วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

โครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าดี 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1

09 พ.ค. 2013
206
Spread the love

            สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ จังหวัดเชียงใหม่จัดสัมมนาให้กับผู้ประกอบการภาคเหนือตอนบน ภายใต้โครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าดี 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สร้างสรรค์สู่สากล

สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ จังหวัดเชียงใหม่จัดสัมมนาให้กับผู้ประกอบการภาคเหนือตอนบน ภายใต้โครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าดี 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สร้างสรรค์สู่สากล เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดเสรีอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกับประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนมุสลิม เพื่อขยายโลกทัศน์ด้านธุรกิจการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการ เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนกลยุทธ์ขยายการค้าการลงทุนและแหล่งวัตถุดิบในประเทศเพื่อนบ้านและเป็นการสร้างโอกาสในการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการส่งออกในภูมิภาคที่มีศักยภาพ นำไปสู่การสร้างสรรค์คลัสเตอร์การผลิตและการค้าที่มีความเข้มแข็งในระดับภูมิภาค รวมถึงสามารถขยายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในภาคเหนือของไทยกับประเทศคู่ค้าในกรอบอาเซียน

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 เวลา 14.00 น. ณ ห้องพิณทอง โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดสัมมนาฯ พร้อมด้วย นายสรกิจ มั่นบุปผาชาติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจังหวัดเชียงใหม่ร่วมสัมมนากับผู้ประกอบการในโครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าดี 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1

โดยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจังหวัดเชียงใหม่ เผยว่า นับเป็นโอกาสดีที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ได้แก่ สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานจังหวัด ดำเนินการจัดสัมมนาเจาะลึกตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่สำคัญและเป็นตลาดที่มีศักยภาพน่าสนใจ ด้วยประชาชนที่มีมากถึง 240 ล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดอาเซียน นับได้ว่า เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากมูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินโดนีเซียมีมูลค่าปีละ 640,000 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับอินโดนีเซียมาโดยตลอด และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคในอินโดนีเซียได้แก่ ผักผลไม้สด (หอมแดง ทุเรียน ลำไย) อาหารแปรรูป สินค้าแฟชั่น สินค้าตกแต่งบ้าน ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

นอกจากนั้นตลาดอินโดนีเซียมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีความอยู่ที่ใกล้เคียงกับคนไทยในหลายด้าน ซึ่งทำให้มีการเชื่อมโยงสินค้าภาคเหนือตอนบนสู่ตลาดมุสลิมตอนล่างจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าสินค้าหลายรายการของอินโดนีเซียจะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสร่วมมือกัน แต่ไทยและอินโดนีเซียยังสามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างความเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายสรกิจ มั่นบุปผาชาติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า สินค้าหลักที่ประเทศไทยส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซีย ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ , น้ำตาลทราย ,เครื่องจักรกล เป็นต้น ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากตลาดอินโดนีเซียได้แก่ น้ำมันดิบ , ถ่านหิน และ สินแร่โลหะอื่นๆ เป็นต้น และในภาพรวมของตลาดอินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่มีประชากรที่มีฐานะดี มีกำลังซื้อสูงมากและนิยมสินค้าที่มีคุณภาพ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงต่อเนื่องร้อยละ 6.5 และมีแนมโน้มการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่อินโดนีเซียยังมีจุดอ่อนที่น่าเป็นห่วงได้แก่ขาดแคลนสาธารณูปโภค ขาดแคลนแรงงานที่มีความชำนาญและขาดอุตสาหกรรมที่สนับสนุน

และอีกสิ่งที่ไม่ควรลืมคือคำแนะนําด้านการค้าและการลงทุน คือต้องรู้เขารู้เรา เช่น ตลาดกฎหมายกฎระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติ ต้องหาคู่ค้า (Partner) ควรคัดเลือกและต้องมีขนาดที่เท่ากัน ต้องวางแผนการลงทุนการเงินและกําลังคนต้องมีที่ปรึกษากฎหมายและต้องรู้ภาษาท้องถิ่น นอกเหนือจากนั้นคือ ศักยภาพของตลาดสินค้าฮาลาลในอินโดนีเซีย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลสูงขึ้น ถือเป็นตลาดสำคัญที่มีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะการที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 คาดว่า จะมีโอกาสขยายตลาดส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนได้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ อาหารฮาลาลของไทยยังมีโอกาสขยายตลาดในกลุ่มตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่

สำหรับสินค้าฮาลาลของไทยถือว่ามีศักยภาพและความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย หากมีการพัฒนาขั้นตอนและกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น หรือหากไทยสามารถร่วมมือและเป็นพันธมิตรทางการค้ากับมาเลเซีย ซึ่งมีความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดและกระจายสินค้า และได้รับการยอมรับจากกลุ่มประเทศมุสลิม ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้าไปในตลาดอินโดนีเซียได้มากขึ้น นอกจากนี้ควรมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารฮาลาลในต่างประเทศเพื่อให้ตลาดรับรู้ก็จะเป็นการเสริมขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าอาหารฮาลาลของไทยในตลาดโลกได้

ซึ่งโดยหลังจากการจัดสัมมนาแล้วจะมีการนำกลุ่มผู้ประกอบการจาก 4 จังหวัดภาคเหนือไปเปิดตลาดและเจรจาการค้าที่เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซียในระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคมถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2556 นี้

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ