วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

แบงก์ออมสินดึงเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.

Spread the love

แบงก์ออมสินดึงเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.“ลักษณ์” ขอหารือคลัง เบรคจ่ายเงินชาวนา 

แบงก์ออมสินดึงเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านคืน หลังลูกค้าแห่ถอน 3 หมื่นล้าน – “ลักษณ์” ขอหารือคลัง เบรคจ่ายเงินชาวนา พร้อมแจงศาลรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่แผนการจัดหาเงินกู้จำนำข้าวลอตแรกไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีสถาบันการเงินรายใดมายื่นซองประมูลปล่อยเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวันที่ 30 มกราคม 2557 แต่ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีก็ไม่ละความพยายาม ยังคงเดินหน้าจัดหาเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาทลอตที่ 2 มาให้ ธ.ก.ส. ใช้ในโครงการจำนำข้าว ปี 2556/57 คาดว่ากระทรวงการคลังจะเริ่มโอนเงินมาให้ ธ.ก.ส. ได้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2557

ระหว่างที่รอเงินกู้จำนำข้าวลอตที่ 2 ปรากฏกระแสข่าวว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำบันทึกความเข้าใจ (letter of comfort) เพื่อค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ไปกู้ยืมเงินในตลาดกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร หรือ “อินเตอร์แบงก์” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งธนาคารออมสินแถลงข่าวด่วนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ว่าได้ปล่อยเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ไปแล้ว 5,000 ล้านบาท

พอเปิดทำการวันแรก 17 กุมภาพันธ์ 2557 ลูกค้าของธนาคารออมสินจำนวนมาก ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคใต้ แห่กันไปถอนเงินวันเดียว 30,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีลูกค้านำเงินมาฝาก 10,000 ล้านบาท เมื่อหักลบกันแล้ว วันนี้มีรายการถอนสุทธิ 20,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับวันแรกที่ธนาคารเปิดทำการหลังผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาว ซึ่งมักจะมีลูกค้ามาถอนเงินสูงสุดไม่เกิน 7,000 ล้านบาทเท่านั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้จึงถือว่าไม่ปกติ เพราะมีลูกค้าถอนเงินฝากสูงกว่าช่วงเวลาดังกล่าวถึง 3 เท่าตัว

ในช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการจัดหาเงินกู้เพื่อนำมาใช้ในโครงการจำนำข้าวนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนเปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถาม โดยนายลักษณ์อธิบายถึงที่มาของแหล่งเงินจำนำข้าวนาปี 2556/57 ว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) วันที่ 3 กันยายน 2556 และวันที่ 21 มกราคม 2557 ซึ่งระบุว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาเงินมาให้ ธ.ก.ส. ใช้ในการจำนำข้าว โดยที่มาหลักๆ มี 3 แหล่ง คือ

1. เงินที่ได้จากการระบายข้าวและผลิตผลทางการเกษตร

2. เงินกู้ยืมที่กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหา ตามมติ ครม. วันที่ 21 มกราคม 2557 ได้อนุมัติวงเงินใหม่ให้ ธ.ก.ส. ใช้ในโครงการจำนำข้าวปี 2556/57 อีก 130,000 ล้านบาท เมื่อนำไปรวมกับกรอบวงเงินตามมติ ครม. เดิม ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมที่กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหา 410,000 ล้านบาท และสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท สรุปโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 ธ.ก.ส. มีแหล่งเงินสนับสนุนทั้งสิ้นไม่เกิน 630,000 ล้านบาท นอกจากนี้มติ ครม. ยังระบุอีกว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามบริหารจัดการโดยการปรับลดทุนหมุนเวียนลงมาไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ภายในวันที่ 31 มกราคม 2557

3. สำนักงบประมาณจัดสรรงบฯ มาชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย รวมทั้งผลขาดทุนหรือส่วนต่างราคาซื้อ-ขายข้าว

“ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ยึดมั่นในหลักการตามที่กำหนดไว้ในมติ ครม. มาโดยตลอด คือ กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. เพื่อนำเงินไปจ่ายให้ชาวนา ไม่มีการใช้เม็ดเงินสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. หรือเงินฝากประชาชน การดำเนินการจัดหาเงินกู้และนำเงินไปจ่ายให้ชาวนาจะถูกบันทึกไว้ใน “บัญชีธุรกรรมตามนโยบายสาธารณะ” (public service account) เพื่อรอการจัดสรรงบฯ จากรัฐบาลกรณีขาดทุน” นายลักษณ์กล่าว

นายลักษณ์กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงการคลังเริ่มจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ครั้งแรกโดยเชิญสถาบันการเงินกว่า 30 แห่งมายื่นซองประกวดราคาปล่อยเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. วันที่ 30 มกราคม 2557 ปรากฏว่าไม่มีสถาบันการเงินรายใดมายื่นซองประมูล กระทรวงการคลังจึงคิดแผนการจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ใหม่ คาดว่าจะเริ่มส่งเงินให้ ธ.ก.ส. ได้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2557ดังนั้น ในระหว่างที่รอเม็ดเงินจากแผนกู้เงินหลักของกระทรวงการคลัง และเงินระบายข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังให้ ธ.ก.ส. ไปกู้เงินในตลาดอินเตอร์แบงก์ ขอย้ำว่าเป็นมาตรการชั่วคราว ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ธ.ก.ส. จึงไปกู้เงินจากธนาคารออมสินมา 5,000 ล้านบาท ผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ แต่เมื่อเกิดปัญหาลูกค้าของ ธ.ก.ส. และออมสินไม่เชื่อมั่น ธ.ก.ส. จึงไม่จ่าย 5,000 ล้านบาทให้กับชาวนา โดยขอหารือกับกระทรวงการคลังก่อนที่จะดำเนินการต่อไป

“ผมขอเน้น การกู้เงินผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ครั้งนี้เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 21 มกราคม 2557 ข้อที่ 2 คืออนุมัติวงเงินค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. 1.3 แสนล้านบาท และข้อที่ 3 ให้อำนาจกระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการกู้เงินมาให้ ธ.ก.ส. ซึ่งการกู้ยืมเงินผ่านอินเตอร์แบงก์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่กำหนดอยู่ในแผนการจัดหาเงินของกระทรวงการคลัง วิธีการกู้เงินครั้งนี้มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามมติ ครม.” นายลักษณ์กล่าว

จากนั้น ผู้สื่อข่าวถามนายลักษณ์ว่า กรณีรักษาการรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ ธ.ก.ส. เข้าไปกู้เงินในตลาดเงินขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 180,181(3) หรือไม่ นายลักษณ์ตอบว่า “ลึกๆ ขออนุญาตไม่ตอบ แต่อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ดำเนินการโดยพลการ การพิจารณามีหลักการใหญ่ดังนี้

1. เรื่องจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศต่อสาธารณะอย่างชัดเจน
2. มีมติ ครม. ให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินจำนำข้าว
3. มีผลการวินิจฉัยของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3)
4. คณะกรรมการ ธ.ก.ส. มีการพิจารณาเรื่องการกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์ 3 ครั้ง และออกเป็นมติบอร์ดชัดเจน คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ ธ.ก.ส. ก็พิจารณาเรื่องนี้ 4 ครั้ง คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของ ธ.ก.ส. ก็พิจารณาเรื่องนี้ 3 ครั้ง”

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มเกษตรกรภาคกลาง ชุมนุมประทวง เรียกร้องให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส. ) เร่งจ่ายเงินจำนำข้าว

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มเกษตรกรภาคกลาง ชุมนุมประท้วง เรียกร้องให้ ธ.ก.ส. เร่งจ่ายเงินจำนำข้าว

“ดังนั้น กรณีการกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์ครั้งนี้ ธนาคารพิจารณาอย่างรอบครอบ ที่สำคัญที่สุด ธ.ก.ส. ต้องดูแลความเดือดร้อนของเกษตรกร พี่น้องเกษตรกรทำนามา 5-6 เดือน หวังรายได้ในส่วนนี้มาก ถ้าไม่มีรายได้ส่วนนี้มาให้ ชาวนาลำบากมาก ตาม พ.ร.บ. ของ ธ.ก.ส. กำหนดให้ธนาคารมีหน้าที่จัดหาเงินช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งหมดทำภายใต้มติ ครม. และมติบอร์ดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในอนาคตหากมีผู้นำประเด็นการจัดหาเงินไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเข้าข่ายมาตรา 181(3) หรือทำผิดกฎหมาย ผมจะนำเอกสารทั้งหมดที่ผ่านการพิจารณาตามที่กล่าว ขอความอนุเคราะห์จากศาลรัฐธรรมนูญ หากมีผู้ไปร้องต่อศาล ทั้งหมดธนาคารทำด้วยจิตสำนึกว่าเป็นธนาคารเพื่อการเกษตร ดูแลเกษตรกร และดูแลผู้ฝากเงิน” นายลักษณ์กล่าว

นายลักษณ์กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ไม่ได้มีปัญหาขาดสภาพคล่องใดๆ ทั้งสิ้น แต่การกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์ ธนาคารดำเนินการตามมติ ครม. วันที่ 21 มกราคม 2557 ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาเงินกู้ สามารถกำหนดวิธีการกู้เงินอย่างไรก็ได้ กรณีการกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์เป็นมาตรการชั่วคราวระหว่างรอแผนการกู้เงินหลักและเงินระบายข้าว การกู้เงินของ ธ.ก.ส. ครั้งนี้อยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อเกิดปัญหาถอนเงินที่ธนาคารออมสิน ทาง ธ.ก.ส. จะยังไม่จ่ายเงินที่รับมาจากออมสิน 5,000 ล้านบาท ขอหารือกระทรวงการคลังภายใน 1-2 วัน แต่ระหว่างนี้ ธ.ก.ส. ก็ยังจ่ายเงินให้ชาวนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจ่ายไปแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า เลขาธิการกฤษฎีกาบอกว่าทำได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตือนว่าถ้ามีองค์กรอิสระตีความว่าผิดรัฐธรรมนูญรัฐมนตรีต้องรับโทษ ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ทั้งรัฐมนตรี ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย นายลักษณ์กล่าวว่า “ก็ไม่ได้วิตกกังวลอะไร ในความเห็นของผม เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาล มีมติ ครม. และมติบอร์ด มีเลขาธิการกฤษฎีกา ดูทุกประเด็นรวมถึงการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ทำให้ผมตัดสินใจปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายมา คือ จ่ายเงินให้พี่น้องชาวนาที่เดือดร้อน 1 ล้านราย สิ่งเหล่านี้จะนำไปขอความเมตตาจากศาลรัฐธรรมนูญถ้ามีผู้ไปฟ้องร้องต่อศาล ถ้าไม่มีการร้องก็จบไป เรื่องนี้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร การตีความเพื่อห้ำหั่นกันผมไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย แต่ผมเห็นว่าชาวนาเดือดร้อนมาก เขาไม่มีทางออก คิดสั้น ผมสะเทือนใจมาก และผมก็ทำหน้าที่ภายใต้กรอบทั้งหมดที่ว่า”

นายลักษณ์กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่อง แต่ธนาคารต้องเตรียมกันวงเงินเอาไว้เพื่อดูแลเกษตรกรในฤดูการผลิตต่อไป เงิน 5,000 ล้านบาทที่ได้มาจากออมสินจะนำไปจ่ายให้ชาวนาตามมติ ครม. ธนาคารจะไม่นำเงินฝากของประชาชนไปใช้ในโครงการจำนำข้าว เงินก้อนนี้จะเข้าไปอยู่ในบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ ธ.ก.ส. ทำตามมติ ครม. วันที่ 21 มกราคม 2557 ทั้ง 3 ข้อ

ผู้สื่อข่าวถาม ปกติ ธ.ก.ส. กู้เงินจากธนาคาร หรือออกพันธบัตร โดยมีการกระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่การกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์ครั้งนี้ไม่มีเอกสารสัญญาการค้ำประกันอย่างเป็นทางการเลย นายลักษณ์ตอบว่า “ประเด็นนี้ผมตอบแทนกระทรวงการคลังไม่ได้ แต่ได้ทำตามกรอบมติ ครม. ทั้ง 3 ข้อ และมีผู้บริหารกระทรวงการคลังรับทราบเรื่องหลายท่าน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ รับทราบเรื่องทั้งหมด ธนาคารได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน P/N ให้ออมสิน”

ผู้สื่อข่าวถามผู้จัดการ ธ.ก.ส. ว่า เห็น letter of comfort หรือไม่ นายลักษณ์ตอบว่า “เห็นครับ ผมเห็นเอกสารทั้งหมด แต่ขอความกรุณาให้ผู้สื่อข่าวไปถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเสียมารยาทถ้าไปพูดแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง”

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งระบายข้าวและส่งเงินมาชำระคืนมากกว่าแผนงานเดิมที่วางไว้ เช่น เดือนมกราคม จากเดิมคาดว่าจะส่งมาชำระหนี้ประมาณ 3,500 ล้านบาท แต่สามารถส่งมาชำระคืนได้ถึง 10,036 ล้านบาท ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ขณะนี้ส่งมาชำระคืนแล้ว 6,269 ล้านบาท จึงคาดว่านับจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งระบายข้าวและส่งเงินมาชำระคืนโดยเฉลี่ยเดือนละ 8,000 – 10,000 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. ก็จะเร่งทยอยจ่ายเงินดังกล่าวให้กับเกษตรกรตามลำดับก่อนหลังการนำใบประทวนมาแจ้งขอรับเงินจาก ธ.ก.ส. ไว้แล้วอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร

สำหรับ การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ธ.ก.ส. ได้ทยอยจ่ายเงินดังกล่าวให้เกษตรกรไปแล้ว 62,994ล้านบาท คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกจำนวน 3.91 ล้านตันเกษตรกร 512,118 ราย คงเหลือเงินที่ต้องจ่ายประมาณ 116,000 ล้านบาท ปริมาณข้าวประมาณ 6.7ล้านตัน เกษตรกรประมาณ 900,000 ราย

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

หลังจากเกิดเหตุการณ์ลูกค้าธนาคารออมสินแห่ถอนเงิน ในเวลา 16.30 น. ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ธนาคารออมสินเปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีปล่อยเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาทผ่านอินเตอร์แบงก์ โดยนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยอมรับว่าในวันนี้มีลูกค้ามาถอนเงินฝากเป็นจำนวนมากผิดปกติ ที่ผ่านมาในช่วงวันหยุดยาว เปิดทำการวันแรกจะมีลูกค้ามาถอนเงินมากกว่าฝากเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาท แต่หลังจากที่ธนาคารปล่อยกู้ ธ.ก.ส. ผ่านอินเตอร์แบงก์ไป 5,000 ล้านบาท ปรากฏว่ากระแสตอบรับจากลูกค้าไม่ค่อยดี มีลูกค้ามาถอนเงิน 30,000 ล้านบาท และนำเงินมาฝาก 10,000 ล้านบาท สรุปวันนี้มียอดถอนสุทธิ 20,000 ล้านบาท มากกว่าปกติถึง 3 เท่าตัว

“ในการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้อินเตอร์แบงก์ ธนาคารออมสินมีหลักอยู่ 4 ข้อ คือ 1. วัตถุประสงค์ของธนาคารที่มาขอกู้ ต้องนำไปใช้เสริมสภาพคล่องเท่านั้น 2. สภาพคล่องของออมสินเองต้องมีเหลือพอที่จะไปลงทุน 3. ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ออมสินจะได้รับจากการปล่อยกู้ และ 4. ที่ผมเพิ่มเข้าไปคือกระแสการตอบรับจากลูกค้า หากมีความเคลือบแคลงสงสัย ผมคงจะหยุดปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. ขณะเดียวกัน ณ วันที่ ธ.ก.ส. มาขอกู้เงินจากออมสิน แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะนำไปเสริมสภาพคล่อง แต่ต่อมาทราบในภายหลังว่า ธ.ก.ส. ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง และจะนำเงินจำนวนนี้ไปจ่ายให้ชาวนา เมื่อผิดวัตถุประสงค์ข้อแรก ผมจะต้องเรียกเงิน 5,000 ล้านบาท จาก ธ.ก.ส. คืน ซึ่งในขณะนี้ทราบว่าทาง ธ.ก.ส. ยังไม่ได้นำเงินจำนวนนี้ไปจ่ายให้ชาวนา” นายวรวิทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีผู้ร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญว่าการจัดหาเงินของกระทรวงการคลังครั้งนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ 181(3) ผู้บริหารออมสินต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ นายวรวิทย์ตอบว่า “การกู้ยืมเงินผ่านอินเตอร์แบงก์เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารกับธนาคาร ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล จะไปเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) ได้อย่างไร ผมไม่เคยรับทราบว่าการกู้เงินครั้งนี้ กระทรวงการคลังออกเป็นหนังสือค้ำประกันเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. และไม่เคยเห็น letter of comfort ผมเห็นเฉพาะหนังสือที่ ธ.ก.ส. แสดงเจตจำนงขอกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์ และ ธ.ก.ส. ได้ออกตั๋ว P/N ระบุว่าออมสินเป็นเจ้าหนี้ ส่วน ธ.ก.ส. เป็นลูกหนี้ โดยไม่มีการค้ำประกันใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งวันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 13.00 น. ผมจะนำเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปแสดงต่อที่ประชุมกรรมาธิการ วุฒิสภา”

นายวรวิทย์กล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงกระทรวงการคลังส่งจดหมายเชิญออมสินให้ร่วมปล่อยเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. วันที่ 30 มกราคม 2557 ออมสินก็ไม่เข้าร่วมการประมูล เพราะฝ่ายกฎหมายของธนาคารมีความเห็นว่า กรณี ธ.ก.ส. กู้เงินแบบ term loan วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน อาจจะเข้าข่ายมาตรา 181(3) ธนาคารจึงไม่เข้าร่วมประมูล แต่กรณีการปล่อยกู้ผ่านอินเตอร์แบงก์ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร แต่ต่อมาทราบว่า ธ.ก.ส. นำเงินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ วันนี้ธนาคารออมสินก็ต้องหยุดปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. ไว้ก่อน พร้อมกับทวงเงินคืน

ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวต่อไปอีกว่า วันนี้ผมก็ยอมรับว่ามีการถอนเงินเกิดขึ้นจริง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ธนาคารไม่มีตู้นิรภัย เพื่อเก็บเงินสดไว้เป็นจำนวนมากๆ หลายสาขาเงินสดหมด ต้องจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค ปกติออมสินจะสำรองเงินสดประมาณ 10% ของยอดเงินฝากแต่ละสาขา ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ธนาคารจะเพิ่มการสำรองเงินสดเป็น 2 เท่า ทั้งนี้เพื่อรองรับการถอนเงินของลูกค้าแต่ละสาขา

“อย่างไรก็ตาม เมื่อธนาคารออมสินออกมาชี้แจงว่าไม่ดำเนินการปล่อยกู้ ธ.ก.ส. ผ่านอินเตอร์แบงก์ต่อไป การดำเนินการดังกล่าวมีผลต่อความรู้สึกของลูกค้า ธนาคารก็ต้องหยุดทำ ผมเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น” นายวรวิทย์กล่าว

หมอวรงค์ หอบหลักฐานชี้แจง ป.ป.ช. มั่นใจ “ยิ่งลักษณ์” ไม่รอดคดีทุจริต

หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการไต่สวน “น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในกรณีโครงการจำนำข้าวที่มีเหตุควรสงสัยตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557

ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2257 น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้าให้ถ้อยคำในต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ในฐานะเป็นผู้ร้องกรณีร้องถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)ที่ละเลยไม่ดำเนินการยับยั้งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง

น.พ.วรงค์ เปิดเผยภายหลังเข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ว่าได้ชี้ประเด็นหลัก 2 เรื่องคือ การกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำทุจริตต่อหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว และเรื่องการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งในข้อหากระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตนนำหลักฐานทั้งเอกสารและคลิป จำนวน 5 คลิป มาให้ป.ป.ช. เพื่อชี้ให้เห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีและประธานกขช.ต้องทำหน้าที่ในการควบคุมกำกับและติดตามในโครงการนี้

โดยสิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือน.ส.ยิ่งลักษณ์รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการระบายข้าวที่เป็นเรื่องของการทุจริตและรับรู้สภาพของโครงการทั้งหมด ความเสียหายของโครงการในฐานะความเป็นนายกรัฐมนตรีต้องจัดการแก้ไขปัญหา เช่นระงับ ยับยั้งโครงการ ดังนั้นนายกฯปฏิเสธใดๆไม่ได้

“โครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายใหญ่หลวง โครงการขาดสภาพคล่องจนไม่มีเงินจ่ายชาวนา จนชาวนาต้องฆ่าตัวตาย นี่ถือว่านายกฯทุจริตต่ออำนาจหน้าที่ และเมื่อทำผิดกฎหมายต้องเชื่อมโยงไปสู่เรื่องการถอดถอนด้วย” นพ.วรงค์กล่าว

สำหรับ 5 คลิปที่นำไปให้ป.ป.ช.นั้น นพ.วรงค์กล่าวว่าเพื่อโยงให้เห็นขบวนการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เป็นหลักฐานที่ชัดเจนมาก ซึ่งมั่นใจว่ามีความชัดเจนอย่างมากตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ใน 5 คลิป ส่อให้เห็นว่าโครงการนี้ทุจริตในทุกขั้นตอน รวมทั้งนายกฯรับรู้เรื่องการขายข้าวแบบจีทูจีแต่กลับละเลย ทำไมปล่อยให้เสียหายมากขนาดนี้โดยไม่ระงับยับยั้ง

น.พ.วรงค์กล่าวว่า ประเด็นที่ป.ป.ช. ถามมากที่สุดคือ ตัวนายกรัฐมนตรี ในการเชื่อมโยงให้เห็นว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นรวมทั้งการทุจริตต่ออำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนสามารถสื่อให้ป.ป.ช.ได้รับทราบในส่วนเหล่านี้ได้ โดยส่วนหนึ่งเป็นเอกสารที่เป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด เช่น คำสั่งนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งอนุกรรมการและกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับคนที่ต้องรับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าว และในฐานะประธานกขช. นายกฯก็ต้องควบคุม กำกับ ติดตามอยู่แล้ว

“เชื่อว่าจะสามารถปิดเกมเรื่องนี้ได้เร็ว และจากหลักฐานที่เรามีนั้นทำให้มั่นใจมากว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่สามารถตอบหรือชี้แจงในประเด็นที่เราให้ไปได้อย่างแน่นอน ต่อให้ใช้นักกฎหมายมือดีของรัฐบาลก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์โดนแน่ เพราะการทุจริตนั้นมี 2 อย่าง คือการทุจริตแบบสมรู้ในเรื่องการระบายข่าวแบบจีทูจี และการทุจริตต่อหน้าที่ในโครงการใหญ่ ตามมาตรา 157 ฉะนั้นตนคิดว่าภายในเดือนนี้น่าจะปิดได้แล้ว เพราะป.ป.ช.มีข้อมูลที่แน่นมาก” น.พ.วรงค์กล่าว

 

ขอบคุณที่มา http://thaipublica.org/2014/02/financing-the-rice-pledging-scheme-9/

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน