ใบขับขี่เป็นทรัพย์สิน ตำรวจมีอำนาจยึดหรือไม่

Spread the love

ใบขับขี่เป็นทรัพย์สิน ตำรวจมีอำนาจยึดหรือไม่

ปกติเมื่อทำผิดกฎจราจร ตำรวจจราจรมักยึดใบขับขี่แล้วให้ไปจ่ายค่าปรับที่สถานีตำรวจ แต่ก็มีความเห็นว่า ตำรวจไม่มีอำนาจยึด เพราะใบขับขี่เป็นทรัพย์สิน การยึดใบขับขี่จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากต่อไปตำรวจยึดใบขับขี่ก็ให้แจ้งความกลับว่า ตำรวจลักทรัพย์ เมื่อแรกเห็นความเห็นนี้ ก็น่าสนใจอย่างยิ่งว่า เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ จึงเป็นมูลเหตุให้ดำเนินการค้นคว้าว่า ตำรวจมีอำนาจยึดใบขับขี่หรือไม่

ใบขับขี่เป็นทรัพย์สิน ปกติคนอื่นเอาทรัพย์สินเราไปโดยไม่มีสิทธิ ย่อมเป็นความผิดในฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๔ ได้ ซึ่งวางหลักว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ โดยการเอาไปในที่นี้ต้องเป็นการเอาไปโดยไม่มีสิทธิหรือไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ดังนั้น หากผู้เอาไปซึ่งทรัพย์สินมีสิทธิหรืออำนจตามกฎหมาย ผู้เอาไปยอมไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ เช่น ลูกหนี้ที่แพ้คดีแพ่งในศาล และไม่ยอมชำระเงินตามคำพิพากษา ต่อมาศาลออกคำสั่งยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด แม้ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะยึดทรัพย์ได้ เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ก็จะไปแจ้งความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีลักทรัพย์ก็ไม่ได้

แต่น่าคิดที่ว่า ตำรวจจราจรมีอำนาจในการยึดใบขับขี่หรือไม่ ซึ่งพิจารณาเป็นลำดับได้ดังนี้

ประการแรก ในระบบกฎหมายไทย เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ย่อมเป็นผู้ที่มีอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ในการจำหน่าย จ่าย โอน ทร้พย์สิน รวมถึงทำลายทรัพย์สินนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๑๓๓๖  ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่ง ทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะ ยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย”

ประการที่สอง อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ที่ว่านี้ หากมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น ๆ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๓๖ นั้น ขึ้นต้นด้วยถ้อยคำว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย จำหน่ายทรัพย์สิน ….” ซึ่งหมายความว่า หากมีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กฎหมายนั้น ๆ ย่อมริดรอนสิทธิหรืออำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้

ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นเจ้าของที่มีกรรมสิทธิ์ในดินสอหนึ่งแท่ง วันหนึ่งเราอาจหักดินสอ เช่นนี้ เราก็สามารถทำได้ เพราะเราเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ อีกทั้งไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น แต่ในกรณีที่เราเป็นเจ้าของต้นไม้สักทองที่เราปลูกขึ้นมาเองกับมือบนที่ดิน ที่เราเป็นเจ้าของ เมื่อเราต้องการตัดต้นไม้สักทองที่เราปลูก ตามปกติด้วยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์เราย่อมมีสิทธิตัดได้ โดยไม่ต้องไปขออนุญาตใคร เพราะเราเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ แต่ในกรณีนี้หาทำได้โดยพลการไม่ เพราะมีกฎหมายเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๗ ประกอบมาตรา ๖ และมาตรา ๔  กำหนดไว้ว่า ไม่ว่าไม้สักทองจะขึ้นในที่ดินของบุคคลใด เวลาจะตัดจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หากไม่แจ้งย่อมมีความผิด

ตัวอย่างที่ยกมานี้ เพื่อแสดงว่า กรรมสิทธิ์ของเราที่มีอยู่ อาจมีกฎหมายกำหนดให้คนอื่นมีสิทธิในกรรมสิทธิ์นั้นได้หรือเข้ามาเกี่ยวข้อง กับกรรมสิทธิ์นั้นได้ ทั้งนี้ ต้องอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย

ประการที่สาม ตำรวจจราจรจะมีอำนาจยึดใบขับขี่หรือไม่ จากที่กล่าวมาทั้ง ๒ ประการข้างต้น จะเห็นว่า ใบขับขี่เป็นกรรมสิทธิ์ของเรา คนอื่นจะมายึดมายุ่งโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายไม่ได้

ดังนั้น หากตำรวจจะยึดใบขับขี่ในกรณีที่เราทำผิดกฎจราจรได้ ก็ต้องค้นหาว่าตำรวจอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติใดแห่งกฎหมายที่จะยึดใบขับขี่ ทั้งนี้เพราะหลักกฎหมายทั่วไปมีว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้อำนาจกระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไม่ได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจที่กฎหมายบัญญัติไว้” ซึ่งหากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ตำรวจก็จะยึดใบขับขี่ไม่ได้ หากยึดไปโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจก็อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้

อย่างไรก็ดี เมื่อค้นคว้าตัวบทกฎหมายก็พบว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๑๔๐ เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้นๆ จะว่ากล่าว ตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ก็ให้ติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถที่ผู้ขับขี่เห็น ได้ง่าย

สำหรับความผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๗/๑ มาตรา ๑๕๙ มาตรา ๑๖๐ มาตรา ๑๖๐ ทวิ และมาตรา ๑๖๐ ตรี ห้ามมิให้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำการเปรียบเทียบ

ในการออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้เป็น การชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องออกใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ให้แก่ผู้ขับขี่ไว้ และเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องรีบนำใบอนุญาตขับขี่ที่เรียก เก็บไว้ไปส่งมอบพนักงานสอบสวนภายในแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ออกใบสั่ง

ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ที่ออกให้ตามวรรคสามให้ใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ได้ เป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนได้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำการเปรียบเทียบปรับและผู้ขับขี่ ได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้คืนใบอนุญาตขับขี่ทันที

ในกรณีเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบสั่งแต่ไม่พบตัวผู้ ขับขี่ ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถเป็นผู้กระทำผิดดังกล่าว เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับขี่

การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด

ใบสั่งและใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำตามแบบที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า จากบทบัญญัติของมาตรา ๑๔๐ นี้ ได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานซึ่งหมายถึง ตำรวจจราจรที่จะยึดใบอนุญาตขับขี่ได้เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎจราจร จึงทำให้แม้ผู้เป็นเจ้าของใบขับขี่มีอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๓๖ แต่ตำรวจจราจรก็มีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะที่จะยึดใบขับขี่ได้ เช่นนี้แล้วเมื่อตำรวจจราจรมีอำนาจตามกฎหมายในการยึดใบขี่ การที่ตำรวจจราจรเอาใบขับขี่ของเราไป เราก็จะไปแจ้งความว่าตำรวจมีความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้ เพราะการเอาไปของตำรวจเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์สินโดยมีอำนาจตามกฎหมาย

 

ขอบคุณที่มา http://www.policebd51online.com/licence.html

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน