วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

เหลือเชื่อ ตลาดเด็ก การค้าใหม่ของโลก

Spread the love

scoop213

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS สวัสดีปีใหม่ 2560

เหลือเชื่อ ตลาดเด็ก การค้าใหม่ของโลก

            

                ท่านผู้อ่านครับ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญของประชากรโลกในคริสศตวรรษที่ 21 คือ ประชากรในหลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป) หรือ Aging Society แต่ ข้อมูลล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) พบว่า แม้จำนวนประชากรผู้สูงอายุโลกจะมีอัตราขยายตัวสูง  ยังมีกลุ่มผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ประชากรวัยเด็กโลก (อายุระหว่าง 0-14 ปี) เพราะมีจำนวนสูงถึงราว 1.92 พันล้านคนในปี 2558 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก หรือมากกว่าประชากรผู้สูงอายุกว่า 2 เท่าตัว และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 1.98 พันล้านคน ในปี 2563 และพุ่งแตะระดับ 2.01 พันล้านคน ในปี 2568 ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาใส่ใจเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศของตนมากขึ้น เพราะกังวลว่าโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเกิด ปัญหาขาดแคลนแรงงานหรือมีภาระค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคต และ จีน (ประเทศที่มีประชากรวัยเด็กสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก) ประกาศยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy) หลังบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522 และอนุญาตให้ทุกครอบครัวสามารถมีลูก คนที่สองได้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้ภาพรวมจำนวนประชากรวัยเด็กของจีนและของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

              ฉบับนี้จึงขอนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ World Children Population หรือประชากรวัยเด็กโลกซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพขับเคลื่อนตลาดสินค้าและบริการของโลกในอนาคตอันใกล้

           ทั้งนี้ มีรายงานจากสหประชาชาติว่าผู้บริโภควัยเด็กของโลกกระจุกตัวอยู่ใน 10 ประเทศ  คาดว่าประชากรวัยเด็กของโลกปี 2568 จะมีจำนวนราว 2.01 พันล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งโลก และพบว่าประชากรเด็กทารก (อายุ 0-4 ปี) มีจำนวนมาก ที่สุดราว 673 ล้านคน หรือราว 34% ของจำนวนประชากรวัยเด็กของโลก

หากแยกเป็นรายประเทศแล้วพบว่าประเทศที่มีประชากร วัยเด็กสูงสุด 10 อันดับแรกของโลก มีจำนวนประชากรวัยเด็กรวมกันมากกว่า 54% ของจำนวนประชากรวัยเด็กของโลก โดยอินเดียเป็น ประเทศที่มีประชากรวัยเด็กสูงสุดของโลกราว 367.8 ล้านคน รองลงมา คือ จีน (230.1 ล้านคน) และไนจีเรีย (98.2 ล้านคน) ทำให้กลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นตลาดสินค้าและบริการสำหรับเด็กขนาดใหญ่ของโลก

 ส่วนสินค้าและธุรกิจบริการสำหรับเด็กที่มีศักยภาพในการขยายตัวอาหารสำหรับเด็ก โดยเฉพาะอาหารสำหรับเด็กทารก (อายุ 0-4 ปี) ล่าสุด Allied Market Research คาดว่าตลาดอาหาร

สำหรับเด็กทารก (นมผงสำหรับเด็กทารก อาหาร และขนมพร้อมรับประทานสำหรับเด็กทารก) จะมีมูลค่าราว 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2558-2563 โดยจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวและพบว่านมผงสำหรับเด็กทารกครองส่วนแบ่งสูงสุดถึง 2 ใน 3 ของมูลค่าตลาดอาหารสำหรับเด็กทารกทั้งหมด เนื่องจากคุณแม่ยุคใหม่ มักต้องรับหน้าที่เลี้ยงดูบุตรไปพร้อมๆ กับทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ ทำให้ไม่มีเวลาให้นมบุตรได้เพียงพอ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว พ่อแม่ยังยินดีที่จะจ่ายเงินซื้ออาหารราคาสูงขึ้น หากมั่นใจว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและมีประโยชน์ ต่อเด็ก

               เพราะฉนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณากันแล้วว่าอาหารสำหรับเด็กทารก เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของตลาดอาหารสำหรับเด็กทารก ทำให้ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะนมผงสำหรับเด็กที่มีส่วนผสมพิเศษ เช่น วิตามิน A วิตามิน B วิตามิน D ธาตุเหล็ก และ Alpha Lactalbumin เพื่อให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง และช่วยเสริมพัฒนาการระบบ ประสาทและสมอง ขณะเดียวกันวิถีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ พ่อแม่จึงไม่ค่อยมีเวลาเตรียมอาหารให้ลูก ทำให้ความต้องการอาหารพร้อมรับประทานสำหรับเด็กทารกเพิ่มขึ้น เช่น ฟักทองผสมข้าวโพดหรือมันฝรั่งบด ข้าวโพดผสมเนื้อไก่บดที่ละลายทันทีเมื่อเข้าปากจึงเหมาะสำหรับเด็กทารกที่เพิ่งเริ่มรับประทานอาหาร และสะดวกในการนำไปประกอบอาหารให้เด็ก ขณะพาเด็กออกไปทำกิจกรรม นอกบ้าน

             – เสื้อผ้าสำหรับเด็ก ประชากรวัยเด็กเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ขนาดร่างกายเติบโตอย่างรวดเร็ว เทียบกับผู้บริโภควัยอื่นๆ ทำให้ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่แทบทุกปี ขณะเดียวกันการขยายตัวของชนชั้นกลางในหลายประเทศ ทำให้พ่อแม่ยุคใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นนิยมเลือกซื้อเสื้อผ้าสำหรับเด็กตามกระแสแฟชั่นโลกมากขึ้น ทั้งนี้ Fashion Business Intelligence คาดว่าตลาดเสื้อผ้าสำหรับเด็กของโลกจะมีมูลค่า 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 ด้วยศักยภาพและขนาดของตลาดส่งผลให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ชั้นนำของโลกหลายรายหันมาเพิ่ม Segment เสื้อผ้าเจาะกลุ่มลูกค้าวัยเด็กมากขึ้น ขณะที่บางแบรนด์แยกร้านจำหน่ายเสื้อผ้าสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อจูงใจและอำนวยความสะดวกให้พ่อแม่เข้ามาเลือกซื้อเสื้อผ้าให้เด็ก

             – ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและของเล่นเด็ก ปัจจุบันพ่อแม่ที่มีกำลังซื้อสูงนิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับเด็กที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ Organic สำหรับเด็ก อาทิ ครีมอาบน้ำ แชมพู ครีมบำรุงผิว เป็นต้น เพราะอ่อนโยนต่อผิวของเด็กที่มักระคายเคืองง่ายเมื่อถูกสารเคมี ขณะเดียวกันของเล่นเด็กที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทักษะการเรียนรู้และช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองยังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการสูงขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวคาดว่าจะสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตและส่งออกของเล่นไทยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะของเล่นเด็กผลิตจากไม้ยางพาราที่ไทยมีจุดแข็งจากการใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมทั้งสามารถผลิตและออกแบบของเล่นได้หลากหลายที่เหมาะกับเด็กในช่วงอายุต่างๆ

– ธุรกิจบริการสำหรับเด็ก ประชากรวัยเด็กของโลกที่เพิ่มขึ้น นอกจากจะส่งผลให้ความต้องการใช้บริการพื้นฐานสำหรับเด็กเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงพยาบาล สถานศึกษา โรงเรียนสอนพิเศษเพื่อเสริมทักษะด้านต่างๆ เช่น ดนตรี กีฬา ทักษะการฝึกคิด เป็นต้น แล้วการที่พ่อแม่นิยมหาวันหยุดเพื่อพาลูกไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยไปมาก่อน เพื่อเปิดโลกกว้างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัวมากขึ้น และมีส่วนช่วยเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กให้ดียิ่งขึ้น คาดว่าจะเปิดโอกาสให้กับธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะสวนสนุก อาทิ Walt Disney เพิ่งเปิด SHANGHAI DISNEY RESORT ในจีนเพื่อเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าเด็กที่มีจำนวนมาก รวมถึงสวนสัตว์ และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

E-Commerce สร้างโอกาสในการเจาะตลาดสินค้าสำหรับเด็ก ปัจจุบันช่องทางการค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือ E-Commerce มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการสำหรับเด็ก เนื่องจากคุณแม่ที่ต้องการเลือกซื้อสินค้าให้บุตรด้วยตัวเอง แต่ไม่มีเวลามากพอไปเลือกซื้อสินค้าในศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า เพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในที่ทำงานหรือบางรายที่มีเด็กทารกต้องใช้เวลาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ทำให้การเลือกซื้อสินค้าสำหรับเด็กผ่าน E-Commerce ได้รับความนิยมในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่พบว่ายอดสั่งซื้อสินค้าเกี่ยวกับแม่และเด็กผ่านช่องทางออนไลน์สูงถึง 55% ของมูลค่าตลาดสินค้าแม่และเด็กทั้งหมดของจีน เว็บไซต์ที่ชาวจีนนิยมเลือกซื้อสินค้า อาทิ yhd.com และ mia.com ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรวัยเด็กมากที่สุดในอาเซียน นิยม

สั่งซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเด็ก ผ่านทางเว็บไซต์ อาทิ lazada.co.id และ bhinneka.com ดังนั้น ผู้ประกอบการ

ไทยที่เห็นโอกาสการค้าเกี่ยวกับสินค้าสำหรับเด็ก อาจใช้ช่องทาง E-Commerce ประชาสัมพันธ์สินค้าหรือวางจำหน่ายสินค้า เพราะเป็นช่องทางการตลาดที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก แต่มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้อย่างแพร่หลาย       

            ขอฝากบทความนี้เพื่อพิจารณาครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  EXIM E-BANK ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน