วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

ไม่ง้อแรงงานพม่าจองหองพองขนเตรียมนำเข้าเวียดนามเสียบแทน

Spread the love

scoop2

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

ไม่ง้อแรงงานพม่าจองหองพองขนเตรียมนำเข้าเวียดนามเสียบแทน

                      เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าท่านติดตามข่าวการบ้านการเมือง จะพบข่าวที่ นางอองซาน ซูจี ผู้นำการเมืองของพม่า มาเยือนประเทศไทย และก็มีข่าวที่คนไทยไม่ค่อยจะปลื้ม เกี่ยวกับแรงงานพม่าคือพวกเขาเรียกร้องขอสิทธิพิเศษหลายเรื่อง หลังจากนั้นก็มีความคิดแตกแยกกันไปหลายทิศทาง บ้างก็ว่า อย่าไปสนใจข้อเรียกร้องของแรงงานพม่า ในขณะที่อีกฝ่ายว่า เราต้องง้อแรงงานพม่า หากไม่ง้อ ธุรกิจในชาติจะเสียหาย เนื่องจากแรงงานไทยไม่สนใจงานระดับไม่มีฝีมือ ถ้าพม่ากลับบ้านหมดเราจะทำอย่างไร

               ท่านผู้อ่านครับมีรายงานข่าว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายบน 2559 ที่ผ่านมาว่ามีการจัดการสัมมนาเรื่อง การนำเข้าแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานในประเทศไทย จัดโดยสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.59

ต่อมามีรายงานเพิ่มเติมว่า คุณสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างนายจ้างไทยกับแรงงานเวียดนาม เพื่อให้เข้าใจกระบวนการจัดหางานและจ้างแรงงาน และสร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถจัดการด้านแรงงานได้ตามมาตรฐานสากล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศไทยในฐานะนายจ้าง โดยทำตามข้อตกลงร่วมระหว่างไทยกับเวียดนาม

คุณสุเมธ กล่าวว่า “การที่จะได้แรงงานต่างด้าวที่มีคุณภาพมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น กระบวนการนำเข้าและจ้างงานต้องตามถูกกฎหมาย สภาพการทำงาน สิทธิและสวัสดิการถูกต้องตามกฎหมาย เหล่านี้ คือนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและเพิ่มการเข้าถึงบริการของรัฐ เพื่อสร้างโอกาสในอาชีพและการมีรายได้ที่สมเหตุสมผลกับคนงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นไทยหรือแรงงานต่างชาติ การทำเช่นนี้ ถือเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นรูปธรรมด้วย”

คุณสุเมธ กล่าวด้วยว่า การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ต้องเน้นการบริหารจัดการ การกำหนดมาตรฐานการจ้าง การป้องกันการลักลอบทำงาน การบังคับใช้กฎหมาย การปรับระบบฐานข้อมูล การประชาสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวทำงานถูกกฎหมาย พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้นายจ้าง และแรงงานเข้าถึงการบริการได้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส มีมาตรฐานสากล ตรวจสอบได้ และทั่วถึง

ทางด้าน คุณอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีปัญหาแรงงานเวียดนามลักลอบเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งแรงงานที่เข้ามานั้น ส่วนหนึ่งก็ไม่สามารถทำงานได้ เพราะผิดกฎหมายแรงงาน ดังนั้น ควรมีการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างไทยกับเวียดนาม เพื่อให้ทราบว่า นายจ้างต้องการแรงงานประเภทใด อันจะทำให้สามารถหาแรงงานได้ตรงตามความต้องการ หากทำข้อตกลงร่วมกันได้ ก็ถือเป็นโครงการนำร่องการนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายตามหลักการสากล ความจริง คือแรงงานเวียดนาม ไม่ต้องการเข้ามาทำงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือนหรืออาคารสูงในไทย เพราะในเวียดนามมีงานด้านนี้รองรับอยู่แล้ว นายจ้างไทยคาดหวังว่า จะมีแรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานด้านประมง ซึ่งทางเราก็ต้องฝึกอบรมให้เขาก่อนลงมือทำงาน และเจรจาเรื่องผลประโยชน์และค่าตอบแทนให้ชัดเจน คาดว่าในเดือนกันยายนนี้น่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับคุณ เอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะสมาชิกองค์การนายจ้างระหว่างประเทศ และตัวแทนภาคีฝ่ายนายจ้างของประเทศไทย ที่ทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) การที่ไทยกับเวียดนามมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องแรงงานโดยเฉพาะในสาขาประมง และก่อสร้างถือเป็นเรื่องดี แต่ข้อตกลงร่วมนี้ เพิ่งจะเริ่มขึ้น ซึ่งในขั้นการปฏิบัติจริง อาจจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในไทยได้ทั้งหมด จึงอยากขอรับการสนับสนุนจาก ILO และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของนายจ้าง นอกจากนี้ เราจะนำประเด็นความต้องการแท้จริงของทั้งฝ่ายนายจ้าง และแรงงานมาพิจารณาให้ถี่ถ้วน และต้องดูด้วยว่า กฎหมายไทยอนุญาตให้แรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานอื่นๆ นอกเหนือจากประมงกับก่อสร้างได้อีกหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงในประเทศไทย มีแรงงานเวียดนามจำนวนมาก เข้ามาทำงานในภาคบริการ ดังนั้น จึงต้องทำเรื่องนี้ให้ถูกต้องเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย อันจะทำให้แรงงานไม่ถูกเอาเปรียบ ส่วนผู้ประกอบการ ก็ได้คนงานที่เหมาะสม เราต้องยอมรับว่า แรงงานเวียดนามที่มีทักษะนั้นมีมาก ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี

ในขณะที่ คุณแม๊กซ์ ทูนอน (Max Tunon) ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวน่าฟัง ว่า การนำเข้าแรงงานต่างชาติในไทย โดยเฉพาะจากพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในไทยในขณะนี้ แต่ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่า ในความเป็นจริงไทยต้องการแรงงานจำนวนเท่าไร และต้องการแรงงานในสาขาใดบ้าง อย่าลืมว่า จำนวนแรงงาน คือปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวพัฒนานโยบายแรงงานที่ถูกต้องของในแต่ภาคส่วน การลงนามข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทยกับเวียดนามเพื่อทำกรอบการนำเข้าแรงงานทำให้เกิดเวทีการหารือร่วมระหว่างคนที่เกี่ยวข้อง เช่น นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ทั้งนี้ ILO เห็นว่า การที่สภาองค์การนายจ้างเข้ามาให้ความสนใจกับเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยให้มีกรอบที่ชัดขึ้น และมีข้อมูลที่แม่นยำ อันจะทำให้เกิดผลดีในการภาคปฏิบัติ การหารือทำให้ทุกฝ่ายได้คุยกัน ได้รู้ถึงความต้องการของนายจ้างและแรงงาน และรู้ด้วยว่าแรงงานเข้ามาโดยถูกหรือผิดกฎหมาย

          คุณแม๊กซ์ เสนอว่า ไทยควรจะทำนโยบายทำค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานเป็นศูนย์ (Zero Fee) เรื่องนี้ค่อนข้างท้าทายมาก แต่ภายใต้อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศพบว่า มีกว่า 32 ประเทศได้ลงสัตยาบันในเรื่องนี้แล้ว เช่น ประเทศซาอุดีอารเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต และอีกหลาย ๆ ประเทศ เรื่องนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมมือกันเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับแรงงาน ขอเสนอให้ไทยริเริ่มในเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาค อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสัตว์ทะเล และอุตสาหกรรมอีเลกทรอนิกส์ ถ้าหากอุตสากรรมเหล่านี้ทำได้สำเร็จ แรงงานก็จะไหลไปสู่ตลาดอุตสาหกรรมนี้โดยอัตโนมัติ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการสัมมนา แม้จะยังไม่เป็นรุปธรรม แต่ก็ถือว่า ไทย ไม่นิ่งดูดายในเรื่องแรงงานพม่า การนำเข้าแรงงานทดแทนแรงงานพม่าสามารถทำได้อย่างกว้างขวาง นอกจากเวียดนาม แล้วยังมีกัมพูชา เป็นตัวเลือกด้วย และที่ไม่อาจจะมองข้าม คือ ชาวโรฮิงยา หรือ โรฮีนจา ถ้าเราคิดจะนำมาทดแทนแรงงานพม่าก็ควรจะศึกษาปัญหาต่างๆให้รัดกุมเสียแต่เนิ่นๆเพราะมองแล้วน่าสนใจมากที่เดียวว่าจะสามารถมาทดแทนแรงงานพม่าได้ดีกว่า เวียดนาม กัมพูชา เสียอีก.

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากแนวหน้าออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

 CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ