วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

แพทย์มช.เตือน ระวังงูพิษกัด ช่วงหน้าฝน

Spread the love

แพทย์มช.เตือน ระวังงูพิษกัด ช่วงหน้าฝน

คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เตือนประชาชนระวังงูพิษกัดช่วงฤดูฝน เผยพบผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการรักษาเนื่องจากงูกัด บางรายอาการไม่รุนแรงมากนัก แต่บางรายถึงขั้นเสียชีวิต    

            ศ. นพ. ไพฑูรย์ ณรงค์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาและ อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นฤดูฝน และมีสภาพอากาศร้อนชื้น เหมาะต่อการอยู่อาศัยของสัตว์มีพิษหลายชนิดโดยเฉพาะงู ซึ่งอาศัยอยู่ตามสภาพแวดล้อมใกล้ตัว  ไม่ว่าจะบริเวณสวนข้างบ้าน ทุ่งนา ป่า หรือในน้ำ ทั้งยังพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่ต้องทำนา ทำไร่ ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการพบสัตว์มีพิษได้ง่าย และอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลในตัวเมือง เมื่อถูกงูกัดจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ความสำคัญจึงอยู่ที่การรักษาเบื้องต้น

ทั้งนี้ในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ผู้ป่วยที่เข้ามารักษามักอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง บางรายอาการไม่รุนแรงมากนักเนื่องจากถูกส่งตัวมาพบแพทย์โดยเร็ว และมีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องมาก่อนแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในทุกๆปียังพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกงูพิษกัดจำนวนไม่น้อย   สำหรับงูพิษที่มีความสำคัญทางการแพทย์เพราะมีคนถูกกัดอยู่บ่อยๆ  มี 7 ชนิด ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา และงูทะเลโดยทั่วไปจำแนกพิษของงูได้      4 ประเภท ดังนี้ พิษต่อระบบประสาท ได้แก่พิษของงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา ผู้ที่ได้รับพิษจะทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ ที่สำคัญคือทำให้หยุดหายใจเสียชีวิตได้  พิษต่อโลหิต ได้แก่ พิษของงูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ ทำให้มีเลือดออกตามผิวหนัง เหงือก อาเจียนเป็นเลือด พิษต่อกล้ามเนื้อ ได้แก่ พิษงูทะเล ทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อมาก ปัสสาวะสีดำเนื่องจากกล้ามเนื้อถูกทำลาย และพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่พิษงูเห่า ทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ บางรายรุนแรงถึงเสียชีวิต

อีกทั้งยังพบว่างูพิษที่กัดคนไทยมากที่สุด คืองูกะปะ ซึ่งมีชุกชุมมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ แต่งูประเภทนี้จะอยู่ตามพื้นดิน กัดได้ไม่สูง วิธีป้องกัน ต้องหลีกเลี่ยงการเดินในที่แคบหรือบริเวณที่รกมีหญ้าสูง ถ้าจำเป็นต้องเดินผ่าน ควรใส่รองเท้าบู๊ทหุ้มข้อเท้า สวมกางเกงขายาว เสื้อแขนยาว อีกอย่างที่สำคัญ ประชาชนเองควรมีความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อป้องกัน และทำการรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ทันเวลา ทั้งนี้วิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ถูกงูกัด อย่างแรกคือผู้ที่ถูกกัดต้องตั้งสติให้ดีไม่ควรวิ่งไปมา เพราะจะทำให้พิษกระจายได้เร็วขึ้น ต่อมาควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือล้างแผล และใช้เชือกหรือผ้ามัดเหนือบริเวณแผลที่ถูกงูกัดประมาณ1ข้อ มัดให้แน่นพอสมควร(ใช้นิ้วสอดได้พอดี) และใช้ไม้ช่วยดามไว้ ในระหว่างนำส่ง ทุก15 ถึง 20 นาทีก็คลายผ้าที่มัดไว้ประมาณ 1-2 นาที แล้วมัดใหม่ ที่สำคัญคือห้ามดูดพิษจากแผลที่ถูกงูกัด  เพราะผู้ที่ถูกงูกัดถ้ายิ่งดูดแผล ยิ่งเพิ่มพื้นที่ ที่จะทำให้พิษกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วมากขึ้นอีก ยิ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่ถูกงูกัด ดังนั้นประชาชนที่ต้องทำงานใกล้พื้นที่เสี่ยงควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น และมีความรู้ความเข้าใจในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อที่จะได้ปลอดภัยจากสัตว์มีพิษดังกล่าว

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ