วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

เรื่องของ ตำรวจ (พนักงานสอบสวน) จริงหรือไม่

Spread the love

เรื่องของ ตำรวจ ตำรวจ ตำรวจ (พนักงานสอบสวน)

จริงหรือไม่  จริงหรือไม่  จริงหรือไม่  

ตำรวจ

       เรื่องของตำรวจ ถ้าเป็นนิยายน้ำเน่า ถือว่าครบรส คือตำรวจมีทุกเรื่อง ถามว่าทำไม ตอบว่าเพราะตำรวจอยู่ใกล้ชิดประชาชนทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน คำว่า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข หมายความว่า ทำให้(ประชาชน)หายจากทุกข์ ทำให้(ประชาชน) มีความสุข เมื่อคราใดตำรวจทำหน้าที่แล้วประชาชนไม่พ้นจากทุกข์ ไม่มีความสุข จึงหนีไม่พ้นที่จะกระทบกระทั่งความรู้สึกของประชาชนทั้งด้านบวกและด้านลบ  ก่อนหน้ารัฐประหาร เราพบว่าตำรวจตกเป็นจำเลยสังคมอย่างหนัก เสียงเรียกร้องให้สังคายนาตำรวจดังกึกก้อง และที่สุดแล้วขณะนี้ เราก็กำลังอยู่ในโหมดของการปฏิรูปองค์กรของตำรวจ

       และนี่คือรายงานอันเนื่องมาจากการสัมมนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหาคำตอบเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางปฏิรูป เชิญติดตามโดยพลัน

         มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเอเชียจัดงานเสวนา Let’s Talk It over, Episode 4:ตำรวจสอบสวน…ปฏิรูปให้ถึงใจประชาชน ณ ห้อง The Cellar โรงแรมดุสิตธานี

          ในวงสัมมนาพ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูประบบตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงสภาพปัญหาการสอบสวนคดีอาญาในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในภาวะวิกฤติร้ายแรง      เนื่องจากประชาชนไม่เชื่อถือและไม่เชื่อมั่นว่า การสอบสวนเป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการปฏิบัติในการสอบสวนที่แตกต่างกันระหว่างผู้เสียหายและผู้ต้องหาที่เป็นคนยากจนกับคนร่ำรวยหรือมีอำนาจ นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนทั่วประเทศประมาณ 11,000 คน ไม่มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนในการปฏิบัติงานให้มีขีดความสามารถในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วน ขณะที่สถานีตำรวจในนครบาลไม่มีพนักงานขับรถไปตรวจที่เกิดเหตุ ค่าใช้จ่าย และอุปกรณ์การทำงานแม้กระทั่งกระดาษก็ไม่มีให้เบิกใช้ ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจในการทำงานตามข้อเท็จจริงและกฎหมายได้ นี่จึงเป็นสาเหตุให้การสอบสวนไม่มีความยุติธรรม

พ.ต.อ.วิรุตม์   กล่าวถึงการสอบสวนที่ไม่ได้เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพนั้น ได้ส่งผลต่อระบบการบังคับใช้กฎหมายของประเทศทั้งระบบ เพราะหน่วยงานอื่นไม่มีอำนาจสอบสวนต้องแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งสิ้น

“ลองคิดดูว่า ผู้กระทำผิดไม่ถูกฟ้องคดี ศาลไม่มีคดีให้พิพากษา จะสั่นคลอนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างไร  ”  พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว และเห็นว่า การแก้ปัญหาเชิงระบบนี้ไม่สามารถกระทำได้ภายใต้โครงสร้างตำรวจแห่งชาติ แม้จะมีการพัฒนาหรือจัดรูปแบบใหม่ก็ตาม เพราะพนักงานสอบสวนทุกคนยังอยู่ภายใต้ระบบยศและวินัยแบบทหาร มีระเบียบ และคำสั่งเกี่ยวกับการสอบสวนมากมาย สอบสวนไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดระเบียบ

“ในความเห็นส่วนตัว ทางพฤตินัยผู้บังคับบัญชาสามารถใช้อำนาจสั่งการให้ทำการสอบสวนโดยมิชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อกลั่นแกล้ง แจ้งข้อหา หรือสอบสวนทำลายพยานหลักฐานเป็นสำนวนไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดเสนออัยการสั่งงดสอบสวน หรือแม้กระทั่งบิดเบือนพยานหลักฐานช่วยผู้กระทำผิดทางอาญาให้สั่งไม่ฟ้อง

ดังนั้นวันนี้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศอยู่ในสภาพเสียขวัญ ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนใหญ่ทำงานกันแบบซังกะตายไปวันๆ และหาทางหนีงานสอบสวนกันตลอดเวลา เหมือนทหารหนีทัพ แม้จะมียศและค่าตอบแทนเพิ่ม”

           พ.ต.อ.วิรุตม์ แสดงความเห็นอีกว่า ทุกวันนี้พนักงานสอบสวนกลายเป็นตำรวจที่ไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรี   มียศพันตำรวจเอกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ถูกจัดเข้าเวรสอบสวนติดสายแดงสลับกับร้อยตำรวจตรีเช่นที่จังหวัดพิษณุโลกและกำลังมีเรื่องร้องเรียนอยู่ขณะนี้

” ตำรวจระดับบริหารไม่เข้าใจสภาพปัญหางานสอบสวนปัจจุบัน หัวหน้าสถานีตำรวจไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนมาก่อน สายงานสอบสวนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพตำรวจทัดเทียมสายงานอื่น ไม่ได้รับการพิจารณาความชอบสองขั้น เป็นพันตำรวจเอกแต่ไม่มีอำนาจขอขั้นเงินเดือนให้ตำรวจคนใดในสถานีได้   และแม้ทำงานในพื้นที่นานแค่ไหนก็เติบโตเป็นผู้กำกับสถานีไม่ได้ ทั้งที่เป็นสายงานหลักของตำรวจ มีปัญหาถูกกลั่นแกล้งในการสอบเลื่อนตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิจนต้องรวมตัวกัน150 คน ฟ้องศาลปกครองในขณะนี้”

ส่วนเหตุจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปตำรวจสอบสวนนั้น พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า เพื่อให้การสอบสวนคดีอาญาของประเทศเป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก เป็นพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นการสร้างหลักประกันให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการสอบสวนคดีอาญานำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย สังคมเกิดความสงบสุข

พร้อมกันนี้ยังทั้งเสนอให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในหมวดกระบวนการยุติธรรมโดยให้การสอบสวนคดีอาญาเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นของประเทศ ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อพิสูจน์การกระทำผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา และกำหนดให้มีคณะกรรมการสอบสวนคดีอาญาแห่งชาติ

             “ผมเชื่อว่า หากแยกพนักงานสอบสวนออกมาเป็นองค์กรอิสระ ไม่สังกัดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างอิสระสามารถใช้ดุลยพินิจในการทำงานได้เต็มที่โดยไม่ต้องสนใจผู้บังคับบัญชาว่าจะมาสั่งอะไรหรือไม่พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว และเชื่อว่า การทำงานที่เป็นอิสระจะนำมาซึ่งความโปร่งใสและส่งผลให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

               ตรงนี้น่าสนใจมากครับ

ด้านพ.ต.อ.กีรติ   ตรีวัย พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สภ.บางกล่ำ จ.สงขลา ยอมรับว่าปัญหาที่ผ่านมาของพนักงานสอบสวน คือ พนักงานสอบสวนทำงานคนเดียวไม่มีผู้ช่วย ขาดเครื่องมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะที่ใช้ลงตรวจพื้นที่ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานต่างๆ มิหนำซ้ำยังถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร

“ปัญหาเหล่านี้ทำให้คนหนีออกจากสายงานสอบสวน จากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า ประชาชนถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน”  พ.ต.อ.กีรติ กล่าว และว่า ดังนั้นหากโครงสร้างการปฏิรูปตำรวจสอบสวนอยู่นอกโครงสร้างของสตช. สิ่งสำคัญคือเราจะไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร สุดท้ายจะส่งผลให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างชุดจับกุมกับชุดสอบสวนอย่างเข้มข้นด้วย

              จากรายงานนี้ จะเห็นว่า ชีวิตตำรวจเองก็มิใช่จะราบรื่น ตำรวจยังได้รับผลกระทบจากการทำงานอีกมากมาย เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น การปฏิรุปจึงต้องคำนึงถึงความจริงให้ครบถ้วนจึงจะถูกต้อง เมื่อต้องการให้ตำรวจทำหน้าที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตำรวจก็ควรได้รับความสุข ไม่มีความทุกข์(ในการปฏิบัติหน้าที่)ด้วยเช่นกัน

         เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ สาธุสาธุ  อมิตตพุทธ อมิตตพุทธ

 

 อรุณ ช้างขวัญยืน/รายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ