วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

ไขข้อข้องใจเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณและโทรศัพท์มือถือ

08 มี.ค. 2016
252
Spread the love

scoop2

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

ไขข้อข้องใจเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณและโทรศัพท์มือถือ

ผมมีเรื่องที่พูดกันมานานเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ นั่นคือปัญหาสุขภาพของสมอง อันเนื่องมาจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ลองไปติดตามรายงานนี้ดูนะครับ

เรื่องนี้ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายในงานเสวนาเรื่อง“ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณ และโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพหรือไม่” ที สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยจัดขึ้นโดยมีคำถามว่าผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือต่อร่างกายมนุษย์มีหรือไม่  เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณ ใกล้เคียงเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือเกิดความวิตกกังวลกลัวว่าหากอาศัยอยู่ใกล้เสาส่งสัญญาณเป็นเวลานานจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย

ท่านเลขาฯกล่าวว่า “ประเด็นเรื่องเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือมีการร้องเรียนเข้ามามาก มีอยู่ครั้งหนึ่งร้องเรียนเข้ามาว่าตั้งแต่มีเสาส่งสัญญาณเข้ามาตั้งบริเวณใกล้บ้านทำให้รู้สึกปวดหัวอยู่บ่อยครั้งจึงเชื่อว่าเกิดจากคลื่นที่ส่งออกมาจากเสาแต่พอเราเข้าไปตรวจสอบพบว่าเสาต้นดังกล่าวยังไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงเสาเหล็กเท่านั้น ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกิดจากความวิตกกังวลมากกว่า จึงอยากให้ประชาชนสบายใจได้”

โดยจากการตรวจวัดค่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐาน จำนวน 40 สถานีในพื้นที่ 5 ภาค พบว่ามีค่าต่ำกว่าขีดจำกัดตามที่มาตรฐานกำหนดไว้มาก เช่น ย่านความถี่คลื่น 900 MHz ความแรงต้องไม่เกิน 41 โวลต์ต่อเมตร ย่านความถี่ 1800 MHz ความแรงต้องไม่เกิน 58 โวลต์ต่อเมตร และย่านความถี่ 2100 MHz ความแรงต้องไม่เกิน 61 โวลต์ต่อเมตร ดังนั้นการแผ่คลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือจึงปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

แต่อีกด้านหนึ่ง  ผศ.ดร.ชาญไชย ไทยเจียม กรรมการสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ชี้แจงว่า หน้าที่หลักของสมาคม คือ การทำความเข้าใจกับประชาชน ให้มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามากขึ้นเนื่องจากยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่วิตกกังวลเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เพราะได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจึงมีความสำคัญ โดยทางสมาคมเชื่อว่าหากประชาชนได้อ่านหนังสือวิจัยที่ชื่อว่า “ความรู้เกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณและโทรศัพท์มือถือมีผลต่อสุขภาพหรือไม่” จะช่วยให้เข้าใจเรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้มากขึ้น

ผศ.ดร.ชาญไชย ไทยเจียม  กล่าวอีกว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากลุ่มชนิดไม่ก่อไอออน (Non-ionizing radiation) ไม่ก่อให้อะตอมมีการแตกตัวเป็นไอออน ได้แก่ ย่านความถี่ใช้งานของโทรศัพท์มือถือและความถี่คลื่นวิทยุกระจายเสียง สัญญาณ Wi-Fi เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เนตแบบไร้สายจัดให้อยู่ในกลุ่มประเภทนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่มีผลกระทบในเชิงความร้อนเท่านั้น

2.คลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากลุ่มชนิดก่อไอออน (Ionizing – radiation) เป็นคลื่นที่ทำให้อะตอมเกิดการแตกตัวเป็นไอออน และมีผลต่อการแยกอนุภาคอิเล็กตรอนออกไปกลายเป็นอนุมูลอิสระได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง เช่น รังสีแกมมา รังสีเอ็กซ์ เป็นต้น

พอสรุปได้ว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือเป็นประเภทที่ 1 คือ ประเภทไม่ก่อไอออน จึงปลอดภัยต่อมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงวางใจได้ระดับหนึ่ง และในปัจจุบันพฤติกรรมของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ก็จะสื่อสารกันทางไลน์ ทางเฟสบุ๊ก เป็นการพิมพ์ข้อความโต้ตอบกัน แทนที่จะแนบหูแล้วพูดกัน เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเราเลี่ยงจากภัยเงียบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปมากกว่าเดิมแล้ว

            ท้ายนี้ก็ขอให้ใช้โทรศัพท์มือถือกันอย่างมีความสุขทุกท่านเลยครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก ไทยโพสท์ ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน /รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ