วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

แถลงสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน

Spread the love

 

                    รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและ ผวจ.เชียงใหม่ร่วมแถลงสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล


       หลังการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม และอ่างเก็บน้ำแม่ขาน” จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวภาพรวมของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ต่อสื่อมวลชนที่ร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.56 ที่ผ่านมา  เวลา 16.00 น.  ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่  นายจำเริญ  ยุติธรรมสกุล รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี นายวิเชียร  พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ  พล.ต.ต.กริช  กิติลือ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมการแถลงข่าวภาพรวมผลการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการก่อสร้าง “อ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม และอ่างเก็บน้ำแม่ขาน” จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล โดยรองหัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นไประเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ซึ่งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวเชียงใหม่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมากกว่าทุกจังหวัดที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2556 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ๆ แรก ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม และพื้นที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จำนวน 2,000 คน กลุ่มที่ 2 เป็นประชาชนผู้สนใจและมีการลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เว็บไซต์ www.wateropm.org ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มประชาชนที่สนใจและเดินทางมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยไม่มีการลงทะเบียนล่วงหน้า ทั้งนี้เนื่องจากช่วงเวทีการจัดเวทีมีจำกัด ดังนั้น หลังจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้แล้ว จึงได้มอบหมายให้สมาคมสถิติแห่งประเทศไทยจัดเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่สำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง นอกจากนั้นประชาชนยังสามารถเขียนจดหมายร่วมแสดงความคิดเห็นส่งไปที่ ตู้ ปณฝ. 9 ทำเนียบรัฐบาล หรือส่งผ่านนายอำเภอ และ  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะส่งต่อไปให้รัฐบาลรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนต่อไป

ด้านนายวิเชียร  พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในวันนี้พี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ให้ความสำคัญต่อการเดินทางมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล เป็นจำนวนมาก แยกเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่โครงการ 2,000 คน กลุ่มผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า ซึ่งมีการลงทะเบียนไว้จำนวน 2,883 คน มาร่วมเวทีจริง 2,312 คนซึ่งอาจประสบปัญหาเรื่องการเดินทางเนื่องจากเกิดฝนตกในหลายพื้นที่ ส่วนกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นประชาชนที่สนใจเดินทางมาร่วมเวทีโดยไม่มีการลงทะเบียนล่วงหน้าอีก 663 คน  ซึ่งรวมประชาชนทั้ง 3 กลุ่มแล้วมีจำนวน 4,975 คน โดยภาพรวมของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการแสดงความคิดเห็นตามกรอบกติกาตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนผลการประชุมย่อยของประชาชนในช่วงบ่ายที่แบ่งออกเป็น 20 ห้อง มีประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยผู้ที่เห็นด้วยเห็นว่าแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของรัฐบาลเป็นโครงการที่ดีที่จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งของประเทศได้เป็นอย่างดี ส่วนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าจะส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ หากมีการก่อสร้างจริงแล้วจะย้ายถิ่นฐานประชาชนในพื้นที่ไปไว้ในพื้นที่ใด รวมทั้งรัฐบาลควรกำหนดแผนการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบให้ชัดเจนด้วย นอกจากนั้นหากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม จะส่งผลกระทบถึงพื้นที่ผาวิ่งชู้ซึ่งมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยจะถูกทำลาย รวมทั้งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชนดังกล่าวด้วย ส่วนด้านข้อมูลการก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวยังมีการประชาชนให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบน้อยอยู่ จึงควรมีการเข้าไปประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น รวมทั้งควรมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนพื้นที่ตั้งโครงการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริงด้วย เพื่อร่วมกันหาทางออกหรือทางเลือกในการดำเนินการต่อไป นอกจากนั้นยังเสนอให้เป็นการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็กน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สำหรับข้อมูลการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดคณะทีมวิทยากรซึ่งเป็นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยจะร่วมกันสรุปผล จากนั้นจะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนให้ประชาชนได้ รับทราบต่อไป

พล.ต.ต.กริช  กิติลือ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงมาตรการการรักษาความสงบและความปลอดภัยแก่ประชาชนที่เดินทางมาร่วมแสดงความคิดเห็นในวันนี้ว่า เป็นการร่วมงานระหว่างตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง และเจ้าหน้าที่ รปภ.ของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ    พระชนมพรรษา ซึ่งการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกทั้งด้านในอาคารซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และบริเวณด้านนอกอาคาร แม้ว่าจะมีกลุ่มนักศึกษา และประชาชนได้ชูป้ายแสดงความคิดเห็นมาตามถนนก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะยังคงมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนให้ครบทั้ง 76 จังหวัดของประเทศซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 6 ธันวาคม 2556 ซึ่งในส่วนของสมาคมสถิติแห่งประเทศไทยก็จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วยเช่นกัน และหลังจากสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ก็จะนำข้อมูลการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศมาสรุปเป็นรายจังหวัด รายลุ่มน้ำ และประชาสัมพันธ์ให้ทราบภายใน 15 วัน ดังนั้นหากประชาชนยังต้องการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมก็สามารถส่งเข้าไปได้ทาง ตู้ ปณฝ.9 ทำเนียบรัฐบาล ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2282-2284-6 หรือที่ www.wateropm.org

 

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน