วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

แพทย์ มช. แนะภาวะท้องผูกแก้ไขได้ไม่ยาก

Spread the love

แพทย์ มช. แนะภาวะท้องผูกแก้ไขได้ไม่ยาก

ภาวะท้องผูกมักเป็นชั่วคราวและไม่รุนแรง การเข้าใจถึงสาเหตุ การป้องกัน และการรักษาจะช่วยบรรเทาอาการนี้ลงได้ อย่าปล่อยให้อาการรุนแรงเกินเยียวยา!!!

 

       ผศ.นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร  หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์  มช. เปิดเผยว่า  “ภาวะท้องผูกคืออาการไม่ใช่โรค หมายถึงการที่ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายและสม่ำเสมอ โดยมีความถี่ของการขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่าทุกๆ สามวันหรือวันเว้นสองวันร่วมกับก้อนอุจจาระมีลักษณะแข็งและยากต่อการขับถ่ายออกมา บางคนที่มีท้องผูกอาจรู้สึกเจ็บปวดเวลาถ่ายอุจจาระซึ่งมักต้องออกแรงเบ่ง    ท้องอืดมีลมเยอะ แน่นท้องและรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด   บางคนอาจคิดว่าตนเองท้องผูกหากไม่ได้ขับถ่ายอุจจาระออกมาทุกๆวัน  อย่างไรก็ตามการขับถ่ายมีความแปรปรวนไม่เหมือนกันในแต่ละคนจากวันละสามเวลาไปจนถึงสามวันครั้งได้  หลายคนถามว่าใครบ้างที่มีภาวะท้องผูก คือตลอดช่วงวัยชีวิตของมนุษย์เกือบทุกคนต้องเคยประสบกับอาการท้องผูกบ้างบางครั้ ง  พบภาวะนี้ได้บ่อยยิ่งขึ้นในกลุ่มสตรีที่สูงวัยกว่า 65 ปี สตรีตั้งครรภ์อาจมีภาวะท้องผูกเนื่องจากลำไส้มีการบีบตัวช้าลง และยังเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสตรีหลังคลอดบุตรหรือหลังผ่าตัด  ส่วนใหญ่ของภาวะท้องผูกมักเป็นชั่วคราวและไม่รุนแรง การเข้าใจถึงสาเหตุ การป้องกัน และการรักษาจะช่วยบรรเทาอาการนี้ลงได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่         

สำหรับสาเหตุหลักท้องผูกที่พบบ่อย ได้แก่การรับประทานอาหารที่ไม่สม่ำเสมอ และมีปริมาณเส้นใยไม่เพียงพอ ,ขาดการออกกำลังกาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ) ,ยาบางชนิด  เช่น  ยาระงับปวด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาระงับปวดที่เป็นสารเสพติด)  ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมและแคลเซียม เป็นต้น  ,การเปลี่ยนแปลงในชีวิตหรือกิจวัตร เช่น การตั้งครรภ์ อายุมาก   การเดินทางท่องเที่ยว ,การใช้ยาระบายที่ไม่ถูกต้อง ,การละเลยที่จะออกแรงเบ่งเพื่อขับถ่ายอุจจาระ ,การขาดสารน้ำ ,โรคหรือสภาวะบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (พบได้บ่อยที่สุด) ,ปัญหาของลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ,ปัญหาของการทำงานของลำไส้เอง (ภาวะท้องผูกเรื้อรังไม่รู้สาเหตุ) โดยภาวะท้องผูกจะก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงได้  บางครั้งภาวะท้องผูกอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น  ได้แก่ ริดสีดวงทวาร เกิดจากการออกแรงเบ่งมากเพื่อขับถ่ายอุจจาระ แผลปริที่ผิวหนังขอบทวารหนัก (anal fissure) เกิดจากก้อนอุจจาระที่แข็งมากทำให้กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ยืดออกมากเกินไปอาจทำให้เกิดเลือดออกในไส้ตรง และมีรอยเลือดสีแดงสดติดที่ผิวของก้อนอุจจาระได้บางครั้งการออกแรงเบ่งอาจทำให้ไส้ตรงยื่นย้อยผ่านทวารออกมา และนำไปสู่อาการมีมูกออกจากทวารหนัก

   การรักษาเชิงพฤติกรรมสามารถแก้ไขภาวะท้องพูกได้ คือ ลำไส้จะเคลื่อนไหวมากภายหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเช้า ซึ่งมักเป็นเวลาที่อุจจาระพร้อมจะถูกขับถ่ายออกมา จึงควรไปขับถ่ายอุจจาระเมื่อรู้สึกอยากขับถ่ายครั้งแรกโดยไม่รั้งรอ หากเมินเฉยต่อสัญญาณขับถ่ายที่ร่างกายส่งมา จะส่งผลให้สัญญาณนั้นอ่อนลงไปเรื่อยๆ  เมื่อเวลาผ่านไป ควรให้ความสนใจกับสัญญาณขับถ่ายและให้เวลาที่เพียงพอสำหรับการขับถ่าย  การดื่มเครื่องดื่มร้อนๆในตอนเช้า เช่น น้ำชาหรือกาแฟ อาจช่วยกระตุ้นให้มีการบีบตัวของลำไส้และส่งเสริมการขับถ่ายอุจจาระ  การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวันช่วยการขับถ่ายด้วยเช่นกัน

ด้านการรับประทานอาหารที่สม่ำเสมอและดื่มน้ำที่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี อาหารที่มีปริมาณเส้นใยเพียงพอ (20-35 กรัมต่อวัน) จะช่วยให้อุจจาระมีขนาดใหญ่และนุ่ม    อย่างไรก็ตามการรับประทานเส้นใยอาหารปริมาณมากอาจทำให้มีอาการท้องอืดหรือมีแก็สเยอะได้ในบางคน พยายามเพิ่มเส้นใยอาหารประเภทที่ละลายได้ง่าย (เส้นใยจากผัก ผลไม้ และข้าวโอ๊ต) ซึ่งดีกว่าประเภทที่ไม่ละลาย (เส้นใยจากเมล็ดธัญพืช) เริ่มจากปริมาณน้อยๆก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นจนกระทั่งก้อนอุจจาระนิ่มลงและขับถ่ายบ่อยขึ้น โดยอาหารบางชนิดมีคุณสมบัติช่วยระบายโดยธรรมชาติ   เช่น ลูกพรุน (ผลพลัมแห้ง) ผลมะเดื่อ ฝรั่ง ผลกีวี ชะเอมเทศ กากน้ำตาล (molasses)   การโรยเมล็ดลินินหรือเมล็ดแฟล็กซ์กะเทาะเปลือก (cracked linseeds) ลงในอาหารที่คุณรับประทานอาจช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับออกได้ง่าย  สำหรับผู้ที่ท้องผูกง่ายควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่มีเส้นใยหรือมีน้อย เช่น ไอศกรีม ชีส เนื้อสัตว์ หรืออาหารสำเร็จรูป การดื่มน้ำหรือของเหลวอื่นๆ เช่น น้ำผัก/ผลไม้ ในปริมาณ 1.5 ถึง 2.0 ลิตรทุกวันจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำและช่วยแก้ท้องผูกได้ ดังนั้นหากคาดว่ามีอาการภาวะท้องผูกควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร  การออกกำลังกายเพื่อหลี่กเลี่ยงอาการภาวะท้องผูกรุนแรง

 

 

ข้อมูลโดย ผศ.นพ. ชัยเลิศ พงษ์นริศร

หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน