วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

ไขปัญหาออกรถใหม่ต้องมีที่จอด ต้องโชว์สเตทเม้นท์

30 มี.ค. 2015
222
Spread the love

ไขปัญหาออกรถใหม่ต้องมีที่จอด ต้องโชว์สเตทเม้นท์

งานนี้ พลเมืองดี ปลอดภัย ..ขอบอก..

car

          สัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวแพร่ไปทางสังคมออนไลน์และวิพากษ์วิจารณ์กันไปเหมือนไฟลามทุ่งเกียวกับมาตรการใหม่ของกรมการขนส่งทางบก ที่ว่า หลังจากวันที่23 มีนาคม 2558 ใครจะจดทะเบียนรถใหม่ต้องโชว์เอกสารหลายอย่างให้นายทะเบียน เช่น ต้องโชว์หลักฐานการเสียภาษีอากร   ต้องโชว์ฐานะการเงิน ต้องโชว์ที่จอดรถ ว่าถ้าผมซื้อรถคันนี้แล้วจะเอาไปจอดที่ไหน ฯลฯ

            ทำยังกับเมืองจีน เมืองญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ที่เขามีมาตรการแบบนี้มาก่อนแล้ว เพราะมันเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ และเมืองจีนมีคนมาก รถมาก ผู้คนส่วนใหญ่อยู่อพาร์ทเม้นห้องแคบๆตึกสูงๆหลายสิบชั้น คนเต็มตึกแต่ที่จอดรถน้อย  ญี่ปุ่น สิงคโปร์รถมาก ถนน คับแคบ พื้นที่ไม่มาก มาตรการจำกัดตัดตอนเจ้าของรถจึงเกิดขึ้น

           เรื่องนี้ มันคืออะไรกัน มีที่มาที่ไปอย่างไร เมืองไทย จะเอากะเขาด้วยหรือยังไง

            หน้าที่ของเรา ชาวสกู๊ปข่าว CNX จึงมอบหน้าที่ให้ผม ไปหาข่าว แล้วมาเขียน

              ตามผมมาเลยครับ

-ข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 23  มี.ค. 58   คุณสุชาติ กลิ่นสุวรรณ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงกระแสข่าวกรณีรถที่จะจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.รถยนต์ จะต้องแสดงฐานะทางการเงิน และสถานที่จอดรถไม่น้อยกว่า 35 ตารางเมตรต่อ 1 คัน ถึงจะยื่นจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลได้ว่า   การแก้ไขการจดทะเบียน พ.ร.บ.รถยนต์ 2558 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 58 นั้น จะไม่กระทบต่อการจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถเก๋ง รถบรรทุกส่วนบุคคล รถปิกอัพ โดยประชาชนยังคงดำเนินการได้เช่นเดิมตามที่เคยปฏิบัติ

               แต่ รถยนต์นั่งและรถบรรทุก มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่และไม่ได้มีไว้เพื่อการประกอบการขนส่ง   หากจะจดทะเบียนเป็นรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่ราชการกำหนด โดยผู้ขอต้องสามารถพิสูจน์ให้ได้ว่าจะใช้รถดังกล่าวเพื่อการส่วนตัวโดยแท้จริง  ต้องแนบหลักฐานเพิ่มเติม ได้แก่ หลักฐานการแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาย้อนหลัง 2 ปี หลักฐานแสดงฐานะการเงินที่มั่นคงและมีความจำเป็นต้องใช้รถขนาดใหญ่เพื่อการส่วนตัวจริง   ภาพถ่ายตัวรถพร้อมรายละเอียด ขนาด สัดส่วนและขนาดของรถจากบริษัทผู้ผลิต

              ขยายความเพิ่มเติม รถประเภทนี้ คือ รถนั่งขนาดไม่เกิน7 หรือ 10 หรือ12 หรือกะบะบรรทุกที่ใหญ่กว่าปิคอัพทั่วไปหรือรถตู้

              นอกจากนี้จะต้องแสดงหลักฐานแสดงที่จอดรถ ได้แก่ ภาพถ่ายสถานที่จอดรถ มีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 35 ตารางเมตร แผนที่แสดงที่จอดรถและหนังสือรับรองการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามที่ทางราชการกำหนด โดยเจ้าหน้าที่จะออกตรวจสถานที่จอดรถและหลักฐานต่าง ๆ ตามที่กำหนด เพื่อป้องกันการนำรถขนาดใหญ่ เช่น รถบัส รถ 10 ล้อ มาขอจดทะเบียนเป็นรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ แล้วนำไปใช้ประกอบการขนส่งผิดกฎหมาย

ขณะที่ในส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคล มีน้ำหนักตั้งแต่ 1,600-2,200 กิโลกรัม ซึ่งเป็นรถที่ใช้ส่วนบุคคลไม่ได้ใช้เพื่อการประกอบการขนส่ง สามารถยื่นขอจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.รถยนต์ เหมือนเดิม

ฟังจากที่ท่านรองอธิบดีพูด ก็ยังไม่เข้าใจ ยังงงกันอยู่ ขอขยายความเพิ่มครับ

มีรายงาน ความคืบหน้าล่าสุดว่า ผู้สื่อข่าว สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สำนักมาตรฐานงานทะเบียนและภาษีรถ กรมการขนส่งทางบก ได้รับคำชี้แจงว่า

1)การแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวเกิดจาก พ.ร.บ.ขนส่งฉบับเดิม มีปัญหาเรื่องคำจำกัดความน้ำหนักรถกระบะและรถบรรทุก ซึ่งแต่เดิมกำหนดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันรถกระบะส่วนใหญ่มีน้ำหนักเกินกว่า 1,600 กิโลกรัมและออกแบบมาให้นุ่มนวลน่านั่งสามารถใช้แทนรถเก๋งได้ จึงมีคนนิยมซื้อมาใช้ส่วนบุคคลแทนเก๋ง  จึงแก้ไขให้เป็นรถที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม  ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ รถเอนกประสงค์ สามารถจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้ทันที

                   2)กฎหมายฉบับนี้จะช่วยป้องกันรถกระบะขนาดใหญ่และรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในธุรกิจขนส่งสินค้ารับจ้างขนส่งบุคคลไม่ประจำทา รวมไปถึงรถตู้ไม่ประจำทาง ที่ลักลอบรับจ้างโดยไม่ใช่รถป้ายเหลือง ให้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ลดการเอาเปรียบผู้อื่น

                  เราจะเห็นได้ทั่วไป กรณีรถตู้ไม่ประจำทาง ไม่ใช่ป้ายเหลือง แล้วแอบรับจ้างขนบุคคลไปตามสถานที่ต่างๆ ทำเป็นธุรกิจ มีการนำรถไปจอดตามริมทาง ขึ้นป้ายรถรับจ้าง แต่ไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนกับกรมขนส่งฯ

ส่วนกรณีที่ระบุว่าจะต้องนำเอกสารยืนยันว่ามีที่จอดรถมาแนบการขออนุญาตนั้น เพื่อเป็นการยืนยันว่ารถดังกล่าวเอาไว้ใช้ส่วนตัว เพราะตามปกติคนจะซื้อรถตู้ รถบรรทุก มาใช้เพื่อการส่วนตัว ก็ควรจะมีบริเวณบ้านเพื่อใช้จอดรถด้วย

อธิบายความง่ายๆก็คือ ถ้าท่านจะซื้อเก๋ง ซื้อกระบะตามปกติก็ซื้อกันไป จดทะเบียนกันไปในรูปแบบรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เสียภาษี    ค่า พรบ.ราคาย่อมเยาว์

และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของท่านก็ควรใช้งานตามธรรมชาติคือ ไปทำงาน ไปธุระ ไปเที่ยว รับลูกที่โรงเรียน ส่งเมียไปจ่ายตลาด พาเพื่อนไปร้านอาหาร

แต่สำหรับท่านที่เอารถกระบะที่จดทะเบียนแบบนี้ ไปรับจ้างบรรทุกของ เอารถเก๋งไปทำแท๊กซี่ป้ายดำ ถือว่า ผิด พรบ.ขนส่ง เวลาเจ้าหน้าที่ไปตรวจพบ ท่านก็มีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท

และคนเราสมัยนี้ก็ใช้วิธีนี้คือ ออกรถตู้ป้ายดำ จดทะเบียนเป็นรถส่วนบุคคล บอกว่าจะเอาไปใช้ส่วนบุคคล แต่ไปออกทัวร์ (บางคนออกเป็น10คัน) ออกรถกะบะใหญ่จดทะเบียนบรรทุกบุคคลแล้วเอาไปรับจ้างบรรทุกของซึ่งความจริงถ้ารับจ้างต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะ ภาษีแพงกว่า

จึงเป็นที่มาของมาตรการนี้คือ ถ้าเอาไปทำมาหากินรับจ้างบรรทุก ไปทำทัวร์ไปบรรทุกของก็ต้องไปจดทะเบียนให้ถูกต้อง เสียภาษีแพงหน่อย เพราะเอาไปแสวงหารายได้ จึงต้องมีระเบียบใหม่เพื่อป้องกันพวกที่ชอบตุกติก เลี่ยงบาลี

                                สรุปว่า งานนี้ พลเมืองดี ปลอดภัย

อรุณ  ช้างขวัญยืน/รายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ