วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ไม่ต้องตกอกตกใจ…สถานการณ์แรงงานไทยยังไม่มีอะไรน่าห่วง

Spread the love

scoop2

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

ไม่ต้องตกอกตกใจ…สถานการณ์แรงงานไทยยังไม่มีอะไรน่าห่วง

ท่านผู้อ่านครับ มีข่าวว่า  อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจบ้านเราที่ไม่สู้จะดีนักในขณะนี้ ประกอบกับมีข่าวการเลิกจ้างการปลคคนงานแล้วเป็นจำนวนมาก สถานการณ์นี้จะหนักหน่าสาหัสประการใด เรามีคำตอบครับ

                       ข่าวบอกว่า ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวถึงสถานการณ์การจ้างงานและการปลดพนักงานเลิกจ้างในขณะนี้ว่า สถานการณ์ภาวะการมีงานทำโดยรวมยังไม่น่าเป็นห่วงนัก

ท่านแจงรายละเอียดว่า คาดการณ์อัตราการว่างงาน 1 – 1.7 %ในปีนี้ โดยเดือนพฤษภาคมอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2 % หรือมีผู้ไม่มีงานทำแต่พร้อมที่จะทำงานจำนวน 4.53 แสนคน แต่มีสัญญาณการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ปีนี้ในระดับสูงมากกว่า 25 % ขณะนี้ผู้ว่างงานที่จบการศึกษาใหม่และไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานอยู่ที่ประมาณ 1.82 แสนคนโดยผู้สำเร็จระดับอุดมศึกษาว่างงานมากสุด 9.5 หมื่นคน นักศึกษาจบใหม่กลุ่มนี้หากไม่เลือกงานและยอมทำงานต่ำกว่าคุณวุฒิตัวเองจะยังสามารถหางานได้อยู่ในขณะนี้ เพราะไทยยังขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมซึ่งต้องให้แรงงานต่างด้าวมาทำงานแทน หากสถานการณ์การว่างงานไม่ดีขึ้นในอนาคต รัฐบาลอาจต้องจำกัดจำนวนการนำเข้าแรงงานบางประเภทจากประเทศเพื่อนบ้านในระยะต่อไปเพื่อรักษาตำแหน่งงานให้คนไทยก่อน

ดร.อนุสรณ์ ยังคาดการณ์อีกว่า อาจมีการทยอยปิดงานเลิกจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์, สิ่งทอ, ธุรกิจโฆษณา, สิ่งพิมพ์และธุรกิจทีวีดิจิตอล ,อุตสาหกรรมน้ำมันของบรรษัทข้ามชาติในไทย, ธุรกิจสถาบันการเงินระหว่างประเทศในไทย รวมทั้งกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน การเลิกจ้างจะเกิดขึ้นมากในบริษัทเหมาช่วงของธุรกิจอุตสาหกรรมเหล่านี้ ขณะที่จะมีการขยายตัวของการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป, อุตสาหกรรมก่อสร้าง, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, อุตสาหกรรมการแพทย์, ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่เป็นต้น

ผู้ว่างงานบางส่วนที่มีทักษะตรงหรือสอดคล้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีขยายตัวจะสามารถกลับไปมีงานทำได้ในเวลาไม่นานนัก ปัญหาการเลิกจ้างจึงยังไม่ใช่วิกฤติในระยะสั้นแต่อย่างใด แต่ต้องจับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า Tesla ขณะที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทขนาดใหญ่ 17 แห่ง ซึ่งยังคงใช้เทคโนโลยีเดิม มีบริษัทผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ขนาดใหญ่ 390 แห่ง และบริษัทผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก 1,250 แห่ง หากการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าขยายตัวมาก ๆ บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดิมก็หมดความจำเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 750,000 ตำแหน่ง ร้อยละ 40-50 ของตำแหน่งงานเหล่านี้เป็นพนักงานเหมาช่วงหรือซับคอนแทรค

ผู้ใช้แรงงานที่น่าเป็นห่วงคือผู้ที่มีทักษะไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เติบโตอยู่ในขณะนี้ แต่คนกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลจากระบบประกันการว่างงานช่วงเวลาหนึ่ง และต้องไปฝึกอบรมเรียนรู้ในการเปลี่ยนทักษะการทำงานให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน กลุ่มที่น่าเห็นใจมากที่สุดคือ บรรดาแรงงานทักษะต่ำและเป็นแรงงานนอกระบบทั้งหลายที่อยู่ภายใต้ระบบการทำงานในบริษัทเหมาช่วง จะได้รับผลกระทบจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากที่สุด แม้นระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการลดต้นทุนระยะสั้น มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ ภาวะการผลิตและยอดขาย ปัญหาในระบบการผลิตแบบเหมาช่วงเป็นปัญหาในระดับสากล เรื่องความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับผู้ประกอบการในระบบการผลิตแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการเองก็แสวงหาวิธีในการลดต้นทุนการผลิต การผลิตที่มีความยืดหยุ่นตามภาวะเศรษฐกิจ จึงเลือกที่จะส่งออกงานในบางลักษณะให้บริษัทเหมาช่วงรับไปทำเพื่อให้มีการจ้างงานแบบยืดหยุ่น

ขณะที่ คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานที่เพิ่มมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมานั้น ยังไม่น่ากังวล โดยอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาจาก 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรงงานภาคการเกษตรที่เกิดสภาวะภัยแล้ง และกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้าง ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนภาคอุตสาหกรรมทยอยพื้นตัวดีขึ้น

ก็สรุปได้ว่า ยังพอไปได้ ยังไหว ทำนองนั้นครับ

 

ขอขอบคุณที่มาของรายงาน  : Thaiquote

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ