรายชื่อเกษตรกรทำนาทั้งหมด 3.7 ล้านครัวเรือน นั่นก็คือ 1 ใน 3 เท่านั้นเองที่ได้ประโยชน์ แล้ว 1.2 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตชลประทาน ทำนา 2 ครั้ง แต่คนที่อยู่ตามภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่ปลูกข้าวรายเล็กๆ ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการ คนที่ได้ประโยชน์คืออยู่ในเขตชลประทานและทำนาขนาดใหญ่ ดูง่ายๆนาปรังมีข้าวประมาณ 12 ล้านตัน แต่ตอนนี้มีเข้ามาสู่ระบบจำนำ 16-17 ล้านตันคำถามคือมันมาจากไหนอันนี้ต้องเข้ามาดูให้มันโปร่งใสมากกว่านี้

ถ้าเราจำนำในราคาที่สูง ตลาดสินค้าล่วงหน้าเป็นไปไม่ได้เลย ตลาดกลางก็หายไปแล้ว ตลาดสินค้าส่งออกก็กระทบเพราะตอนนี้รัฐไม่ใช่ผูกขาดเฉพาะข้าวเปลือกแต่เป็นผู้ผูกขาดตลาดข้าวสารส่งออกรายใหญ่ของประเทศ เวลาสีข้าวเปลือกก็เก็บอยู่ในมือของรัฐ ฉะนั้นแล้วเราถึงสูญเสียการส่งออก ซึ่งเท่ากับเราสูญเสียตลาด เวียดนาม อินเดีย กลับได้ประโยชน์จากโครงการนี้ ยกตัวอย่าง มีนักธุรกิจไทยส่งออกข้าวนึ่งไปแอฟริกา แต่เพราะจำนำทำให้ส่งออกไม่ได้เพราะไม่มีข้าว โอกาสก็หายไป ถูกประเทศอื่นเข้ามาเป็นผู้ส่งออกหลักแทน แล้วเมื่อส่งออกไม่ได้ สต็อกข้าวเกิน 20 ล้านตันขึ้นไป ชาวนาต้องร้องไห้เพราะไม่รู้เอาข้าวไปทิ้งไว้ที่ไหน

อีกอย่างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนกำลังจะหายไป เพราะโรงสีชุมชนเล็กๆซื้อข้าวแข่งกับรัฐไม่ได้ เพราะรัฐซื้อ 15,000 บาท เขาก็ไม่สามารถซื้อข้าว 15,000 บาทมาสีได้ ก็ต้องหยุดกิจการ รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมกลไกการค้าเสรี แต่ทำไมไปจำกัดคนกลุ่มหนึ่งให้ได้ประโยชน์ แต่กลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์ ซึ่งแน่นอนรายใหญ่ที่ได้ประโยชน์ ทำกลไกลตลาดล่มสลายหมดแล้ว

 

สำนักข่าว

Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน