วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

แพทย์ มช. จัดสัมมนา “อยู่อย่างมีสุขกับมะเร็งต่อมลูกหมาก”

Spread the love

 แพทย์ มช. จัดสัมมนา “อยู่อย่างมีสุขกับมะเร็งต่อมลูกหมาก” 

คณะแพทยศาสตร์ มช.  จัดสัมมนาเรื่อง “อยู่อย่างมีสุขกับมะเร็งต่อมลูกหมาก”  ภัยเงียบที่พบในชายสูงอายุ  โดยในประเทศไทยพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี  จากข้อมูลทางสถิติมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบมากอันดับ 6 ของมะเร็งที่พบในชายไทย ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จัดให้มีขึ้นในวันพฤหัสบดี  ที่ 3 กรกฎาคม 2557 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มช.  โดยพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.วัฒนา    นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.  รศ.นพ.สุริธร สุนทรพันธ์ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เปิดเผยว่า  “มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นภัยเงียบที่มักพบในชายสูงอายุ โดยในประเทศไทยพบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จากข้อมูลทางสถิติพบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบมากอันดับ 6 ของมะเร็งที่พบในชายไทย   ซึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากที่แท้จริงยังไม่ชัดเจน  แต่หลายคนเชื่อว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากฮอร์โมนเพศชายและการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากเติบโตขึ้น  นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะลุกลามแล้วทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแนวทางการรักษาอาจประกอบด้วยการผ่าตัด ฉายรังสี  ใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายและให้ยาเคมีบำบัด  อาการของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มที่ 1  คือ กลุ่มที่ไม่มีอาการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมากเลย  แต่อาจตรวจพบจากการตรวจร่างกายประจำปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น  เมื่อได้รับการรักษาจะสามารถหายขาดจากโรค  กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีอาการต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยมักปัสสาวะผิดปกติจึงมาพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือบางรายอาจเข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมากแล้วพบเซลล์มะเร็งจากการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่มีอาการของมะเร็งโดยทั่วไป ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามร่างกายและกระดูก อาการเหล่านี้เป็นผลจากการลุกลามของมะเร็ง ผู้ป่วยในระยะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นและช่วยป้องกันการลุกลามของมะเร็งได้”

หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า  “เมื่อทราบแน่ชัดว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแนวทางและวิธีการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ระยะของโรค และอายุของผู้ป่วย รวมทั้งการประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย การรักษาในช่วงแรกมักใช้ การผ่าตัด ฉายแสง หรือยาต้านฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วยเพื่อให้ได้ผลดีขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ผลและมะเร็งแพร่กระจายแล้ว    แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือดดำเหมือนการให้น้ำเกลือ เพื่อไปต้านเซลล์มะเร็งและยับยั้งการลุกลามของมะเร็ง หากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแต่เนิ่นๆ ก็สามารถช่วยรักษาโรคได้ดีขึ้น ลดการเจ็บปวดและผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดียาวนาน  ทางด้านสิทธิของผู้ป่วยในการใช้ยารักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ครอบคลุมการรักษาพื้นฐานของมะเร็งต่อมลูกหมากทุกระยะ รวมทั้งการให้ยาเคมีบำบัดในระยะแพร่กระจาย  เนื่องจากเป็นการรักษาที่ช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้  ผู้ป่วยทุกสิทธิ์ในประเทศไทยรวมถึงผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงสามารถเข้าถึงยาเคมีบำบัดมาตรฐานได้ ทั้งนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณาเลือกการรักษาตามความเหมาะสมและเป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป”

รศ.นพ.วัฒนา  นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.
สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ