วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

แพทย์ มช. สร้างความตระหนัก กฎหมายคุ้มครองเด็กและสตรี

Spread the love

แพทย์ มช. สร้างความตระหนัก กฎหมายคุ้มครองเด็กและสตรี

อ.ไพฑรูย์ ณรงค์ชัย

 

ปัจจุบันเหตุการณ์ความรุนแรงด้านการทารุณกรรมเด็กและสตรีมีสถิติและความรุนแรงมากขึ้นจนน่ากลัว  บางกรณีเหยื่อที่ถูกกระทำเสียชีวิต จากสถิติในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ถูกกระทำมักจะเป็นเพศหญิง ซึ่งแต่เดิมอัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายมีสถิติ  7:1  แต่ปัจจุบันการทารุณกรรมเด็กผู้ชายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มีอัตราส่วนระหว่างเพศหญิงต่อเพศชายเกือบเท่ากัน3:1 เนื่องจากการทารุณกรรมทางเพศเกิดการเบี่ยงเบนไปสู่การกระทำกับเด็กผู้ชายมากขึ้น 

ศ.นพ. ไพฑูรย์  ณรงค์ชัย  ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดเชียงใหม่  เปิดเผยว่า  “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ประกาศใช้ตั้งแต่ วันที่ 24 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2546  ซึ่งในปีนี้ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 11 โดยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ประกาศใช้เนื่องจากมีปัญหาการทารุณกรรมในเด็ก(อายุน้อยกว่า 18 ปี)และสตรีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็ก และช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาในหลากหลายรูปแบบ  เช่น  เด็กเร่ร่อน  เด็กพิการ   หรือเด็กที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ถูกทารุณกรรมด้านทางเพศหรือทางด้านร่างกาย  ด้านจิตใจ  หรือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ปัญหาการทารุณกรรมในเด็กปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งการทารุณกรรมที่สำคัญมากๆและพบเป็นจำนวนมาก คือ การทารุณกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะในช่วงระหว่างอายุ  11-15  ปี   เพราะเด็กที่อยู่ในช่วงอายุนี้มักจะถูกหลอกได้ง่ายและเด็กผู้หญิงถูกพบมากกว่า แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มการเกิดการทารุณกรรมในเด็กผู้ชายเพิ่มมากขึ้น จากสถิติที่ศึกษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสอดคล้องกันในแต่ละแห่ง ในอนาคตการทารุณกรรมเด็กระหว่างเพศหญิงต่อเพศชายในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน  และ 50 % ของเด็กที่ถูกทารุณกรรมพบอยู่ในช่วงอายุระหว่าง  11 – 18 ปี  โดยลักษณะการทารุณกรรมแบ่งเป็น 5 ลักษณะ  คือ 1.การทารุณกรรมทางเพศ   2.การทารุณกรรมทางด้านร่างกาย 3.การทารุณกรรมทางด้านจิตใจ  (ซึ่งการทารุณกรรมลักษณะนี้จะวินิจฉัยค่อนข้างยาก)            4.การเลี้ยงดูโดยมิชอบเช่นลักษณะของการปล่อยปะละเลยเด็ก ทำให้เด็กเกิดภยันตราย                  และ 5.ประเด็นนี้มักจะเห็นใกล้ตัวแต่อาจจะละเลยกันไปพอสมควร คือ การแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก  หรือเรียกสั้นๆ ว่า “การค้ามนุษย์” คือการใช้แรงเด็กโดยมิถูกต้อง เช่น ใช้เด็กไปขายของหรือใช้เด็กไปขอทาน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนคือลักษณะของการค้ามนุษย์โดยสิ้นเชิง

พรบ.ฉบับนี้จึงมีขึ้นเพื่อช่วยเด็กให้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น  โดยในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  ได้จัดตั้งศูนย์เพื่อพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 (การดำเนินการของศูนย์ ฯ ดำเนินการมาเป็นเวลานานกว่าสิบปี) ทำหน้าที่ดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเด็กที่ถูกทารุณกรรมมาตลอด   จากสถิติเท่าที่ผ่านมายังไม่ลดจำนวนลงเท่าที่ควร ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบมากถึง  100 ราย/ปี ซึ่งก่อนหน้านี้จะพบเพียง  70-80  ราย/ปี  จากสถิติข้อมูลที่พบ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกทารุณกรรมมาเป็นเวลานานและถูกปิดบัง อีกส่วนหนึ่งพบจากมาตรการการเฝ้าระวังจากศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี  โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  ร่วมมือกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก  จังหวัดเชียงใหม่  โดยการจัดโครงการในลักษณะเฝ้าระวัง ป้องกันในระดับตำบล  เรียกว่า “คณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับตำบล” ทำให้มีการแจ้งเหตุการณ์ได้มากและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการค้นพบเยื้อรายใหม่ๆหรือรายที่ถูกซ้อนเร้นมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การทารุณกรรมของเด็กและเยาวชน จากสถิติระยะเวลาที่ยาวนานเฉพาะในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่นับ 10 ปี มี 3 ช่วง 1.ช่วงแรกจะพบน้อยมาก 40-50 ราย/ปี  2.ช่วงที่สองพบจำนวน 70-80 ราย/ปี และช่วงระยะเวลาที่ 3 ปีพศ. 54-56  พบมากขึ้นเป็น 100 ราย/ปี  โดยรับการส่งต่อเด็กที่ถูกทารุณกรรมจากส่วนต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง  ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้นจึงจัดตั้งศูนย์ขึ้นมาเรียกว่า “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC)”  และได้ทำงานร่วมมือกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี  ให้ความรู้ทางด้านวิชาการ  ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือดูแล  จนกระทั้งปัจจุบันได้สร้างเครือข่ายในแต่ละจังหวัดของกระทรวงสารธารณสุขอีกด้วย

          ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาเด็กถูกทารุณกรรมจะสำเร็จลุล่วงได้อย่างดีต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในสังคมร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ในส่วนของศูนย์ฯ มีการวางแผน 3 ขั้นตอน          1.การเฝ้าระวังและป้องกัน  ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถใช้อำนาจจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก โดยตรง  2.การดูแล รักษา โดยการพยายามหาเครือข่ายการดูแลรักษาทุกระดับตั้งแต่การดูแลทางด้านร่างกาย  และขณะเดียวกันก็ดูแลทางด้านจิตใจควบคู่กันไป  และ 3.การให้ความช่วยเหลือดูแลสภาพความเป็นอยู่ สงเสริมการทำอาชีพตามที่ถนัด และพัฒนาสภาพจิตใจ การเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้องและเหมาะสม ให้ทั้งเด็กถูกทารุณกรรมและครอบครัว  ประธานศูนย์ ฯ (ศ.นพ.ไพฑูรย์ ณรงค์ชัย) ได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กที่ถูกทารุณกรรมและครอบครัว ในมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก   เพื่อให้ความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากความช่วยเหลือจากราชการ ถ้าหากพบเห็นการเกิดเหตุหรือสังสัยพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงแก่เด็กและสตรี สามารถแจ้งเหตุไปที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ( OSCC ) หมายเลขโทรศัพท์ 1300  ซึ่งจะส่งไปยังศูนย์ประจำโรงพยาบาลอำเภอต่าง ๆ และสามารถแจ้งไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือแจ้งไปยังสถานีตำรวจทุกสถานีต่อไป

 

CNX NEWS รายงาน