วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

โอกาสทางธุรกิจกับระบบ Wifi-Mobile บนเครื่องการบินไทย: “กสทช.” ด่านสุดท้ายอนุมัติออนไลน์ลอยฟ้า

03 ส.ค. 2013
555
Spread the love

โอกาสทางธุรกิจกับระบบ Wifi-Mobile บนเครื่องการบินไทย: “กสทช.” ด่านสุดท้ายอนุมัติออนไลน์ลอยฟ้า

 

ในหลักการทำธุรกิจ มีปัจจัยสำคัญอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ การตอบสนองความต้องการ (Demand) ของผู้บริโภคให้ได้สูงสุด และหาก Demand ยังไม่เกิดขึ้น นักธุรกิจ พ่อค้าก็ต้องสร้าง Demand ใหม่ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นเจ้าตลาดรายแรกนั่นกำไรคือความท้าทายและโอกาสที่เหนือกว่าคู่แข่ง

ล่าสุดมีผลสำรวจที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ค้นหาตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก และรถเช่าชั้นนำของโลก Skyscanner เผยผลสำรวจถึงการใช้จ่ายของผู้โดยสารเครื่องบินทั่วโลก พบว่า 47% ของนักท่องเที่ยวในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ระบุชนิดของสื่อบันเทิงที่พวกเขาต้องการมากที่สุดเมื่ออยู่บนเครื่องบินคือ “สัญญาณ WiFi” (Wireless Fidelity)  และที่สหรัฐฯ ผู้โดยสารกว่า 1 ใน 5 ที่ใช้บริการสายการบินต่างๆ มีความต้องการใช้งาน WiFi ระหว่างอยู่บนเครื่องบินมากยิ่งขึ้น โดยผู้โดยสารบางคน ยอมเปลี่ยนเที่ยวบินเพียงเพื่อให้ได้ใช้งาน WiFi โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจที่ไม่สามารถขาดการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตได้

 

สอดคล้องกับผลการสำรวจก่อนหน้านี้เกี่ยวกับอุปนิสัยการใช้ Social Media ของนักท่องเที่ยว ซึ่งหลายคนยังคงต้องการติดต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตทุกวัน ไม่ว่าเวลาใด แม้ขณะเดินทาง ดังนั้นการนั่งเครื่องในเส้นทางนาน ๆ ก็อาจจะเกิดอาการลงแดงอยาก Post เรื่องราวได้ไม่มากก็น้อย  และยิ่งคนทำธุรกิจการค้าแล้วทุกวินาทีมีค่า หากการสื่อสารในระบบอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจสำคัญ สำหรับการดำเนินธุรกิจ การทำธุรกรรม การตัดขาดจากโลกอินเทอร์เน็ต ในช่วงเวลาที่อยู่บนเครื่องบิน อาจส่งผลสู่ความเสียบเปรียบในเชิงธุรกิจก็เป็นได้

แน่นอนที่สายการบินระดับโลกหลายสายการบินใน 1-2 ปีที่ผ่านมา หันมาให้บริการ WiFi ขณะทำการบินมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายการบินเอมิเรตส์ Emirates Airlines ที่ผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินรุ่น A380  ได้ร่วมมือกับ OnAir หน่วยงานชั้นนำทางด้านการให้บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตบนเครื่องบิน  ผู้โดยสารที่พกพาอุปกรณ์การสื่อสารที่สามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณ Wi-Fi ได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท๊ปเล็ต หรือ โน๊ตบุ๊ค ก็สามารถเล่นอินเตอร์เน็ตบนเครื่องบินได้ สำหรับราคาแพจเกจอินเตอร์เน็ตดาต้าจะอยู่ที่ประมาณ  7.50 เหรียญสหรัฐ สามารถใช้ได้ 6 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะติดบนเครื่อง A380 ทั้งฝูง 70 ลำ

 

นอกจากนั้นยังมีสายการบินอื่นๆ ที่เปิดให้บริการแล้วเช่น Lufthansa ของเยอรมันนี Virgin Atlantic Airways ของอังกฤษ สายการบิน Qatar Airways  และ Southwest Airlines ของสหรัฐฯก็ใช้เทคโนโลยีนี้แล้วเช่นกัน

โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ ถือว่าบูมมาก บริษัทผู้ให้บริการ WiFi คือ Gogo (www.gogoair.com) ที่ให้บริการชื่อว่า Gogo in-flight WiFi ก็ได้รับผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2552  Gogo ได้รับผลกำไรทั้งหมด 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปีนี้ 2556 แค่เพียงช่วง 6 เดือนแรกของปี บริษัทได้กำไรไปแล้วทั้งสิ้น 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,400 ล้านบาท

 

ปัจจุบัน Gogo ได้ให้บริการ WiFi บนเครื่องบินพาณิชย์ของสหรัฐฯ กว่า 1,600 ลำ และคาดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การบริการดังกล่าว จะครอบคลุมเครื่องบินพาณิชย์ทุกลำ ที่ทำการบินในเส้นทางภายในประเทศ โดยการให้บริการ WiFi บนเครื่องบินนั้น Gogo จะคิดค่าบริการ และมีค่าใช้บริการ $4.95 สำหรับ 90 นาที และ $9.95 สำหรับ 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งค่าบริการทั้งหมด Gogo จะนำมาแบ่งให้กับสายการบิน

กระทั่งล่าสุดมีบริษัทคู่แข่งของ Gogo คือ Row 44  (www.row44.com) ได้ให้บริการ WiFi แบบ Hybrid บนเครื่องบินผ่านการส่งสัญญาณโดยใช้ดาวเทียม ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้งาน wi-fi ได้แม้ว่าจะบินอยู่บนผืนน้ำ  การขยายบริการ  in-flight WiFi จะใช้เทคโนโลยีล่าสุดที่มีชื่อว่า air-to-ground technology ของ Gogo และ ATG-4 ที่ให้ความเร็วและอัตราการรับส่งข้อมูลที่ดีที่สุด ซึ่งถือว่าเร็วกว่าบริการไวไฟบนเครื่องที่มีอยู่ในปัจจุบัน

หากมองสมรภูมิอุตสาหกรรมการบินที่ใกล้บ้านเรา สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ (Singapore Airlines) ได้ประกาศความร่วมมือกับ ออนแอร์ (OnAir) เปิดให้บริการ WiFi ตั้งแต่ปี 2011  เป็นสายการบินแรกในเอเซียที่ให้บริการการสื่อสารขณะบินชนิดเต็มรูปแบบ บนเครื่องแอร์บัส (Airbus) A380, A340-500 และโบอิ้ง (Boeing) 777-300ER ซึ่งเป็นเครื่องบินข้ามทวีป นอกจากนี้ สิงคโปร์แอร์ไลน์ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกให้ทดลองใช้อินเตอร์เน็ตบนเครื่องบินโบอิ้ง 747-400 มาตั้งแต่ปี 2005   การบริการโทรศัพท์ขณะบินก็จะถูกคิดค่าบริการเป็นแบบ Roaming เรียกเก็บพร้อมกับค่าบริการรายเดือนตามปกติ หากเป็นการใช้อินเตอร์เน็ตขณะบินก็จะต้องซื้อแพ็คเกจการใช้งาน และชำระต่อครั้ง

ล่าสุดคือการเปิดตัวบริการสายการบิน Air China ของจีนได้นำเครื่องซึ่งติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตไร้สายขึ้นทดลองบินเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รวมถึงสายการบิน  Philippine Airlines ที่ได้ติดตั้งในเครื่อง Airbus A330-343 and Boeing B777-300ERs แล้ว

เจาะเทคนิค-ระบบ Inflight Connectivity ทั่วโลก

ก่อนอื่นที่จะเข้าสู่เรื่องว่าสายการบินไทย สายการบินแห่งชาติไทยขยับเรื่องนี้หรือยัง ท่านคงสงสัยว่าการใช้สัญญา Wifi กับโทรศัพท์จะใช้ได้บนเครื่องได้หรือไม่ เพราะได้ยินคำเตือนบนเครื่องทุกครั้งว่าให้โทรศัพท์ขนาดอยู่บนเครื่อง แถมสายตาแอร์โอสเตทก็ดีเสียด้วยมักจะรู้ว่าใครนั่งจิ้มโทรศัพท์หรือกำลังเปิดเครื่องอยู่ ก็มากระสิบใกล้ ๆ ว่าช่วยปิดมือถือด้วยนะคะ

ตรงนี้ต้องให้คำตอบก่อนว่า สัญญาณอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์บนเครื่องจะใช้คลื่นความ 2.1 กิกกะเฮิรตซ์ โดยติดตั้งสถานีฐานปล่อยสัญญาณ WiFi ในตัวเครื่องบิน จะเปิดใช้ได้หลังจาก Take Off และไต่เพดานบินไปแล้ว 10,000 ฟิต หรือ 3,000 เมตร เช่นเดียวกับช่วง Landing ก็จะปิดใช้ไม่ได้เช่นกัน เมื่อต่ำกว่าระดับเพดานบินดังกล่าว ดังนั้นเรื่องความปลอดภัย และขัดต่อกฎระเบียบการบินก็ไม่มีปัญหา เพราะไม่มีสัญญาณรบกวนระบบนำร่องการบินแน่นอน

การให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในสากลโลก กลับมีการให้บริการมาหลายปีแล้ว โดยมีการให้บริการในสองรูปแบบที่แตกต่างกัน

รูปแบบแรกคือ การให้บริการผ่านดาวเทียม โดยสัญญาณอินเทอร์เน็ต จะถูกส่งผ่านดาวเทียม มายังเครื่องรับสัญญาณของเครื่องบิน ซึ่งจะทำการแปลงสัญญาณเป็น WiFi สำหรับให้บริการในห้องของผู้โดยสารภายในเครื่องบิน เป็นการใช้คลื่น Ku และ L Band ที่อาจมีต้นทุนต่อความเร็วที่สูง  ข้อได้เปรียบคือ สามารถใช้บริการได้ทั้งโลก แม้กระทั่งในเที่ยวบินที่มีการเดินทางข้ามประเทศ หรือมหาสมุทร

รูปแบบที่สอง คือการให้บริการ Aircraft to Ground (ATG) คือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยที่เครื่องบินจะติดต่อกับภาคพื้นดินโดยตรง ไม่ผ่านดาวเทียม ในรูปแบบนี้ผู้ให้บริการจะใช้เสาสัญญาณ 3G จากภาคพื้นดิน ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ยิงสัญญาณขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งต่างกับเสาสัญญาน 3G ทั่วๆไป ที่ถูกออกแบบให้ยิงคลื่นสัญญาณลงสู่พื้นดิน เครื่องบินจะมีเครื่องรับสัญญาน 3G ชนิดพิเศษ และจะแปลงสัญญาณเป็น WiFi เพื่อให้บริการต่อภายในห้องของผู้โดยสาร ข้อได้เปรียบของ ATG คือต้นทุนต่อความเร็วที่ต่ำกว่า จึงสามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตในเครื่องบิน โดยมีความเร็วที่ไม่ต่างจากการให้บริการ 3G บนภาคพื้นดิน ซึ่งในสหรัฐใช้ระบบนี้  Gogo Inflight Internet  ใช้เสาสัญญาณ 3G 160 ต้นสำหรับการให้บริการทั่วประเทศ โดยแต่ละเสาจะสามารถส่งสัญญาณได้ไกล 250 ไมล์ แต่ไม่สามารถให้บริการข้ามประเทศ หรือข้ามมหาสมุทรได้

นอกเหนือจากการให้บริการ WiFi ให้ห้องของผู้โดยสารนั้น ยังมีเทคโนโลยี Femtocell ที่สามารถแปลงสัญญาณจากภายนอกเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบแรก หรือรูปแบบที่สอง ให้เป็นสัญญาณ GSM ที่รวมถึง 2G, 3G และ 4G LTE ภายในเครื่องบินได้ แต่อาจยังติดอุปสรรคทางกฎหมาย จึงไม่สามารถให้บริการได้ในประเทศไทยได้

ในเวทีโลกมีผู้ประกอบการที่บริการระบบบนเครื่อง 2 เจ้าที่เกาะติดเป็น Partner ผู้ผลิตเครื่องบินเป็นคู่ดังนี้ แอร์โรว์โมบาย (www.aeromobile.net ) จะเป็น Partner กับค่าย Boeing

และอีกเจ้าคือ  ออนแอร์  (www.onair.aero) จะประกบคู่กับค่าย Airbus

 

นั่นหมายถึงว่าสายการบินไหนซื้อเครื่องค่ายไหนมาใช้ก็จะมีระบบ Inflight Connectivity ที่เป็นพันธมิตรติดมาโดยอัตโนมัติ

ภาพการทดลองใช้มันฝรั่งรวม 9,000 กิโลกรัม แบ่งใส่กระสอบวางบนเก้าอี้แทนผู้โดยสาร เพราะมันฝรั่งมีคุณสมบัติสามารถดูดกลืนและสะท้อนสัญญาณคลื่นวิทยุใกล้เคียงกับร่างกายคน วัตถุประสงค์ปรับปรุงสัญญาณ Wi-Fi บนเครื่องบินชอง  Boeing ในการปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เสถียรและครอบคลุมทุกพื้นที่บนเครื่องบิน ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้สัญญาณ Wi-Fi ไปรบกวนอุปกรณ์นำร่องและสื่อสารของเครื่องบิน  และว่ามีเครื่องบินโบอิงที่ผ่านการปรับปรุงสัญญาณไวไฟแล้วสามรุ่น ประกอบด้วยโบอิ้ง 777, 747-8 และดรีมไลเนอร์ 787

เจาะความพร้อมการบินไทยกับ Inflight Connectivity  

เมื่อหันมาย้อนมองสายการบินไทย ถือว่าการนำระบบ 3G และ WiFi บนเครื่องบินการบินไทยยังเป็นสิ่งใหม่ที่ใกล้ตัวมาก เหมือนกับมีการติดตั้งระบบรองรับไว้แล้วในฝูงบิน พร้อมจะให้บริการเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาและได้ดำเนินการยื่นขอใช้ระบบ Inflight Connectivity  ทั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ต และ โทรศัพท์ เพราะเห็นว่าจะเป็นการตอบสนองอำนวยความสะดวกของผู้ใช้บริการ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ สามารถใช้ทั้งการให้ความบันเทิง และการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจการค้าที่ไม่ขาดตอนแม้อยู่บนเครื่องบินที่ใช้เวลาบินนานระยะเวลาไกล  เพราะการเดินทางทางอากาศเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สำหรับการดำเนินธุรกิจ การตัดขาดจากโลกอินเทอร์เน็ต ในช่วงเวลาที่อยู่บนเครื่องบิน ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ SMEs หรืออาจจะเป็นอาชีพใด ๆ อาจส่งผลสู่ความเสียบเปรียบในเชิงธุรกิจและการงานได้

หากเปิดแผนของการบินไทยที่จะพัฒนาฝูงบินใหม่ที่มีศักยภาพในอนาคตอีก 27 ลำ จะเป็นเครื่องตระกูล Boeing จำนวน 14 ลำ โดยภายในปี 2558 จะได้รับเครื่อง 777-300ER อีก 6 ลำ เครื่อง 787-8 ดรีมไลเนอร์ส อีก 6 ลำ และ 787-9 อีก 2 ลำ ที่เป็นค่าย Airbus จำนวน 13 ลำ โดยมีแผนที่จะรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ350-900 อีกจำนวน 2 ลำในปี 2559 และอีก 8 ลำในปี 2560 ก่อนหน้าที่รับเครื่อง A 380 ครบภายในปีนี้รวม 3 ลำ

แน่นอนเครื่องทั้งหมด 27 ลำของ บริษัท การบินไทย จำกัด  ได้ติดตั้งระบบสื่อสาร In-Flight Connectivity มาพร้อมแล้ว ที่จะสามารถให้ผู้โดยสารเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านสัญญาณ Wi-Fi บนเครื่องบิน รวมถึงเครื่องหลายลำในฝูงบินที่บินในปัจจุบันแล้ว  เช่น Airbus 330   A380  รวมถึง Boeing 777-300ER   แต่ยังมีข้อขัดข้องบางประการเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะต้องได้รับการอนุมัติจาก กสทช. ก่อนจึงทำให้การบริการดังกล่าวยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้

กสทช.คือด่านสุดท้ายออนไลน์ลอยฟ้าของการบินไทย

กระแสข่าวล่าสุด นายเจษฏา ศิวรักษ์ เลขานุการประจำ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ติดต่อขอความชัดเจนในการนำคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมเพื่อเปิดให้บริการอินเตอร์เน็ตไร้สาย หรือ WiFi และโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเครื่องบินหลังจากเรื่องนี้ได้เสนอมากว่า 2 ปี ขณะนี้ กสทช.อยู่ระหว่างหารือเพื่อหาวิธีในการเปิดให้บริการโดยไม่ขัดพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 มาตรา 45 และ 46

กสทช. เปิดช่องไว้ว่า สำหรับวิธีการที่จะสามารถดำเนินการได้มี 2 วิธี ประกอบด้วย 1.ยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ คือไม่ต้องขอใบอนุญาตสามารถดำเนินการได้เลยโดยที่ไม่ขัดกับ พ.ร.บ. ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยมในหลายประเทศ อาทิ ประเทศสิงคโปร์ และ 2.ใช้วิธีการแบบ Local Partner คือให้บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่งคือ บริษัท แอร์โรว์ โมบาย และออนแอร์ มาจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย และทำ Local Partner เพื่อให้ไม่ขัดกับ พ.ร.บ. เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทไม่สามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ในประเทศไทยได้เพราะมี 3 เจ้ามือถือครอบครองสัปทานอยู่แล้ว

ซึ่งในความเห็นของผม ทางเลือกที่สองเป็นไปได้ยากเพราะบริษัทเอกชนทั้งสองแห่งไม่จำเป็นต้องมาตั้งบริษัทในประเทศไทยเพียงเพื่อมาปล่อยสัญญาอินเตอร์เน็ตบนเครื่องเพื่อบินภายในประเทศไทย เพราะเขาคือ Partner   ของยักษ์บริษัทผลิตเครื่องบินทั้ง Airbus และ Boeing ที่จำหน่ายให้สายการบินทั่วโลกอยู่แล้ว

นายเจษฎา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  ขณะนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาเดียวกับประเทศไทย และประเทศไทยญี่ปุ่นก็อยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะใช้วิธีที่ 2 ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งหากประเทศญี่ปุ่นเลือกวิธีดังกล่าว กสทช.ก็อาจจะใช้กรณีดังกล่าวมาเป็นกรณีศึกษาของประเทศไทยก็จะเป็นได้ ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมแน่นอน

นั้นหมายถึงว่า กสทช. ยังเล่นบท Play Save ที่จะหาทาง Landing สำหรับกรณีการบินไทย โดยหาเหตุผลอ้างอิงเปรียบเทียบกับหลายประเทศ และอ้างว่าการเปิดให้บริการ WiFi บนสายการบินไทย ยังคงไม่สามารถดำเนินการได้ โดยระบุว่าตามกฎหมายอากาศยาน หรือเครื่องบินของประเทศใด เมื่อเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ นับเป็นแผ่นดินของประเทศนั้น และการจะเปิดให้บริการ WiFi บนเครื่องบิน เท่ากับเปิดให้บริการด้วยความถี่ของในประเทศไทย ซึ่งข้อนี้ก็ถือว่าไม่สมเหตุสมผลเพราะว่าการใช้สัญญา WiFi จะใช้ได้เมื่ออยู่บนน่านฟ้าสูงกว่า 10,000 ฟิตเป็นต้นไป  และเครื่องบินการบินไทยก็บินไปทั่วโลก และคงจะไม่มีใครใช้หลังจากเครื่องจอดแล้วเพราะจะใช้สัญญาณพื้นฐานอยู่แล้ว

กสทช.ก็เลยมองว่าจะต้องมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 มาตรา 45 และมาตรา 46 เท่านั้น ซึ่งหากสรุปเดินตามนี้ก็คิดว่าการบริการ Inflight Connectivity ของการบินไทยเป็นไปได้ยากแน่นอน

ผมขอนำความคืบหน้าเชิงเปรียบเทียบอีกกรณีว่า  ล่าสุดของ EVA Air ที่สั่งซื้อเครื่องโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 7 ลำเมื่อปีที่แล้ว (2012) และจะได้รับเครื่องบินในปี 2014  ก็มีการติดตั้งระบบบันเทิง eX3 และระบบสื่อสารทั่วโลก  นับเป็นสายการบินรายแรกของโลกที่ใช้ติดตั้งระบบดังกล่าว ทางสายการบินแถลงว่าการขอใช้ระบบคลื่นสัญญานเอกเทศที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ จะไม่รบกวนต่อคลื่นสัญญานการนำทางและการสื่อสารของเครื่องบิน และไม่กระทบต่อความปลอดภัยการบิน

 

ผมจึงหวังอย่างยิ่งว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ก่อนปี 2557 จะได้ข่าวดีจาก กสทช. ที่จะอนุมัติให้สายการบินแห่งชาติ “การบินไทย”  เปิดให้บริการ Inflight Connectivity เป็นรูปธรรม เพราะได้เตรียมความพร้อมได้ติดตั้งอุปกรณ์พร้อมมากว่า 2 ปีแล้ว รวมถึงฝูงบินใหม่กว่า 27 ลำ รอเพียงการขยับตัวฟันธงของ กสทช. ที่จะไฟเขียว ก็จะทำให้การบินไทยปลดล็อกขีดความสามารถแข่งขันในด้านการให้บริการทั้ง Wifi และสัญญาณโทรศัพท์ หรือบริการออนไลน์ลอยฟ้า  ให้ตรงกับ Demand ผู้ใช้บริการที่เดินทางในเที่ยวบินการบินไทย และที่สำคัญคือการให้สายการบินแห่งชาติได้ทะยานสู่ผู้นำด้านบริการในอุตสาหกรรมการบินโลกอย่างภาคภูมิครับ

เรื่องเกี่ยวเนื่อง : Wifi On The Fly

สายการบินที่ให้บริการในเครือข่าย OnAir มีดังนี้

 

 

 

 

 

  • Air France -เปิดให้บริการในปี 2551 กับ A318
  • TAP Portugal – ทดลองให้บริการกับ  A319
  • British Midland Airways – ทดลองให้บริการกับ A320
  • Ryanair – เปิดให้บริการแล้ว กับ B737
  • Shenzhen Airlines – เปิดให้บริการช่วงกลางปี2552กับ B737 และ A320
  • Wataniya Airways – เปิดให้บริการแล้ว กับ A320
  • Air Blue – เปิดให้บริการแล้ว กับ A320
  • Kingfisher Airlines – เปิดให้บริการกลางปี 2552กับ A330 และ A340
  • Royal Jordanian – เปิดให้บริการแล้วกับ A320 และ A340
  • Jazeera Airways – เปิดให้บริการแล้วกับ A320
  • Oman Air – เปิดให้บริการแล้วกับ A330
  • TAM Airlines – เปิดให้บริการแล้วกับ A320
  • British Airways – เปิดให้บริการกลางปีกับ A320
  • Air Asia  – เปิดให้บริการกลางปี 2552กับ A320
  • AirAsia X  -เปิดให้บริการกลางปีกับ A330
  • Qatar Airways – เปิดให้บริการปลายปี 2552กับ A320
  • Egypt Air เปิดให้บริการเดือนสิงหาคม 2553 กับ A330
  • Hongkong Airline เปิดให้บริการเดือนพฤศจิการยน 2553 กับ A330

 

 

 

 

 

สำหรับ Aero Mobile มีดังนี้

  • Emirates Airline – ให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2551 สำหรับเที่ยวบินที่ออกจากดูไบไปยังบางเส้นทาง
  • Qantas – ทดลองให้บริการบน  B767 ในปี 2551 , GSM & GPRS (Email) Services
  • V Australia – สำหรับฝูงโบอิ้ง
  • Malaysian Airlines – ทดสอบบิน B777, GSM

 

 

ขอบคุณภาพและข่าวจาก http://www.oknation.net/blog/akom/2013/08/03/entry-1

สำนักข่าว Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน