วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

แพทย์โรคหัวใจ มช. คว้ารางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สหรัฐ

01 ก.ค. 2014
352
Spread the love

แพทย์โรคหัวใจ มช. คว้ารางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สหรัฐ

แพทย์ไทยคว้ารางวัลรองชนะเลิศ “นักวิจัยรุ่นใหม่” ในเวทีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา จากผลงานวิจัยการพัฒนาวิธีการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบใหม่ โดยอาศัยวิธีการกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณลำคอ หวังรักษาผู้ป่วยให้ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ในอนาคต

สกว. —             ดร. นพ.เกริกวิชช์ ศิลปวิทยาทร อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัลรองชนะเลิศในการแข่งขันชิงรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา ในสาขาสรีรวิทยา พยาธิวิทยา และเภสัชวิทยา ประจำปี พ.ศ. 2557 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่คัดเลือกผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดจากทั่วโลกให้เหลือเพียง 5 เรื่อง เพื่อเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมฯ โดยมีคู่แข่งจากโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อาทิ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 63 ปี ที่มีผลงานที่ทำในประเทศไทยตลอดทั้งโครงการถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอในเวทีแห่งนี้

 

 

ผลงานวิจัยของ ดร. นพ.เกริกวิชช์ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ได้พัฒนาวิธีการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบใหม่ โดยอาศัยวิธีการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสซึ่งเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 บริเวณลำคอ เพื่อลดปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายในกรณีที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ทั้งนี้ข้อมูลจากสถาบันโรคทรวงอกพบว่าระหว่างปี 2548-2552 คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจต้องนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยวันละ 1,185 ราย โดยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดประมาณ 470 รายต่อวัน เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกาพบว่ามีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นกล้ามเนื้อขาดเลือดเฉียบพลันมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี แสดงให้เห็นว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่พบได้ทั่วโลกโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาโรงพยาบาลด้วยอาการแน่นบริเวณหน้าอกอย่างรุนแรง เหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปบริเวณกราม แขนซ้ายหรือบริเวณสะบักหลัง ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่คล้ายกับอาการที่พบในผู้ป่วยโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน

 

สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดจากการตีบหรืออุดตันอย่างเฉียบพลันของหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งวิธีการรักษาในปัจจุบันสามารถทำได้โดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น เพื่อรักษาการอุดตันของหลอดเหลือดแดงที่มาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจและป้องกันการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ อย่างไรก็ตามการที่ปล่อยให้เลือดไหลกลับเข้าไปเลี้ยงในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจที่มีการขาดเลือดอยู่นั้นอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อหัวใจได้โดยตรง และทำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจตามมาได้ ซึ่งเรียกว่า “ภาวะบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดจากการที่ปล่อยเลือดกลับไปเลี้ยงใหม่” ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่สามารถป้องกันภาวะนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้

 

ทีมผู้วิจัยพบว่าการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสบริเวณลำคอสามารถลดปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ถึงร้อยละ 59 ในหัวใจของสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นถ้าปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายมีขนาดใหญ่ และหากรอดชีวิตมาได้ก็มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา ซึ่งถือเป็นโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมาก ดังนั้นถ้าแพทย์สามารถลดปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายลงได้ ก็จะสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

เทคนิคการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสบริเวณลำคอนี้ปัจจุบันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาและโรคซึมเศร้า เป็นต้น ในส่วนของโรคหัวใจได้มีการเริ่มนำเอาเทคนิคนี้มาทดลองใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการนำเอาเทคนิคมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผลงานวิจัยขั้นต้นของทีมวิจัยจึงแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำเทคนิคการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสนี้มาใช้ในผู้ป่วยภาวะดังกล่าว โดยผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารฮาร์ทริธึม ซึ่งเป็นวารสารวิชาการอันดับหนึ่งในสาขาโรคทางสรีรวิทยาไฟฟ้าของหัวใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่นักวิจัยทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ของ สกว. ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าดังกล่าว งานวิจัยนี้นับเป็นการค้นพบใหม่ที่สำคัญของโลก อย่างไรก็ตามจะต้องดำเนินการศึกษาทดลองในมนุษย์เพิ่มเติมก่อนจะนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยต่อไป ทั้งนี้ขอแสดงความชื่นชมนักวิจัยและ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งคู่ต่างมีผลงานวิจัยคุณภาพสูงโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักวิจัยท่านอื่น ๆ อีกทั้งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายวิจัยให้เข้มแข็งและสร้างผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขของไทยต่อไป ขณะที่ ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. นพ.นิพนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟ้ฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยไทยสามารถนำผลงานวิจัยของเมืองไทยไปแข่งขันและได้รับรางวัลระดับโลก ความสำเร็จครั้งนี้นอกจากจะนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานงานวิจัยของประเทศไทยให้ขึ้นไปเทียบเท่ามาตรฐานโลกอีกด้วย แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการเปิดโอกาสในการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยในอนาคตอันใกล้

 

อนึ่ง ผู้สนใจต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟ้ฟ้าของหัวใจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.medicine.cmu.ac.th/center/cert/

 

ที่มา http://www.trf.or.th/index.php?option=com_

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ