แอ่ว”กาดหลวง”ตำนาน ๑๐๐ ปี วิถีชีวิตคนเมืองเชียงใหม่

Spread the love

แอ่ว”กาดหลวง”ตำนาน ๑๐๐ ปี วิถีชีวิตคนเมืองเชียงใหม่

 

ตลาดวโรรส ตลาดต้นลำไย และ ตลาดเจ๊กโอ้ว เป็นตลาดที่อยู่ย่านเดียวกัน หรือที่คนเชียงใหม่ เรียกรวมกันว่า “กาดหลวง” ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลานับ ๑๐๐ ปี แรกเริ่มเดิมทีเป็นที่ตั้งข่วงเมรุ หรือ ที่ปลงพระศพและที่เก็บอัฐิของเจ้าเชียงใหม่ แต่ภายหลังจากที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐกาลที่ ๕ ได้เสด็จกลับมาเชียงใหม่ ก็ได้มีพระราชดำริให้ย้ายพระอัฐิเจ้าเชียงใหม่ทั้งหมดไปบรรจุไว้ที่วัดสวนดอกแล้วได้สร้างตลาดขึ้นในบริเวณข่วงเมรุ และได้พระราชทานชื่อว่า “ตลาดวโรรส”ตามพระนามของ เจ้าอินทวโรรส และชาวบ้านจึงนิยมเรียกกันว่า “กาดหลวง”  ซึ่งหมายความว่าเป็นตลาดใหญ่ หรือ ตลาดของเจ้าหลวง

หลังจากที่เจ้าดารารัศมีสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ เจ้าแก้วนวรัฐเจ้าครองนครเชียงใหม่ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารตลาดวโรรสขึ้นโดยใช้ชื่อว่า บริษัทเชียงใหม่พาณิชย์ จำกัด และได้เป็นบริษัทของเจ้านายสกุล ณ เชียงใหม่ตลอดมา จนครั้งเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น เจ้านายบางท่านจึงได้โอนขายหุ้นบางส่วนให้ห้างหุ้นส่วนอนุสาร เชียงใหม่ เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาและบริหารงานตลาดให้มีความทันสมัยขึ้น

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ทางผู้ถือหุ้นก็ได้มอบหมายให้ ศ.อัน นิมมานเหมินท์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ออกแบบสร้างตลาดวโรรสให้เป็นตลาดที่มีความทันสมัย โดยพัฒนาคู่ไปกับตลาดต้นลำไยที่อยู่ติดกัน โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ และทำให้ทั้งสองตลาดเจริญเฟื่องฟูมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจวบจนปัจจุบัน

“ตลาดต้นลำไย”เดิมบริเวณนี้เป็นที่เลี้ยงช้างและที่อาบน้ำช้างของเจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่ ต่อมาหลวงโยนการพิจิตร (หม่อมปันโหย่ว อุปโยคิน) ได้มาขอเช่าที่ เพื่อใช้เป็นที่เลี้ยงช้างชักลากซุงล่องตามลำน้ำปิง ของบริษัทนอร์เนียวและบอมเบย์มา พร้อมกับสร้างห้องแถวติดลำแม่น้ำปิงให้คนงานอาศัยอยู่ ทำให้บริเวณนี้เป็นชุมชนย่อมๆ และมีพ่อค้าแม่ค้าทยอยนำสินค้ามาตั้งขายใต้ต้นลำไยให้กับคนงานและคนที่สัญจรไปมา ซึ่งเมื่อแรกตั้งมีลักษณะเป็นกาดก้อมเล็กๆ ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นตลาดใหญ่ เรียกชื่อว่า “กาดต้นลำไย”

ครั้งเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๑ ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่และทำให้ทั้งสองตลาดวอดวายเสียหายถือเป็นการสิ้นสุดของตลาดวโรรสในยุคแรก หลังจากนั้นเจ้านายสกุล ณ เชียงใหม่ ก็ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะลงทุนทำตลาดอีกต่อไป จึงได้โอนขายหุ้นทั้งหมดให้บริษัทอนุสาร เชียงใหม่ จำกัด ทางบริษัทจึงได้มอบหมายให้ ศ.อัน นิมมานเหมินท์ ผู้ออกแบบการสร้างตลาดในครั้งแรก เป็นผู้ออกแบบตลาดขึ้นมาใหม่ โดยการทำตลาดให้เป็นแนวสูงเพื่อเป็นการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าสูงสุด และได้สร้างตลาดให้ตรงกลางโปร่งโล่งและมีโครงหลังคาแบบฟันเลื่อยเพื่อให้รับแสงสว่างธรรมชาติได้เต็มที่ พร้อมกับมีการระบายอากาศให้ถ่านเทตลอดเวลา โดยในสมัยนั้นตลาดวโรรสเป้นตลาดที่สวยงามและทันสมัยที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนืออีกทั้งเป็นตลาดเดียวที่มีบันไดเลื่อน

ส่วน”กาดเจ๊กโอ้ว”หรือที่เรียกอีกชื่อว่า”ตลาดนวรัฐ”ตั้งขึ้นตามชื่อของเจ้าแก้ว นวรัฐ เจ้าหลวงองค์ที่ ๙ นื่องด้วยตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นคุ้มของเจ้าแก้ว นวรัฐ ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ เถ้าโอ้ว (นายชู โอสถาพันธุ์) ได้ซื้อคุ้มหลังนี้และอพยพครอบครัวเข้ามาอยู่ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เถ้าแก่โอ้วได้รื้อคุ้มหลังนี้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นตลาด เพราะเห็นว่าบริเวณนี้อยู่ติดแม่น้ำปิง มีผู้คนสัญจรไปมามาก ประกอบกับตัวคุ้มเองก็ชำรุดทรุดโทรม

แม้ทั้ง ๓ ตลาดจะอยู่ในย่านเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้แย่งลูกค้ากันแต่ละตลาดมีสินค้าที่โดดเด่นไม่ซ้ำกันอย่าง”กาดหลวง”เป็นศูนย์กลางของผ้านานาชนิด ทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผ้าเมตร ทั้งยังเป้นศูนย์รวมของฝากของที่ระลึกอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแคบหมู ไส้อั่ว หมูยอ แหนม น้ำพริกหนุ่ม ผลไม้ ส่วน”กาดเจ๊กโอ้ว”เป็นศูนย์กลางของสินค้าจากโรงงานทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค และ “กาดต้นลำไย”เป็นศูนย์กลางของพืชผลทางการเกษตร ทั้งพืชผักผลไม้ และเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ในช่วงเวลากลางคืน ตลาดจะคึกคักไปด้วยพ่อค้า แม่ค้าและผู้คนแล้ว ยามกลางคืนที่นี้ก็คึกคักไม่แตกต่างจากตอนกลางวันเท่าไหร่นัก พ่อค้าแม่ค้าจะนำสินค้ามาว่างขายมากมาย ทั้งในตัวตลาดและริมถนน โดยเฉพาะอาหารการกินมี “ขนมจีน”เป็นจุดขาย เป็นขนมจีนที่ตั้งขายทามกลางแสงเทียน มีมาให้อิ่มอร่อยในสนนราคาที่ไม่แพง มีทั้งน้ำเงี้ยว น้ำยา แกงเขียวหวาน เชื่อได้เลยว่าใครที่ได้แวะเวียนมาจังหวัดชียงใหม่ จะต้องแวะมาสัมผัสวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของคนเมืองเชียงใหม่ที่“กาดหลวง”แน่นอน..

ธนวรรธน์  จรณชัยวัจน์

ทีมข่าว cnxnews รายงาน