วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

เมื่อ ม.44 แผลงฤทธิ์ ผบ.ตร.สั่งชะลอการแต่งตั้ง โดยจะยืดเวลาออกไปถึงเดือน มี.ค.

Spread the love

scoop

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

เมื่อ ม.44 แผลงฤทธิ์ ผบ.ตร.สั่งชะลอการแต่งตั้ง โดยจะยืดเวลาออกไปถึงเดือน มี.ค.

               

                 ผมเคยนำเสนอเรื่องนี้มาแล้วว่า จะมีการแก้ไขระเบียบของ กตร.เรื่องการรับราชการของตำรวจวันนี้ ม.44 แผลงฤทธิ์แล้วครับ ทันอกทันใจดี หลังจากการโยกย้ายตำรวจระดับรองผู้บังคับการถึงระดับสารวัตร คาราคาซังกันมาระยะหนึ่งจึงขอนำหัวข้อสำคัญของ ม.44 เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับดังกล่าวมานำเสนอ เพื่อให้ผู้ที่รอคำสั่งจะได้หายใจคล่องขึ้นเสียที

                 โดยเมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ที่ 5 ก.พ.2559 นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. 2 ฉบับรวด ที่เกี่ยวเนื่องกับข้าราชการตำรวจ โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 6/2559 เป็นเรื่องการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ มีผลบังคับใช้แล้ว ในขณะที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนจะมีกำหนดบังคับใช้เมื่อพ้น 15 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 6/2559  มีเนื้อหาที่สำคัญระบุว่า ให้บรรดาการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2557 ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 จนถึงวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 นั้น ไระบุเหตุผลในการออกคำสั่งว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการยุติธรรม สมควรปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนเสียใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างและระบบการบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในงานการสอบสวน

สำหรับเนื้อหาของคำสั่งดังกล่าวที่น่าสนใจคือ กรณีให้ยกเลิกความในมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเดิมกำหนดตำแหน่งไว้ 13 ตำแหน่งคือ 1.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) 2.จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร. 3.ผู้ช่วย ผบ.ตร. 4.ผู้บัญชาการ (ผบช.) 5.รอง ผบช. 6.ผู้บังคับการ (ผบก.) และพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 7.รอง ผบก.และพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ 8.ผู้กำกับการ (ผกก.) และพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ 9.รอง ผกก.และพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ 10.สารวัตรและพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ 11.รองสารวัตร และพนักงานสอบสวน 12.ผู้บังคับหมู่ และ 13.รองผู้บังคับหมู่ โดยเปลี่ยนให้คือ 1.ผบ.ตร. 2.จเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร. 3.ผู้ช่วย ผบ.ตร. 4.ผบช. 5.รอง ผบช. 6.ผบก. 7.รอง ผบก. 8.ผกก. 9.รอง ผกก. 10 สารวัตร 11.รองสารวัตร 12.ผู้บังคับหมู่ และ 13.รองผู้บังคับหมู่

นอกจากนี้ ในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 ข้อ 4 ยังระบุว่า ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 46 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเคยกำหนดไว้ว่า ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนตามมาตรา 44 ได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เปลี่ยนมาเป็นให้ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่ง รอง ผกก., สารวัตร และรองสารวัตรที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน ได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ตามระเบียบที่ ก.ตร. กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

ข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ยังให้ยกเลิกความในมาตรา 47 ซึ่งก็คือการเลื่อนตำแหน่งของพนักงานสอบสวนในชั้นต่างๆ ทิ้งทั้งหมด ซึ่งรวมถึงข้อ 6 ที่เป็นเรื่องของอัตราเงินเดือนของพนักงานสอบสวนก็มีการยกเลิกอีกเช่นกัน

ในขณะที่ข้อ 9 ระบุว่า ตำแหน่งพนักงานสอบสวนต่างๆ ในส่วนราชการใดของ สตช.ที่ได้รับการกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นตำแหน่ง ผบก., รอง ผบก., ผกก., รอง ผกก., สารวัตร และรองสารวัตร แล้วแต่กรณีในส่วนราชการนั้นของ สตช. โดยพนักงานสอบต่างๆ แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ผบก., รอง ผบก., ผกก., รอง ผกก., สารวัตร และรองสารวัตรแล้วแต่กรณี และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจและหน้าที่เช่นเดิมไปพลางก่อน จนกว่าให้ ก.ตร.กำหนดหรือตัดโอนตำแหน่งจากส่วนราชการหนึ่งไปเพิ่มให้อีกส่วนราชการหนึ่งของ สตช. และให้ ผบ.ตร.เป็นผู้สั่งแต่งตั้ง

“ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนนั้น ให้ดำรงตำแหน่ง ผบก.,รอง ผบก., ผกก., รอง ผกก., สารวัตร และรองสารวัตรให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ โดยให้พนักงานสอบสวนยังคงได้รับเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ” คำสั่งหัวหน้า คสช.ระบุ และว่าคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เรื่องนี้ เข้าไปดู เว็บไซต์มติชนออนไลน์พบรายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าการแต่งตั้งระดับรอง ผบก.ถึงสารวัตรประจำปี 2558 จะขยายเวลาออกไปอีกว่า กำลังหารือกับฝ่ายกำลังพล จากนั้นจะออกหนังสือชะลอการแต่งตั้งออกไปก่อน เนื่องจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ยังไม่ชัดเจน อยากรอกฎเกณฑ์ใหม่ที่ชัด ในเมื่อเรื่องที่กำลังพิจารณายังคั่งค้าง ก็อยากให้แล้วเสร็จ และใช้เป็นกฎเกณฑ์ใหม่ที่แต่งตั้งครั้งนี้ อยากทำให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็ต้องรอ เดี๋ยวจะสั่งการอย่างเป็นทางการ

มีรายงานต่อมา ว่า มติที่ประชุม ก.ตร. และคณะรอง ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ให้ขยายเวลาการแต่งตั้งรอง ผบก.-สว.วาระ 2558 ออกไปถึง 29 ก.พ. และให้ใช้กฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549 ประกอบคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 44/2558 เป็นแนวทางในการแต่งตั้งครั้งนี้ ซึ่งล่วงเลยวาระประจำปีมาหลายเดือน กระทั่งวันที่ 28 ม.ค. ผบ.ตร.ออกหนังสือเวียนสั่งการแต่งตั้งให้ทุกหน่วยออกคำสั่งภายในวันที่ 26 ก.พ. และให้มีผลวันที่ 1 มี.ค. แต่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวสะพัดใน สตช.ว่า ผบ.ตร.สั่งชะลอการแต่งตั้ง โดยจะยืดเวลาออกไปถึงเดือน มี.ค.

เพราะมี ม.,.44 ออกมาตัดหน้า

ฝาก เพื่อนๆของเราที่เป็นข้าราชการตำรวจ และมีส่วนได้ เสีย กับเรื่องนี้ ลองอ่านดูครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา

อรุณ   ช้างขวัญยืน/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ