วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

แรงงานทาส..รายงานด้วยความเศร้า…

Spread the love

แรงงานทาส..รายงานด้วยความเศร้า…..

อนิจจา เพื่อนร่วมโลก..ชาวโรฮิงญา…….

184472-attachment

ภายหลังสหภาพยุโรป (European Union: EU) ให้ใบเหลืองแก่ไทย พร้อมให้มีมาตรการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการจัดการปัญหาประมงผิดกฎหมายภายใน 6 เดือน สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากปัญหาการค้าแรงงานทาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว และการทำประมงที่ผิดกฎหมายนั้น   ก่อนอื่น เราลองฟังทัศนะของนักวิชาการก่อนนะครับ

เริ่มจาก   ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวในเวทีสัมมนา ‘กฎหมายแรงงานเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานและความเจริญรุ่งเรืองของขบวนการแรงงานในสังคมประชาธิปไตย’ ซึ่งจัดโดยมูลนิธินิคม จันทรวิทุร ร่วมกับมูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์ และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ว่า ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทยมาก โดยคนกลุ่มนี้อยู่ในระบบการผลิตประมาณ 3 ล้านคน นั่นหมายถึง ระบบเศรษฐกิจกำลังขาดแคลนแรงงาน

“ขนาดเศรษฐกิจยังเติบโตไม่เต็มศักยภาพ เพราะประสบปัญหาวิกฤตทางการเมืองร่วม 10 ปี ปัญหาการขาดเเคลนเเรงงานยังมีมาก หากเศรษฐกิจเติบโตมากกว่านี้ ปัญหาก็จะยิ่งมีมากขึ้น” นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าว และว่า เมื่อมองไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า ไทยจะเกิดภาวะสังคมผู้สูงอายุ ถึงเวลานั้นยิ่งขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นต้องวางนโยบายด้านแรงงานและประชากรศาสตร์อย่างมียุทธศาสตร์”

                 ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วงเฉพาะหน้า คือ แรงงานทาส โดยไทยมีมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับ 7 ของโลก ซึ่งเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบทาสยุคใหม่ราว 4 แสนราย แน่นอนว่า แรงงานเหล่านี้มักเกี่ยวโยงกับแรงงานต่างด้าว เพราะเป็นแรงงานที่ไม่มีปากเสียง โดยเฉพาะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีอำนาจต่อรองกับภาครัฐหรือนายจ้างที่ไร้จริยธรรม กระนั้น ปัญหาดังกล่าวสะสมมาหลายรัฐบาล ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลชุดใด ซึ่งมีสาเหตุจากการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ    ทั้งนี้ แม้ระบบทาสจะถูกยกเลิกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่อย่าคิดว่าไม่มีทาส เพราะปัจจุบันมีการค้าทาสยุคใหม่ โดยบังคับให้ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ใช้แรงงานอย่างไม่เต็มใจ หรือไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย นอกจากนี้แรงงานในอุตสาหกรรมบริการทางเพศเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไทยถูกประจานไปทั่วโลก ไม่ยอมบังคับใช้กฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีผลประโยชน์ทุจริตคอร์รัปชันทุกระดับ

                ปัญหาที่สะสมมาทำให้สหรัฐอเมริกาประกาศลดอันดับการค้ามนุษย์ไทยเป็นอันดับ 3 (Tier 3) คือ ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐฯ และไม่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไข อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ หากรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนไม่เร่งรัดแก้ไขปัญหา คาดว่าสหรัฐฯ จะเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปรับลดอันดับลงไปอีก

                “การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ มีเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการกดดันไทย เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากไม่เร่งชี้แจงหรือแก้ปัญหาที่ดีจะกระทบการส่งออกหนักผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว รวมถึงยังสอดคล้องกับ EU เพิ่งให้ใบเหลืองอุตสาหกรรมประมงไทย สาเหตุส่วนหนึ่งคือการใช้แรงงานทาส กังวลว่า หากมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจริงจะทำให้ภาพรวมย่ำแย่ .

                นี่เป็นมุมมองของนักวิชาการ โดยกล่าวอย่างตรงเป้าเลย    และปัญหาเรื่องแรงงานทาสในธุรกิจประมงก็เป็นเรื่องมที่รู้กันมานานแล้ว แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจเนื่องมาจากแรงงานทาสนั้นเป็นแรงงานที่ไม่ใช่แรงงานไทย เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เถื่อนบ้าง ไม่เถื่อนบ้าง   มาจากเขมร พม่า ลาว ญวนฯลฯ

           แต่แรงงานทาสที่น่าสนใจมากที่สุดตอนนี้คือ แรงงงานจากชนกลุ่มน้อยที่เรียกกันว่าชาว โรฮิงญา เรามาทำความรู้จักกับพวกเขาก่อน

              โรฮิงญา นับล้านค้นพากันหลบหนีจากรัฐยะไข่ เนื่องจากเป็นชาติพันธุ์ที่ถูกกีดกัน ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติจากเมียนมาร์และบังคลาเทศซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับรัฐยะไข่ ทั้งยังมีสถานการณ์ขัดแย้งกับชาวพุทธในรัฐยะไข่ถึงขั้นใช้อาวุธและเผาที่อยู่อาศัยจนมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องด้วย โดยวิธีการที่พวกเขาใช้หลบหนีคือล่องเรือจากอ่าวเบงกอล ผ่านทะเลอันดามัน ก่อนแวะพักตามจังหวัดภาคใต้ของไทย และส่วนหนึ่งถูกจับกุมได้ในน่านน้ำไทย บริเวณจังหวัดระนอ ง แต่ที่ตกเป็นข่าวครึกโครม คือการพบชาวโรฮิงญาทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ถูกกักตัวอย่างแออัดร่วมพันคนในโกดังย่านปาดังเบซาร์ และด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 จากนั้นก็มีการติดตามจับกุมชาวโรฮิงญาที่หลบซ่อนอยู่ตามป่าเขาได้อย่างต่อเนื่อง นับรวมได้กว่า 1,200 คน

แต่สาเหตุที่ทำให้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาเป็นประเด็นยืดเยื้อ ก็เพราะทางการไทยไม่สามารถผลักดันกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากทั้งเมียนมาร์และบังคลาเทศไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของตน

                 ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญา พวกเขาคือชนพื้นเมืองดั้งเดิมของแคว้นโรฮัง (Rohang) ชื่อเก่าแก่ของรัฐอาระกัน อดีตเคยเป็นรัฐเอกราช ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาร์    รัฐอาระกัน หรือ “ยะไข่” ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเบงกอลทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ มีพรมแดนติดกับบังคลาเทศ ชาวโรฮิงญาใช้ภาษาเบงกาลี-จิตตะกอง นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่

อาระกันถูกพม่ารุกรานมาตลอด กระทั่งมาตกเป็นดินแดนของพม่าอย่างสมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) เมื่อ “นายพลเนวิน” ทำรัฐประหารและประกาศยกเลิก “รัฐปกครองตนเองอาระกัน” (Arakanese autonomy) นับตั้งแต่นั้นมาอาระกันก็ลุกเป็นไฟ เพราะชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธความเป็น “พลเมืองพม่า” เนื่องจากพม่ารับรองเฉพาะชาวอาระกันที่เป็นพุทธ ทำให้พวกโรฮิงญากลายเป็นคนไร้รัฐ แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้รับรองความเป็นพลเมืองหรือสัญชาติของชาวโรฮิงญา

ประมาณการณ์กันว่าชาวโรฮิงยาเคยมีประชากรราว 3.5 ล้านคน แต่ปัจจุบันน่าจะเหลือเพียงครึ่ง เนื่องจากตกเป็นเหยื่อทารุณกรรม ข่มขืน ถูกบังคับเป็นแรงงานทาส เรียกเก็บภาษีตามอำเภอใจ บ้านเรือนถูกทำลาย รวมทั้งผลักดันให้พ้นเขตแดน กระทั่งต้องอพยพหลบหนีจากแผ่นดินเกิด ทั้งข้ามไปบังคลาเทศ และล่องเรือเข้าน่านน้ำไทยเพื่อผ่านไปยังประเทศที่สาม

                      เส้นทางอพยพของของชาวโรฮิงญามีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

  1. จากชายแดนจังหวัดค๊อกซีสบาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ อ้อมหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย มุ่งหน้าไปทางเกาะนิโคบา ใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ส่วนมากเป็นเรือขนาดใหญ่ และเดินทางต่อไปทางทิศตะวันออก เข้าน่านน้ำไทยที่จังหวัดระนอง พังงา
  2. จากชายแดนอำเภอมองดอ จังหวัดซิตต่วย (ซิตตะเว) รัฐอาระกัน ของพม่า ผ่านน่านน้ำพม่าภาคอิรวดี เกาะโกโก้ รัฐมอญ ภาคตะนาวศรี เข้าเขตน่านน้ำไทยด้าน จังหวัดระนอง

            สำหรับเป้าหมายหลักที่แท้จริงซึ่งกลุ่มโรฮิงญาต้องการเดินทางไป คือประเทศที่สาม โดยเฉพาะมาเลเซีย เนื่องจากรายได้ดี มีงานมาก ประกอบกับมีแนวคิดว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ประจำมาเลเซีย มีความอ่อนตัวในการดำเนินการต่อชาวโรฮิงญา เนื่องจากเป็นมุสลิมเหมือนกัน จึงน่าจะผลักดันให้การรับรองสถานภาพ “ผู้หนีภัยการสู้รบ” ง่ายกว่าประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ในระยะหลังเนื่องจากมีกลุ่มโรฮิงญาที่ต้องการอพยพและย้ายถิ่นเพื่อมาหางานทำมากขึ้นในลักษณะทวีคูณ ทำให้เกิดขบวนการลักลอบนำพากลุ่มคนเหล่านี้เข้าไทยและมาเลเซีย โดยจะมีการเรียกเก็บเงินคนละ 20,000-50,000 จั๊ต (ประมาณ 1,000 บาท) เพื่อจัดซื้อเรือพร้อมอาหารและน้ำดื่มในระหว่างการเดินทาง  คนเหล่านี้เมื่อมาถึงก็จะมาตั้งค่ายพักแรม รอการส่งตัวไปทำงานโดยนายหน้าจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากนายทุน เมื่อนายทุนรับแรงงานเหล่านี้ไปก็จะต้องให้ทำงานเพื่อชดใช้เงินก้อนแรกที่นายทุนจ่ายให้นายหน้าเสียก่อนนี่คือวงจรของแรงงานทาส

                    จากข่าวที่พบหลุมฝังศพชาวโรฮิงญาทางภาคไต้  มีการตายเป็นจำนวนมาก ก็มาจากการที่ต้องแรนแรมมาไกล  ขาดน้ำ   ขาดอาหาร   สภาพความเป็นอยู่แออัด เจ็บป่วยไม่มีหมอรักษา ไปรับการรักษาที่ไหนก็ไม่ได้ จึงต้องล้มตายกันจำนวนมาก เมื่อตายแล้วก็ต้องฝังกันตามมีตามเกิด เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาดังกล่าว

 

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียงและรายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ