วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

แรงงานข้ามชาติเล่นไม่ซื่อเปิดร้านค้าปลีกในบ้านเราจับตา การแก้ปัญหาของรัฐไทย

Spread the love

scoop

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

แรงงานข้ามชาติเล่นไม่ซื่อเปิดร้านค้าปลีกในบ้านเราจับตา การแก้ปัญหาของรัฐไทย

ท่านผู้อ่านครับเมื่อเร็วๆนี้ คุณปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด สำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม ถึง 22 มิถุนายน 2559 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรีและสงขลา พบว่า แรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของร้านในห้างสรรพสินค้า 6.9 % ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8 % เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9% และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7 % ซึ่งต่างด้าวที่เป็นเจ้าของร้านหรือแผงค้ามีสัญชาติพม่า 44.5 % กัมพูชา 21.4 % ลาว 19.8 % เวียดนาม 4.4 % จีน 1.6 % ชนกลุ่มน้อย 5.5 % และอื่นๆ 2.7%

น่าตกใจนะครับ

ในการสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ค้าคนไทยและต่างด้าวขาดการรับรู้ด้านกฎหมาย โดยผู้ค้าชาวไทยประมาณ 3ใน4 รับรู้ว่ามีคนต่างด้าวมาประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ทราบว่าอาชีพค้าขายของแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่ผู้ค้าต่างด้าวที่รู้ว่าผิดกฎหมายเพียง 1ใน 4 โดยผู้รู้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เป็นเจ้าของเอง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นต่างด้าว พบว่ามีสถานภาพเป็นเจ้าของ 42.9% เป็นลูกจ้าง 45.8% และค้าขายให้กับครอบครัวหรือญาติ 11.3% สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะจ้างแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นกรรมกร แต่ทางปฏิบัตินายจ้างต้องการแรงงานมาทำงานที่หลากหลาย รวมถึงการช่วยขายของหน้าร้าน และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเจ้าของเอง

นอกจากนี้พบว่า ผู้ค้าต่างด้าวที่เป็นเจ้าของที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายเลย มีสัดส่วน 41.3 % อาจเพราะแรงงานต่างด้าวมีเพื่อน ญาติ เครือข่ายทำให้มีช่องทางค้าขาย ขณะที่ 1ใน3 ของผู้ค้าต่างด้าว เป็นเจ้าของร้านหลังเข้ามาแล้ว 2-3 ปี

  เรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่า แรงงานต่างด้าวปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมเข้ามาเป็นแรงงาน ปรับเป็นผู้ประกอบค้าขายเพิ่มขึ้น แม้มีการจับกุมแต่กว่าครึ่งก็จะกลับมาค้าขายใหม่อีก ด้านรายได้ พบว่า ผู้ค้าต่างด้าว 47.4% มีเงินเก็บและไม่มีหนี้สิน และ กว่า 80% ส่งเงินกลับประเทศเดือนละครั้ง โดยครั้งละ 1,001-5,000 บาท คิดเป็น 52% และส่งเงินกลับครั้งละ 5,001-10,000 บาท คิดเป็น 35.1%

รายงานพบว่าการเข้าสู่อาชีพค้าขายรายย่อยของคนต่างด้าว มีทั้งเข้าเมืองมาใช้แรงงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนมาค้าขายรายย่อย หรือการตั้งใจเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เช่นถือวีซ่านักท่องเที่ยว เป็นแรงงานเถื่อน เป็นต้น ส่วนการคงสภาพอาชีพค้าขายไว้ของต่างด้าว คือการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ ให้คนไทยรับหน้าเป็นนายจ้าง วนเวียนไปกลับประเทศไทยกับประเทศต้นทาง และมีเครือข่ายแจ้งเตือนล่วงหน้าทำให้ไม่ถูกจับกุม ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยของไทยทั้งข้อดีและข้อเสีย

           ทางด้านผลดีคือส่งเสริมให้ตลาดมีความคึกคัก ดึงดูดคนต่างด้าวอื่นๆมาซื้อสินค้า และทำให้มีสินค้าหลากหลาย

ส่วนผลเสียคือการแย่งอาชีพคนไทย รวมทั้งตั้งกลุ่มอิทธิพล และผลกระทบอีกหลายด้าน เช่นด้านสุขภาพอนามัย เงินรั่วไหลออกนอกประเทศ ปัญหาอาชญากรรมและการทะเลาะวิวาท การแพร่ระบาดของโรค ความต้องการทรัพยากรพื้นฐานและงบประมาณที่ต้องใช้การดูแล

ทีนี้ก็มาถึงมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นของทางการไทย  คุณธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) ว่าได้กำหนดมาตรการป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทยไว้ 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.-สิ้นปี 2559 โดยมอบกรมการจัดหางาน (กกจ.) ประสานกับฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ในกทม.และต่างจังหวัด โดยในกทม. มี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะทำงาน และต่างจังหวัดมีผู้ราชการจังหวัด เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมทั้งกำหนดการออกตรวจอย่างน้อย 20 ครั้งในระยะแรก โดยให้มีการจัดแผน และกำหนดพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน

ส่วนระยะยาวมอบหมายให้หน่วยงานด้านความมั่นคงสกัดกั้นตามแนวชายแดน รวมทั้งทำแผนตรวจให้ชัดเจน ทั้งนี้ในที่ประชุม พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาคนต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย เพราะส่งผลกระทบต่อคนไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

ด้านคุณอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น เจ้าของตลาด เจ้าของห้างสรรพสินค้า พ่อค้าแม่ค้าคนไทย รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องช่วยกันตรวจสอบดูแล โดยเฉพาะเจ้าของตลาดและห้างสรรพสินค้าควรมีส่วนรับผิดชอบหากปล่อยให้คนต่างด้าวมาค้าขายในพื้นที่ อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการฯจะมีแนวทางการแก้ปัญหาและบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายพิจารณา รวมทั้งกรณีคนต่างด้าวใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาทำงานหรือค้าขายในไทย ก็จะต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพาณิชย์ วางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา

ล่าสุดเมื่อ13 ก.ย.59ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย และเร่งรัดการดำเนินงานตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 100/2557 และ 101/2557 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการตรวจของชุดเฉพาะกิจในระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยในระยะสั้นระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2559 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดชุดเฉพาะกิจเพื่อออกตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินการคดีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแย่งอาชีพคนไทย โดยตั้งเป้าออกรวจสอบไม่น้อยกว่า 5 ครั้งต่อเดือน ส่วนระยะยาวตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2560 จะจัดตั้งชุดเฉพาะกิจจำนวน 6 ชุด ในโครงการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่างด้าว เพื่อออกตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินการคดีเช่นกัน

‘นอกจากนี้ในปี 2560 กรมการจัดหางาน จะจัดอบรมและออกใบรับรองให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 คน เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจแรงงานได้อย่างถูกต้อง โดยกรมการจัดหางานได้รายงานการตรวจและจับกุมแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทยทำ และแรงงานผิดกฎหมาย รวมกว่า 1 แสนคน พบเป็นกลุ่มที่ลักลอบเปิดกิจการหาบเร่ แผงลอย จำนวน 100 กว่าคน’ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กรมการจัดหางาน ประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงจัดชุดเฉพาะกิจ ออกตรวจปราบปรามการลักลอบทำงานของคนต่างด้าว และจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาวิเคราะห์ความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถบังคับใช้และป้องปรามการกระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้หน่วยงานด้านความมั่นคง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว เพราะยังมีการลักลอบเข้ามากันตลอด แค่ 3 วันตั้งแต่วันที่ 9-11 ก.ย.ที่ผ่านมา สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนได้ถึง297 ราย

บทความชิ้นนี้ไม่มีความเห็นนะครับ เนื่องจากยาวมากแล้ว รายละเอียดต่างๆมีครบในนี้แล้ว คิดว่าท่านผู้อ่านคงนึกภาพออกว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองของเรา และเราในฐานะคนไทยเจ้าของบ้าน ควรทำอย่างไร

ขอขอบคุณข้อมูล..สำนักข่าวอิศรา..

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ