วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

แพทย์มช.เชียงใหม่แนะออกกำลังกายหลีกเลี่ยงโรคข้อเสื่อม

Spread the love

 

แพทย์มช.เชียงใหม่แนะออกกำลังกายหลีกเลี่ยงโรคข้อเสื่อม

แพทย์ มช. แนะออกกำลังกาย

หลีกเลี่ยงโรคข้อเสื่อม

ท่านผู้อ่านที่เคยปวดเข่า คงจะทราบว่ามันทรมานมากขนาดไหน ปวดเวลาเดิน ปวดเวลางอเข่า ปวดตอนนั่งยองๆ ปวดเวลานั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ เรียกว่า “จะลุกก็ปวด จะนั่งก็ปวด” สาเหตุส่วนหนึ่งของอาการปวดเข่านี้คือ โรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม คือการสึกหรอของกระดูกผิวข้อเหมือนการสึกกร่อนของเครื่องยนต์ที่ใช้งานมานาน ผิวข้อที่สึกจะไม่เรียบรื่นหรือมีลักษณะเป็นแผล ทำให้มีอาการปวด โดยลักษณะของข้อเข่าเสื่อมจะมีอาการปวดเวลาเดินลงน้ำหนัก  ปวดเวลาขึ้นลงบันได  ปวดเวลางอเข่า   ข้อฝืด ข้อติด งอเหยียดลำบาก  ปวดเวลานั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ  เข่าเกเข้า หรือเข่าเกออก  และมีเสียงกร๊อบแกร๊บในข้อร่วมกับมีอาการปวด  ซึ่งแนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อม  สามารถปฏิบัติตัวโดยการลดน้ำหนัก  การบริหารร่างกายโดยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อ  ออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ  และการหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดมากๆ หลีกเลี่ยงการงอเข่า เช่น นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ   ส่วนการรักษาด้วยยายาแก้ปวด มีหลายชนิด ที่ปลอดภัยและให้ผลการลดการปวดได้ดีคือ ยาพาราเซตามอล   ยาลดการอักเสบ  มักมีผลข้างเคียงหากใช้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น กระเพาะอักเสบเป็นแผล ไตทำงานลดลง   ยากินเสริมน้ำเลี้ยงข้อเข่าและยาปรับสภาพข้อเข่า มีทั้งชนิดผงละลายน้ำและชนิดเม็ด ผลการรักษายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ประสบการณ์ของผู้ป่วยบางท่านให้ผลค่อนข้างดี   ยาฉีดเข้าข้อ  ปัจจุบันมีสองชนิด คือ สารทดแทนน้ำหล่อเลี้ยงข้อ  และยาฉีดเข้าข้อที่เป็น สเตียรอยด์    เมื่อไหร่ควรได้รับการผ่าตัด  โดยทั่วไปจะพิจารณาเมื่อการรักษาโดยวิธีการปฏิบัติตัวและการรับประทานยาไม่ได้ผล หรือมีผลข้างเคียงจากการรับประทานยา   หรือทำให้เกิดความทุกข์ทรมานไม่สามารถใช้งานหรือช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้

การผ่าตัดมีวิธีไหนบ้าง

       1. ผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก โดยการตัดและต่อกระดูกให้แนวการลงน้ำหนักเปลี่ยนไปลงบริเวณผิวข้อที่ยังดีอยู่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และยังมีการเสื่อมของข้อไม่มาก

       2. การเปลี่ยนผิวข้อบางส่วนเฉพาะบริเวณที่สึกหรอ  วิธีนี้มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่น ผิวข้อต้องสึกเพียงบางส่วน การเคลื่อนไหวของข้อต้องดี หรือแนวกระดูกต้องไม่ผิดรูปมากเกินไป

       3. การเปลี่ยนผิวข้อเทียมทั้งหมด โดยแพทย์จะทำการตัดผิวข้อที่สึกออก แล้วใส่ข้อเทียมซึ่งเป็นโลหะที่มีความเรียบลื่นยึดติดกระดูกด้วยวัสดุคล้ายซีเมนต์ และแทรกด้วยแผ่นพลาสติกชนิดพิเศษเพื่อรองรับน้ำหนัก

ตามที่แจ้งไว้ตอนต้นของบทความนะครับว่า ร่างกายคนเราก็เหมือนรถยนต์ ซึ่งในวันใดวันหนึ่ง เครื่องยนต์ก็อาจจะเสียหรือรวนได้ ซึ่งข้อเข่าเสื่อมคือการสึกหรอของกระดูกผิวข้อ เปรียบเหมือนการสึกกร่อนของเครื่องยนต์ที่ใช้งานมานาน จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม ดังนั้นอย่าลืมดูแลร่างกายของเราให้ดีนะครับ


 

ข้อมูลโดย…    นพ.ภูธร  สังขรักษ์  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อ

 คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ