วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

แพทย์ มช. เปิดห้องปฏิบัติการหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

Spread the love

แพทย์ มช. เปิดห้องปฏิบัติการหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

ให้บริการทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการเพื่อวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยา

 

คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ งานบริหารงานวิจัย จัดพิธีเปิดห้องปฏิบัติการหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอนขึ้น  ในวันพุธ ที่ 31 ตุลาคม  2555  เวลา 08.30 – 11.30 น. ณ ห้องปฏิบัติการหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอน   ชั้น 1 อาคารปฏิบัติการ 50 ปี  โดยได้รับเกียรติจากรศ.นพ.นิเวศน์  นันทจิต คณบดี   คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิด

รศ.นพ.นิเวศน์  นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.  กล่าวว่า   ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ศูนย์เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์   ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาอย่างต่อเนื่องโดยทางคณะฯ เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือต่างๆ  ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยของนักศึกษา นักวิจัย คณาจารย์ทั้งภายในและภายนอกคณะฯ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์  และการจัดตั้งห้องปฏิบัติการหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอนขึ้นมาครั้งนี้เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์และทันสมัย สามารถให้บริการทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการเพื่อวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยา และการบริการอื่นๆ ที่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน  รวมทั้งเพื่อให้เกิดผลงานทางวิชาการใหม่ๆและมีประโยชน์ต่อไป

            ศ.นพ.คม  สุคนธสรรพ์  ประธานศูนย์เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  เปิดเผยว่า ศูนย์เครื่องมือวิจัยฯ ได้เริ่มดำเนินการก่อตั้งขึ้นมาเป็นเวลา 20 ปี โดยเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม  2535  ซึ่งขณะนั้นมีหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเป็นหน่วยแรกที่เปิดให้บริการ  โดยมีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน  2 ตัว  คือกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน (TEM) และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) เป็นเครื่องมือแรกในการก่อตั้งศูนย์เครื่องมือวิจัย  ตลอดระยะเวลา20ปีที่ผ่านมาทางศูนย์เครื่องมือได้พยายามจัดหา   เครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการทำวิจัยให้หลากหลายแขนงมากที่สุดโดยได้รับการสนับสนุนจากทางคณะฯและมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553  ทางศูนย์เครื่องมือได้รับการอนุมัติให้ซื้อกล้อง SEM ทดแทนเครื่องเดิมที่ชำรุดและไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึง ในปี 2554 ได้รับการอนุมัติให้ซื้อกล้อง TEM ตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพและความหลากหลายในการวิเคราะห์ตัวอย่างไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรค ตัวอย่างทางชีววิทยา จุลชีววิทยา วัสดุศาสตร์ เป็นต้น มาทดแทนเครื่องเดิมซึ่ง  มีข้อจำกัดในการใช้งานเนื่องจากอายุการใช้งานที่ยาวนาน ในการนี้ทางศูนย์เครื่องมือจึงได้ทำการจัดตั้งห้องปฏิบัติการหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอนขึ้นมาใหม่ ณ ชั้น1 อาคารปฏิบัติการ 50 ปี โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้หน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดงานวิจัยที่หลากหลาย แก่นักศึกษา นักวิจัย และคณาจารย์ของทั้งภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงสถาบันอื่นๆภายนอกต่อไป


สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ