วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ไฟเขียว…ร้านทุกอย่าง 20 บาท-แต่ 8 ประเภทต้องได้มาตรฐาน

Spread the love

scoop21

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

ไฟเขียว…ร้านทุกอย่าง 20 บาท-แต่ 8 ประเภทต้องได้มาตรฐาน

 

             ท่านผู้อ่านครับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าร้านทุกอย่าง 20 บาท กลายเป็นทางเลือกของผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้น้อย แต่แล้วเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อมีผู้ซื้อร้องต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และต่อมากระแสข่าวการสั่งปิดร้าน 20 บาทก็แพร่หลายออกมาแต่จะเป็นอย่างไรเรามาติดตามสถานการณ์กันต่อไป

           ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า ร้านค้าต่างๆก็พยายามหาช่องทางใหม่ๆในการค้าขาย เพื่อให้สอดรับกับสังคมในยุคนี้มากขึ้น ร้านขายสินค้าทุกอย่าง 20 บาทของไทย เป็นการนำไอเดียมาจากร้าน 100 เยน และร้านไดโซะ ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะ ร้านไดโซะ ขายของทุกอย่างราคา 60บาท เข้ามาเปิดร้านในไทยนานกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนร้าน 20บาท ของไทยก็เปิดมานานแล้วเช่นกัน ขายของทุกอย่างราคา 20 บาท คุณภาพก็พอประมาณแต่ก็จัดว่า พอใช้ได้ สำหรับครอบครัวคนชั้นกลางกับชั้นล่าง เว้นแต่บางอย่างที่อาจจะเป็นอันตรายเรื่องนี้ ผู้บริโภคจะตัดสินใจได้เองระยะหลังมีข่าวว่าร้าน 20บาท จะต้องถูกปิด เพราะขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ ไม่มี มอก.

เรื่องนี้ คุณพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือ สมอ.ออกมาแก้ข่าวว่า ทาง สมอ.ไม่ได้มีมาตรการสั่งปิดร้าน 20 บาทแน่นอน แต่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาว่าสินค้าบางอย่างไม่ได้มาตรฐาน ทาง สมอ.ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบคุณภาพสินค้าตามหน้าที่

โดยกลุ่มที่ร้องเรียนมี 2 กลุ่มคือ ร้องเรียนเรื่องคุณภาพสินค้า และอีกกลุ่มร้องเรียนเรื่อง เครื่องหมาย มอก. ทำให้ สมอ. ต้องเรียกผู้ค้าส่ง และเจ้าของแฟรนไชส์ มาขอความร่วมมือ รวมถึงแฟรนไชส์ดังจากญี่ปุ่นอย่าง ไดโซะ ที่ขายทุกอย่าง 60 บาทด้วย เพื่อให้ควบคุมสินค้าบางชนิดที่เป็นสินค้าบังคับต้องมีเครื่องหมาย มอก. สินค้า 8 ประเภทที่ต้องมี มอก. คือ ผงซักฟอก, ไม้ขีดไฟ,ของเล่น, ไฟแช็คก๊าซ,หัวนมยางดูดเล่น, ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร, แอลกฮอล์แข็งสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงและสีเทียน โดยสินค้าที่ มอก.มาตรวจ และพบว่า ไม่ได้มาตรฐานมากที่สุดจะเป็นกลุ่มของเล่นเด็ก

ท่านเลขาธิการ สมอ. บอกว่า สินค้า 8 ประเภทที่จะต้องได้รับมาตรฐาน ส่วนใหญ่จะพบในร้านเหล่านี้ที่เน้นปริมาณความหลากหลายของสินค้า ทำให้อาจจะมองข้ามคุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าบางชนิดไป

ได้รับทราบจากเจ้าของร้านว่า ที่มาของสินค้าที่นำมาขายในร้านทุกอย่าง 20 บาทนั้น ส่วนใหญ่ลงเรือมาจากจีน มีสินค้าหมุนเวียนกว่า 5000-10,000 รายการ จากนั้นจะมีร้านค้ารายย่อยมารับซื้อ ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 15-17 บาทหรือถ้าเหมาโหลจะอยู่ที่ 180 บาท นั่นหมายความว่าสินค้าต่อชิ้นคนขายได้กำไร 3-5 บาท

นอกจากร้านพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อไปขายเองแล้ว ธุรกิจนี้ยังมีการขายในรูปแบบ แฟรนไชส์ ด้วย ซึ่งตามข้อมูลของ สมอ. พบว่า เจ้าของแฟรนไชส์ 1 ราย จะมีเครือข่ายสาขาประมาณ 500 สาขาทั่วประเทศ โดยมีค่าสมัครแฟรนไชส์ อยู่ที่ 3-5 หมื่นบาท เงินลงทุน 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท จะได้ สินค้า ติดตั้งป้าย รูปแบบร้านและอุปกรณ์การขายให้ทั้งหมด  เจ้าของร้านยังบอกด้วยว่า สาเหตุที่ร้าน 20 บาท เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่แคร์คุณภาพมากนักเน้นที่สามารถใช้งานได้ มีราคาถูกกว่าในห้าง ก็ซื้อแล้ว

         ต้องยอมรับนะครับว่าในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาแบบนี้การซื้อของในราคาถูกก็เป็นทางหนึ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

       สรุปว่า ร้านทุกอย่าง 20 บาท ก็ขายได้ต่อไป แต่สินค้าจำนวน 8 รายการ ที่กฎหมายระบุว่าจะต้องมีคุณภาพ ได้รับมาตรฐาน มอก.ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หากเจ้าของร้าน ฝ่าฝืนนำมาวางขาย เจ้าหน้าที่ตรวจพบ ก็จะมีความผิดนะครับ ส่วนประชาชน หากว่าสินค้จำนวน 8 รายการ ยังมีวางจำหน่าย ดดยไม่มี มอก.ก็ไม่ควรซื้อไปใช้นะครับ อย่าลืม นอกนั้น ทุกอย่างเหมือนเดิมครับ.

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน.เรียบเรียง/รายงาน