วันพฤหัสบดี, 18 เมษายน 2567

เล่าเรื่องจริงๆของ กัญชา กัญชา กัญชา

17 มิ.ย. 2015
477
Spread the love

เล่าเรื่องจริงๆของ กัญชา กัญชา กัญชา

โปรดใช้วิจารณญาณอย่างสุดๆ

กัญชา

        เรียนให้ท่านทราบว่า เรื่องนี้ เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก เขารายงานผ่านสำนักข่าวต่างประเทศมาอีกทีนะครับ เห็นว่าน่าสนใจก็เลยเรียบเรียงมาให้ท่านได้ทราบ ตามธรรมชาติของเรา ที่จะต้องให้อาหารสมองท่านผู้อ่านเสมอๆครับ..เชิญครับ

                  กัญชาอยู่กับมนุษยชาติมานานแสนนานแล้ว ในไซบีเรียมีผู้พบเมล็ดกัญชาที่ไหม้เป็นเถ้าถ่านอยู่ภายในเนินฝังศพอายุ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนใช้กัญชาเป็นยามานานหลายพันปี กัญชาหยั่งรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯเช่นกัน ตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้  กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายโดยมักพบในทิงเจอร์และสารสกัดต่างๆ 

จากนั้น  ท่ามกลางกระแสต่อต้านกัญชาที่โหมแรง  กัญชาก็ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ และการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์ก็หยุดชะงักลงเกือบตลอด 70 ปีต่อมา

                  ในปี 1970 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทำให้การศึกษากัญชายิ่งยากขึ้นไปอีกด้วยการกำหนดให้กัญชาเป็นยาประเภท 1 หรือสารอันตรายที่ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และมีโอกาสเสพติดสูงประเภทเดียวกับเฮโรอีน ดังนั้นหากว่ากันตามตัวบทกฎหมายแล้ว ในสหรัฐฯ คนส่วนใหญ่ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาจึงถือเป็นอาชญากร

แต่ปัจจุบัน เมื่อมีผู้นำกัญชาไปใช้เป็นยารักษาโรคมากขึ้น วิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องนี้จึงเหมือนเกิดใหม่อีกครั้ง เรากำลังค้นพบความน่าประหลาดใจหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในพืชซึ่งเคยเป็นสิ่งต้องห้าม

ในรัฐ 23 รัฐของสหรัฐฯ และดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เป็นบางกรณีอย่างถูกกฎหมาย  และชาวอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนให้การเสพกกัญชาเพื่อการหย่อนใจเป็นสิ่งถูกกฎหมาย  ขณะที่หลายประเทศกำลังทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาเช่นกัน ในอุรุกวัย  มีการลงคะแนนเสียงให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โปรตุเกสแก้กฎหมายให้การครอบครองกัญชาเพื่อเสพเองไม่เป็นความผิดทางอาญา อิสราเอล แคนาดาและเนเธอร์แลนด์มีโครงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศยังออกกฎหมายอนุญาตให้ครอบครองกัญชาได้

กัญชาอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น การสูบกัญชาอาจทำให้คนหัวเราะโดยไม่มีสาเหตุชั่วขณะ จ้องมองของพื้นๆใกล้ตัว (อย่างรองเท้า) หลงลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสองวินาทีก่อน และอยากกินขนมขบเคี้ยว

แม้ว่ายังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากการเสพเกินขนาด แต่กัญชาโดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ออกฤทธิ์แรงในปัจจุบันยังถือว่าเป็นยาแรง และในบางกรณีก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้เช่นกัน

แต่สำหรับหลายคน กัญชาเปรียบเสมือนยาบรรเทาความเจ็บปวด  ช่วยให้นอนหลับ กระตุ้นความอยากอาหาร อีกทั้งช่วยทุเลาเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นในชีวิต  ผู้นิยมชมชอบกัญชากล่าวว่า  กัญชาช่วยให้คลายเครียด  เชื่อกันว่ากัญชายังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น เป็นยาระงับปวด  ยาแก้อาเจียน  ยาขยายหลอดลม และยาแก้อักเสบ นักวิทยาศาสตร์บางรายยืนยันว่าสารประกอบบางอย่างในพืชชนิดนี้อาจมีส่วนช่วยในกระบวนการทำงานบางอย่างของร่างกายที่จำเป็นต่อชีวิต  เช่น ป้องกันการบาดเจ็บทางสมอง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และช่วย “ลบความทรงจำ” หลังเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆได้

ความเร่งรีบในการทำให้กัญชาเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน  การเก็บภาษีและออกกฎระเบียบควบคุม ตลอดจนการทำให้กัญช้าเป็นสิ่งถูกกฎหมายและกลายเป็นสินค้า  ก่อให้ให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า พืชชนิดนี้มีอะไรดีซ่อนอยู่ กัญชาส่งผลต่อร่างกายและสมองอย่างไร สารเคมีในกัญชาอาจบอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาท และสารเคมีเหล่านั้นจะนำเราไปสู่ตัวยาชนิดใหม่ๆได้หรือไม่

          หากกัญชามีอะไรบางอย่างบอกเรา สิ่งนั้นคืออะไรกันแน่

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1963 นักเคมีอินทรีย์หนุ่มชาวอิสราเอลชื่อ ราฟาเอล เมคูลัม จากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมนนอกเมืองเทลอาวีฟ ตัดสินใจศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของพืชชนิดนี้ เขานึกประหลาดใจที่ว่า ทั้งๆที่เราสกัดมอร์ฟีนได้จากฝิ่นตั้งแต่ปี 1805 และสกัดโคเคนจากใบโคคาได้ในอีก 50 ปีต่อมา แต่นักวิทยาศาสตร์กลับไม่รู้เลยว่าอะไรคือองค์ประกอบสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในกัญชา “มันก็แค่พืชชนิดหนึ่ง” เมคูลัมซึ่งตอนนี้อายุ 84 ปี บอกและเสริมว่า “เหมือนอะไรที่ยุ่งเหยิงมีสารประกอบที่ไม่สามารถระบุได้อยู่หลายอย่าง”

เมคูลัมจึงติดต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติอิสราเอลเพื่อขอกัญชาเลบานอน 5 กิโลกรัมซึ่งเป็นของกลางที่ยึดมาได้ เขากับทีมนักวิจัยสกัดและบางครั้งก็สังเคราะห์สารประกอบออกมาหลายชุด  เขาฉีดสารแต่ละชุดให้ลิงวอก และพบว่ามีเพียงชุดเดียวที่ออกฤทธิ์สังเกตเห็นได้  เมื่อได้รับการฉีดสารประกอบนี้ ลิงวอกซึ่งปกติค่อนข้างเกรี้ยกราดกลับสงบลงอย่างเห็นได้ชัด

การทดสอบเพิ่มเติมนำไปสู่การค้นพบสิ่งที่โลกรู้จักดีในปัจจุบัน กล่าวคือ สารประกอบที่ว่านี้เป็นสารออกฤทธิ์หลัก ในกัญชาที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ  เป็นสิ่งที่ทำให้ใครต่อใครเคลิบเคลิ้ม  เมคูลัมและคณะค้นพบเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือทีเอชซี (tetrahydrocannabinol: THC) และยังเผยโครงสร้างทางเคมีของแคนนาบิไดออลหรือซีบีดี (cannabidiol: CBD) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างในกัญชาซึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้หลายอย่างโดยไม่มีผลทางจิตประสาทต่อมนุษย์

อิสราเอลเป็นประเทศที่ก้าวหน้าเรื่องการศึกษากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เมคูลัมมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสาขาวิชานี้ และเขาก็ภูมิใจกับผลลัพธ์ที่ได้  ผู้ป่วยมากกว่า 20,000 รายได้รับใบอนุญาตใช้กัญชาเพื่อการรักษาภาวะบางอย่าง เช่น ต้อหิน  โรคโครห์น (Crohn’s diseas) หรือลำไส้เล็กอุดตันบางส่วน การอักเสบ อาการเบื่ออาหาร กลุ่มอาการทูเรตต์  (Tourette’s syndrome) และโรคหืดแต่ถึงกระนั้น เมคูลัมไม่สู้จะเห็นด้วยกับการทำให้การเสพกัญชาเพื่อการหย่อนใจกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย  เขาไม่คิด   ว่าคนที่มีกัญชาในครอบครองควรติดคุก แต่ก็ยืนยันว่า  กัญชา “ไม่ใช่สารที่ไร้อันตราย” โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว เขาอ้างผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การใช้กัญชาสายพันธุ์ที่มีสารทีเอชซีในปริมาณสูงเป็นเวลานานติดต่อกันส่งผลต่อพัฒนาการของสมองที่กำลังเจริญเติบโต และเสริมว่า กัญชากระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลขั้นรุนแรงได้ในบางคน เมคูลัมยังกล่าวถึงผลการศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่า กัญชาอาจเหนี่ยวนำให้เกิดโรคจิตเภทในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคนี้

           ถ้าเลือกได้ เมคูลัมคงอยากเห็นวัฒนธรรมการเสพกัญชาเพื่อการหย่อนใจหลีกทางให้กับการใช้กัญชาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในทางการแพทย์ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง

     ตอนนี้คนที่ใช้กัญชายังไม่รู้ว่าพวกเขาได้รับสารอะไรเข้าไปบ้าง ถ้าจะให้การใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้ผลอย่างที่ต้องการ เราต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสม ถ้าคุณวัดไม่ได้ ก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ครับ

         ไม่มีทัศนะ ไม่มีคำวิจารณ์ โปรดใช้วิจารณญาณของท่าน นำเสนอเพื่อประเทืองปัญญาแค่นั้นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลของ เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก

 

อรุณ ช้างขวัญยืน.เรียบเรียงและรายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ