วันอังคาร, 16 เมษายน 2567

โครงการลดก๊าซเรือนกระจกในป่าเอเชีย (LEAF) เดินหน้าสร้างเครือข่าย

Spread the love

   โครงการลดก๊าซเรือนกระจกในป่าเอเชีย (LEAF) เดินหน้าสร้างเครือข่าย

 

โครงการลดก๊าซเรือนกระจกในป่าเอเชีย (LEAF) เดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือและกำหนดแนวทางการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โครงการมนุษย์และชีวมณฑล แม่สา-คอกม้า หวังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุภาวะโลกร้อน

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค 2555 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว นายธานินทร์ สุภาแสนผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วย Dr. David Ganz ผู้อำนวยการโครงการ LEAF (Lovering Emissions inAsia’ Forests Program) เป็นประธานในการ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและกำหนดแนวทางการดำเนินงานของโครงการลดภาวะก๊าซเรือนกระจกในป่าทวีปเอเชียเพื่อร่วมจัดการพื้นที่โครงการมนุษย์และชีวมณฑลแม่สา – คอกม้า

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้นับเป็นการเริ่มต้นของโครงการ LEAF อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการประสานงาน ระดับกระทรวงต่างประเทศจะใช้เวลาค่อนข้างยาวจึงเป็นห่วงว่าโครงการนี้เหลือระยะเวลาอีก 2 ปี แต่จากการคัดเลือกโครงการทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าโครงการแม่สาและคอกม้านั้นได้รับให้เป็นพื้นที่มนุษย์และชีวมณฑลโดยยูเนสโก้ เพราะฉะนั้นความสมบูรณ์และความเป็นอยู่ระหว่างคนกับป่าในภาคเหนือซึ่งดีอยู่แล้วซึ่งโครงการนี้ได้มาเติมเต็มให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน จึงได้มีการเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับพื้นที่และภาควิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้เป็นส่วนหนึ่งในการวางการดำเนินงานที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ได้รับมอบหมายจากอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้เป็นผู้ปฏิบัติ ในฐานะที่พื้นที่ในส่วนดำเนินการเป็นพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทางหน่วยงานจึงต้องเป็นผู้ดำเนินงานประสานทั้งในระดับกระทรวง ระดับองค์กรภาคีเครือข่าย ระดับต่างประเทศ ที่ต้องช่วยกัน หลังจากวันนี้เมื่อแผนดำเนินการและกำหนดพื้นที่ทำงานเสร็จงานจะเริ่มได้ทันที ฝากถึงกระทรวงว่าถ้าเกิดความล่าช้าในระดับกระทรวง ระดับพื้นจะล่าช้าด้วยเช่นกัน ฉะนั้นวันนี้ให้เป็นการเริ่มต้นในเรื่องที่จะทำความรู้จักกับโครงการ LEAF และวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมถึงกำหนดแผนในการดำเนินการเพื่อลงพื้นที่ ซึ่งในส่วนของจังหวัดพร้อมให้ความร่วมมือแก่ทุกภาคส่วน

การประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและกำหนดแนวทางการดำเนินงานของโครงการ LEAF จัดขึ้นเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับภาพรวมของโครงการ LEAF ประเทศไทยให้กับให้กับพันธมิตรผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่โครงการมนุษย์และชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า ทั้งนี้เป็นการร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญเพื่อใช้กำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เช่น ประเด็นการแบ่งเขตการจัดการพื้นที่ การจัดทำแผนที่และการวางแผนจัดการสำหรับพื้นที่ที่มีการจัดเป็นเขตกันชนรวมถึงเขตรอบนอก ประเด็นการจัดการไฟและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากไฟ ประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการวางแผนการใช้ประโยชน์และจัดการที่ดิน การเพิ่มขีดความสามารถและการสร้างความตระหนักให้กับผู้มีส่วนได้เสีย การปลูกและฟื้นฟูป่า การจ่ายค่าตอบแทนของระบบบริการจากระบบนิเวศป่าไม้ รวมถึงประเด็นความท้าทายในการจัดการพื้นที่โครงการมนุษย์ฯและการให้การสนับสนุนจากโครงการ LEAF

ผลการรายงานของโครงการพัฒนาสหประชาชาติ หรือ UNDP ระบุว่า 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราเร่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ในอัตราร้อยละ 180 และในปี 2547 คนไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 4 ล้าน 2 แสนตันต่อคนต่อปี ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน ภาคเกษตร และการบุกรุกทำลายป่า โดยพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า มีพื้นที่ 427 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญ ที่ผลิตน้ำหล่อเลี้ยง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง แม่ริม หางดงและสะเมิง ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องของประเทศไทยอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งการดำเนินงานโครงการ LEAF จะมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี เพื่อร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่ออนาคตของลูกหลานร่วมกัน

โครงการ LEAF ได้ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 6 ประเทศ ได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียและปาปัวนิวกินี และประเทศไทย ภายใต้งบประมาณ 20 ล้านบาท ในส่วนของประเทศไทย ครอบคลุมเป้าหมาย 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่โครงการมนุษย์และชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่โครงการมนุษย์และชีวมณฑลป่าไม้สักห้วยทาก จังหวัดลำปาง พื้นที่โครงการมนุษย์และชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง และพื้นที่โครงการมนุษย์และชีวมณฑล แม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน