วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

“เสียงร่ำร้องที่ไม่มีใครเคยได้ยิน” ชาวคะฉิ่น ร้ององค์กรมนุษยธรรมขอให้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

10 มิ.ย. 2019
1063
Spread the love

“เสียงร่ำร้องที่ไม่มีใครเคยได้ยิน” ชาวคะฉิ่น ร้ององค์กรมนุษยธรรมขอให้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

 

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 10 มิ.ย. 62 นายจุง บาย ผู้ประสานงานชุมชนคะฉิ่นในประเทศไทย พร้อมด้วยกลุ่มชุมชนคะฉิ่นในประเทศไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ นายไกสอน เตียวประเสริฐ หัวหน้าสำนักงานเชียงใหม่ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศวิงวอนให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการสู้รบ 120,000 คนที่กำลังอดหยาก และสิ้นหวังในชีวิต โดยทางตัวแทนได้พร้อมกันอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพื่อเรียกร้องให้สังคมโลก สนใจผู้ประสบภัยที่โลกลืมกลุ่มนี้ ที่สำนักงานกาชาดสากล สำนักงานเชียงใหม่ ถนนศิริมังคลาจารย์ ซอย 11 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

 

ทางกลุ่มตัวแทนได้อ่านแถลงการณ์เสียงร่ำร้องที่ไม่มีใครได้ยินจากผู้ได้รับภัยจจากการสู้รบรัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนมาร์ “เป็นเวลาหลายสิบปีที่ชนกลุ่มน้อยในเมียนมาร์ รวมทั้งประชาชนคะฉิ่นที่อาศัยทางตอนเหนือของประเทศ ต้อนทนทุกข์กับความขัดแย้งทางการเมืองและทหาร พวกเขาล้มตาย บาดเจ็บ ทุกข์ทรมาน ถูกละเมิดสิทธิ์ ถูกละเมิดชีวิต ถูกปฏิบัติอย่างไร้ค่าในบ้านเกิดของพวกเขาเอง ชนกลุ่มน้อยบางส่วนสามารถหลบหนีภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือไปไกลยังประเทศที่สาม พวกเขาหลบหนีกระจายไปทั่วโลกหลายล้านคน โลกรู้จักพวกเขาดีในนามโรฮิงยา กะเหรี่ยง ฉาน ตะอาง แต่คะฉิ่นซึ่งประสบชะตากรรมเลวร้ายไม่ต่างกัน กลับไม่สามารถหลนหนีไปที่ใดได้ พวกเขาล้มตายทนทุกข์ทรมาน บ้านแตกสาแหรกขาด อย่างเงียบงัน ในพื้นที่ที่มีการสู้รบต่อเนื่อง ถูกล้อมกรอบอยู่เช่นนั้นเนิ่นนาน โลกภายนอกไม่สามารถเข้าถึง และการหลบหนีเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ เมื่อพื้นที่ด้านหนึ่งถูกล้อมไว้ด้วยกองทัพ อีกด้านหนึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เข้มงวดไม่อนุญาตให้พวกเขาได้หลบภัยใดๆ ปัจจุบันมีคนคะฉิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบอาศัยในค่ายผู้อพยพ ที่สร้างขึ้นตามมีตามเกิดในพื้นที่ของพวกเขาเองกว่า 120,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก สตรี และคนชรา เด็กที่อายุต่ำกว่า 8 ขวบ ล้วนเกิดในเต้นท์พลาสติก เติบโตอย่างขาดแคลนในเต้นท์พลาสติก และหากการสู้บยังดำเนินต่อไป ที่สุดพวกเขาจะตายไปโดยไม่รู้ว่า “บ้าน” เป็นอย่างไร รัฐคะฉิ่นมีค่ายผู้พบอพยพในพื้นที่ตนเองกว่า 100 แห่ง มากที่สุดในบรรดารัฐชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย พวกเขาทั้งหมดไม่สามารถหลบหนีออกจากพื้นที่ได้โดยสิ้นเชิง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิ์กระทั่งจะเป็นผู้อพยพ ไม่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเช่นเดียวกับผู้อพยพจากภัยสงครามทั่วโลก

 

มากไปกว่านั้น ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม จากองค์กรระหว่างประเทศถูกกองทัพเมียนมาร์ห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่มาเป็นเวลา 8 ปีเต็ม ผู้ประสบภัยกว่า 120,000 คน จึงอยู่อย่างแร้นแค้นสาหัส ไร้ความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น การได้กินหมู 1 ชิ้นในหลายเดือน เป็นฝันที่เด็กคะฉิ่นอยากจะเอื้อมถึง พวกเขามีคำถามต่อโลกว่า พวกเขาทำผิดอะไร จึงต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้ เราขอวิงวอนต่อสังคมโลก ต่อเพื่อนร่วมโลก แต่มนุษย์ร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกัน ให้ได้รับความรู้ถึงความทุกข์ทรมานของพวกเขา เราวิงวอนต่อองค์กรมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทั้งองค์การสหประชาชาติ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ให้ช่วยเหลือพวกเขาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ภัยจากการสู้รบจะเข่นฆ่าพวกเขาให้ตายลงอย่างช้าๆ และเงียบงัน”

 

นายจุง บาย ผู้ประสานงานชุมชนคะฉิ่นในประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติ รวมถึงองค์การเพื่อสิทธิมนุษชน คณะกรรมการกาขาดระหว่างประเทศ ได้พยายามเข้าไปเพื่อช่วยเหลือประชาชนในรัฐคะฉิ่นแล้ว แต่ถูกกีดกันจากทางเมียนมาร์ เพราะเห็นว่าการเข้าไปช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยในรัฐคะฉิ่น เป็นการช่วยเหลือกบฏ ทั้งที่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็ก ผู้หญิง และคนชรา การเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้เข้าไปช่วยทางการสงคราม แต่เข้าไปช่วยให้เขาอยู่รอดไม่อดอาหาร ขณะนี้จำนวนประชาชนกว่า 120,000 คน กำลังจะอดอาหารตาย และปัจจุบันในประเทศไทยมีคนจากรัฐคะฉิ่น มาอาศัยอยู่กว่า 10,000 คน ซึ่งได้อพยพมาหลายสิบปีแล้ว บางคนก็ทำงานมีครอบครัว บางคนก็ได้สัญชาติไทยแล้ว แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถอพยพได้ ในวันนี้จึงได้มายื่นหนังสือเพื่อขอให้สำนักงานกาชาดสากล สำนักงานเชียงใหม่ ส่งหนังสือไปถึงประกาชาดสากล เพื่อเข้าไปช่วยเหลือด้วย รวมถึงต้องการประกาศให้สังคมโลกรับรู้ว่ามีการสู้รบในรัฐคะฉิ่น และกลุ่มคนในรัฐคะฉิ่นได้รับความเดือดร้อนมากเพียงใด