วันอังคาร, 23 เมษายน 2567

เสวนาแนวทางการพัฒนาเวียงกุมกาม แหล่งวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

Spread the love

                 กระทรวงวัฒนธรรมจัดประชุมเสวนา แนวทางการพัฒนาเวียงกุมกาม แหล่งวัฒนธรรม เพื่อชุมชน และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2

กระทรวงวัฒนธรรมจัดประชุมเสวนาแนวทางการพัฒนาเวียงกุมกาม แหล่งวัฒนธรรม เพื่อชุมชน และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาเวียงกุมกามเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ และสามารถนำไปประกอบในการดำเนินการพัฒนาเวียงกุมกามต่อไป

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.56 ที่ผ่านมา เวลา 09.30 น. ณ ศาลาการเปรียญวัดช้างค้ำ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาแนวทางการพัฒนาเวียงกุมกาม แหล่งวัฒนธรรม เพื่อชุมชน และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาเวียงกุมกามเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ และสามารถนำไปประกอบในการดำเนินการพัฒนาเวียงกุมกามต่อไป หลังจากที่ได้จัดประชุมเสวนาในครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 โดยผู้เข้าร่วมประชุมเสวนากว่า 140 คน ทั้งจากภาครัฐ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคเอกชน และประชาชน โดยการจัดเสวนาดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางแผนการพัฒนาเวียงกุมกามให้เป็นพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล  โดย นายเมธาดล      วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้นำเสนอว่า ควรจัดทำแผนระยะสั้น และระยะยาว มีการจัดทำศูนย์ข้อมูลเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้โดยใช้ multimedia และ exhibition สร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต การอยู่ร่วมกันของคนกับโบราณสถาน รวมทั้ง ควรปรับปรุง ซ่อมแซม โบราณสถานให้ใกล้เคียงกับของเดิมให้มากที่สุด จัดทำผังเมืองที่ชัดเจนและใกล้ความเป็นจริงให้มากที่สุด การทำถนนหลัก ถนนรอง ส่งเสริมมัคคุเทศก์ชุมชนให้เรียนรู้การใช้ภาษาอาเซียน และภาษาอังกฤษ ส่งเสริมให้ใช้รถไฟฟ้า รถราง รถม้า จักรยาน จัดทำแผนการประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องดำเนินการทั้งระดับชุมชน จังหวัด ประเทศ และอาเซียน ให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
ด้านศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สนุนการพัฒนาเวียงกุมกามควบคู่กับการสืบค้น ค้นหารากประวัติศาสตร์เวียงกุมกามทั้งที่ยังเป็นข้อถกเถียงและที่ยังไม่ได้มีการสืบค้น สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเอง การรักษา ปกป้องโบราณสถาน โบราณคดี อันเป็นรากประวัติศาสตร์ และควรเผยแพร่องค์ความรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง ในขณะที่ นายสัมฤทธิ์ ไหคำ นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ เสนอแนวคิดว่า การจะพัฒนาเวียงกุมกาม สิ่งสำคัญคือ กำหนดทิศทาง เป้าหมายที่ชัดเจน จัดระบบการจัดภายในชุมชนในลักษณะ all in one คือ เริ่มที่จุดหนึ่งไปสิ้นสุดที่จุดหนึ่ง ควรส่งเสริมกระบวนการชุมชนให้นักท่องเที่ยวทุกคนเข้ามาต้องใช้บริการรถม้า รถราง จักรยาน ส่งเสริมให้เป็นชุมชนสีเขียว ด้านศิลปะการแสดง ภาษาวรรณกรรม วิถีชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นควรสอดคล้องใกล้เคียงกับศิลปะดั้งเดิม และร่องรอยประวัติศาสตร์เวียงกุมกามที่มีอยู่ และควรนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาข้อมูลในแต่ละจุดที่ไปด้วยตัวอย่างได้ง่ายขึ้น รวมทั้งควรเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ กับ      เวียงกุมกามด้วย

สำหรับการประชุมเสวนาในครั้งที่ 2 นี้ ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งมาจากทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ร่วม 100 คนได้เสนอแนวคิดเพิ่มเติมโดย ผู้แทนสงฆ์จากวัดช้างค้ำ เสนอให้วัดช้างค้ำเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชนมาถ่ายทอดความรู้ทางวัฒนธรรมแก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือน โดยในส่วนของวัดช้างค้ำได้มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้เสนอให้มีการจัดกาดหมั้วครัวแลง ในทุกวันศุกร์ โดยเชิญชวนกลุ่มแม่บ้านนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ในชุมชน สินค้า OTOP  สินค้าที่ระลึก รวมถึงบริการนวดแผนไทยมาจำหน่ายและบริการแก่นักท่องเที่ยว

ด้านรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงกิจกรรมที่จะดำเนินการในห้วงระยะเวลา 7 เดือนนับแต่เดือนตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ซึ่งกำหนดจัดกิจกรรม 56 กิจกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เวียงกุมกามเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยจะมีการแสดงจากวิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ในการจัดกิจกรรมทุกครั้งด้วย ส่วนความคิดเห็นที่ได้จากการจัดประชุมเสวนาครั้งนี้ก็จะนำไปเป็นข้อมูลในการดำเนินการพัฒนาเวียงกุมกามต่อไป

 

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ