วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

เมื่อจีนเป็นพี่ใหญ่ตั้งแบงค์ AIIB โลกตะวันตกก็ร้อนฉ่า

25 มี.ค. 2015
501
Spread the love

เมื่อจีนเป็นพี่ใหญ่ตั้งแบงค์ AIIB

โลกตะวันตกก็ร้อนฉ่า

AIIB

 

               เกริ่นนำแบบเข้าใจง่ายๆ

            นอกจากความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลสำหรับประเทศที่เป็นพันธมิตรกันในโลกนี้แล้ว  ก็ยังมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งโดยกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร ภายหลังสงครามโลกครั้งที่1ด้วยความริเริ่มของสหะประชาชาติ นั้นคือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ภาษาอังกฤษว่า International Monetary Fund  หรือ  IMF ที่เรารู้จักกันดีเพราะเคยมีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย บริหารประเทศจนล่มจม จนต้องไปพึ่งเงินกู้จาก IMF มาแก้ปัญหา

            ถัดจาก IMF ก็คือ ธนาคารโลก หรือ World Bank

           ของเอเชียเราก็มี ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือ   ADB หรือ Asian Development  Bank   มีญี่ปุ่นเป็นหัวเรือใหญ่

             ทั้ง3องค์กร เป็นของโลกตะวันตก2แห่ง เป็นของภูมิภาคเอเชีย 1 แห่งมีภารกิจเหมือนกันคือให้การสนับสนุนเงินทุนแก่ชาติที่กำลังพัฒนา เพื่อกู้เงินไปทำสาธารณปูโภคหรือปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ

              แต่ก็มีข่าวเมื่อไม่นานมานี้เองว่า จีน ประเทศยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคเอเซียประกาศตนเป็นผู้นำควักเงินก้อนโตเป็นประเดิม เพื่อก่อตั้งธนาคารใหม่ให้ชื่อว่า  ..ธนาคารเพื่อการลงทุนในกิจการสาธารณูปโภคแห่งเอเซีย หรือ เอเซียน อินฟาสตรัคเจอร์ อินเวสเม้นท์ แบงค์  (Asian Infrastructure Invesment Bank หรือ  AIIB  นั่นเอง

                 ท่านผู้อ่านโปรดติดตามบทความนี้ก่อน

                สีจิ้นผิง ผู้นำเบอร์หนึ่งของจีนกลายเป็นเสี่ยสั่งลุยหว่านเงินสร้างผลงานเพื่อขยายบทบาทผู้นำทางเศรษฐกิจจีนทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค   เริ่มจาก ร่วมมือกับประเทศในกลุ่มบริคส์ (BRICS) คือ บราซิล รัสเซีย อินเดียและแอฟริกาใต้ จัดตั้งธนาคาร New Development Bank (NDB) และตั้งกองทุนเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement : CRA) โดยกลุ่มนี้มีท่าทีชัดเจนในการร่วมมือกันลดทอนความ สำคัญของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Dedollarization) และลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนของโลกที่มีอยู่เดิมอย่างธนาคารโลก (World Bank) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติตะวันตกมานาน

ความเป็นเสี่ยสั่งลุยของจีนที่เกี่ยวข้องกับไทยและอาเซียนโดยตรง คือ การจัดตั้งกองทุน Silk Road Fund มูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการเป็นโต้โผใหญ่ในการจัดตั้งธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) โดยการควักกระเป๋าลงขันไปก่อนในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นธนาคารภูมิภาคแห่งใหม่ขึ้นเทียบชั้นกับธนาคาร Asian Development Bank (ADB) ที่ริเริ่มโดยญี่ปุ่น

             พลันข่าวแพร่ออกไป ก็มีคำถามว่า จีนตั้งใจทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสร้างผลงานนี้เพื่ออะไร

ฟังจากปากผู้นำจีน จะได้รับคำตอบว่า “ทั้งกองทุน Silk Road และธนาคาร AIIB จะเป็นแหล่งเงินสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินและภาคการผลิตอุตสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ” สิ่งเหล่านี้ช่างสอดรับกับแนวคิดการปลุกคืนชีพ “เส้นทางสายไหม” ของผู้นำจีนมาตั้งแต่ปี 2013

แน่นอนว่า สิ่งที่อยู่ในใจของผู้นำจีนในการปลุกปั้นผลงานเหล่านี้ขึ้นมา ก็เพื่อคานอำนาจกับสหะรัฐ โดยเฉพาะการหวนกลับมาพัวพันกับชาติต่างๆ ในเอเชียในยุคโอบามา

ที่สำคัญ เบื้องหลังในการตั้งใจใช้เงินเพื่อจัดตั้งธนาคารแห่งใหม่ทั้ง AIIB และ NDB รวมทั้งกองทุน Silk Road และสารพัดกองทุนอื่นๆ ที่จีนควักกระเป๋าจัดตั้ง แท้จริงแล้ว ก็มุ่งเพื่อใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก้อนมหาศาลของจีนให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลให้มากขึ้น

แม้ว่าจีนจะมีทุนสำรองฯ มากที่สุดในโลกสูงกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ส่วนใหญ่ถูกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ โดยเฉพาะในรูปของการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐด้วยมูลค่ากว่า 1.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้จีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ แต่ผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างต่ำเพียงแค่ร้อยละ 2-3 ต่อปี และมีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น การกระจายนำทุนสำรองฯ ก้อนมหาศาลของจีนไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น การลงขันในการจัดตั้งบรรดาธนาคารทางเลือกใหม่ทั้ง AIIB และ NDB ตลอดจนการใส่เงินลงไปในกองทุนต่างๆ จึงเป็นการช่วยให้ทุนสำรองฯ ของจีนได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า และยังช่วยกระจายความเสี่ยงในการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐที่มากเกินไปด้วย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ธนาคารแห่งใหม่และกองทุนต่างๆ ที่จีนจัดตั้งขึ้น ยังเป็นช่องทางสำคัญในการผลักดันให้เงินหยวนถูกใช้ในระดับโลกให้มากขึ้น ด้วยความฝันที่จะเห็นเงินหยวนของตนได้ผงาดขึ้นเป็นอีกสกุลเงินหลักของโลกต่อไป เพราะในขณะนี้ แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศมากที่สุดในโลก และมีทุนสำรองฯ มากที่สุดในโลก แต่เงินหยวนของจีนก็ยังไม่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเงินสกุลหลักของโลก

            รัฐบาลจีนอาจจะใช้วิธีตั้งเงื่อนไขกับรัฐบาลประเทศที่จะมาใช้เงินจากกองทุนหรือแหล่งเงินทุนที่จีนหนุนหลัง โดยทำข้อตกลงสัญญาในการว่าจ้างวิสาหกิจจีนให้เป็นผู้ก่อสร้างและใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันในรูปของสกุลเงินหยวน เป็นต้น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้บรรดาบริษัทจีนได้ออกไปลงทุนรับงานสร้างโครงการก่อสร้างพื้นฐานจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่จะกู้เงินจากธนาคารที่จีนตั้งขึ้นมา รวมไปถึงโอกาสในการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนไปยังประเทศที่จะมาพึ่งพาแหล่งเงินเหล่านั้น เป็นต้น

อีกคำถามสำคัญ คือ การมีธนาคาร AIIB จะเป็นประโยชน์กับไทยและภูมิภาคเอเชียอย่างไร แน่นอนว่า ธนาคารแห่งใหม่ในเชิงหลักการ ย่อมจะเป็นอีกทางเลือกของแหล่งเงินทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในห้วงยามนี้ ซึ่งมีอุปสงค์ส่วนเกินในการแสวงหาแหล่งเงินจำนวนมหาศาลมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หากแต่มีความขาดแคลนของสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิมอย่างธนาคาร ADB ที่ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการและความจำเป็นทางการเงินเหล่านั้น เคยมีรายงานคาดการณ์ว่า “ภายในปี 2020 การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียต้องใช้เงินสูงถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” ดังนั้น ถ้าอาศัยองค์กรสถาบันการเงินที่มีอยู่เดิมในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ

แล้วธนาคาร AIIB ที่จีนปลุกปั้นมากับมือจะตอบโจทย์สนองความต้องการทางการเงินเหล่านี้ได้หรือไม่ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับแหล่งเงินระดับโลกและระดับภูมิภาคในแต่ละทางเลือกที่แสดงในตาราง พบว่า ธนาคาร AIIB ยังมีวงเงินลงทุนไม่มากและเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ จึงต้องรอลุ้นดูต่อไปว่า จะมีการขยายวงเงินลงทุนของว่าที่ธนาคารฯ น้องใหม่แห่งนี้ไปได้อีกมากน้อยแค่ไหน

            แม้ว่าจะมี 20 ประเทศร่วมลงนามใน MOU กับจีนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมก่อตั้งธนาคาร AIIB แต่ในทางปฏิบัติ ประเทศเหล่านี้จะสามารถใส่เงินลงทุนไปได้จริงมากน้อยเพียงใดก็ต้องติดตามดูต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีการใส่เงินลงขันตามสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจ GDP ของแต่ละประเทศ

             และในส่วนของไทยคาดว่า จะสามารถร่วมใส่เงินลงทุนในธนาคาร AIIB ได้ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังของไทยที่ต้องหาเงิน เช่น การออกพันธบัตร เพื่อระดมทุนไปร่วมลงขันใน AIIB ทางสศค. เคยระบุว่า จะใช้ระยะเวลาระดมทุนในส่วนของไทยประมาณ 5-7 ปี

นอกจากนี้ ยังขาดความชัดเจนในรายละเอียดของ AIIB ว่าจะมีรูปแบบและกลไกการดำเนินงานต่อไปอย่างไร แล้วจะมีจุดเด่นที่จูงใจหรือมีความแตกต่างกับธนาคารที่มีอยู่เดิมอย่าง ADB อย่างไร จึงต้องรอลุ้นและรอดูผลอย่างเป็นรูปธรรมของการก่อตั้งธนาคาร AIIB ต่อไป

–            อย่างไรก็ตาม มีรายงานเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2558ว่ารมว.คลังของไทยบินไปลงนามร่วมกับ “มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์-จีน” ตั้งธนาคาร AIIB แล้ว เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้าง  พื้นฐาน ทั้ง “พลังงาน-คมนาคม-สื่อสาร” และจีนขอมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค

โดย คุณกฤษฎา จีนะวิจารณะ   ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เอเปก ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเร็วๆ นี้คุณสมหมาย   ภาษี   รมว.คลังของเรา  ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้ง ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) หรือเอไอไอบี ณ เรือนรับรองรัฐบาลเตียวหยู่ไถ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นการลงนาม ล่วงหน้าร่วมกับรมว.คลังมาเลเซีย และรมว.คลังฟิลิปปินส์ โดยพิธีลงนามอย่างเป็นทางการมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 24 ต.ค. 2557

ทั้งนี้ การจัดตั้งธนาคาร AIIB เป็นแนวคิดของประเทศจีนที่มีความต้องการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม และสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น และจะเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางเลือกหนึ่งของไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ยังมีความต้องการเงินลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสูงมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค

คุณกฤษฎา กล่าวอีกว่า สำหรับการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง AIIB โดยประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนทุกประเทศได้แสดงเจตนารมณ์การเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง AIIB เช่นกัน ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ได้กำหนดหลักการและกรอบการดำเนินงานเบื้องต้นของ AIIB และการลงนาม ในครั้งนี้

                 มีรายงานแจ้งด้วยว่า สำหรับการตั้งธนาคาร AIIB มีวงเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศสมาชิกจะส่งเงินสมทบเข้าร่วมตามสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ของแต่ละประเทศ และเป็นเงินสมทบจากประเทศนอกสมาชิกประมาณ ร้อยละ 25 ของวงเงินจัดตั้งทั้งหมด ส่วนไทยจะมีความสามารถสนับสนุนด้านการเงินได้ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ในเบื้องต้น สศค.ประเมินว่า ไทยจะมีความสามารถสนับสนุนด้านการเงินได้ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.5 แสนล้านบาท ใช้ระยะเวลาระดมทุนประมาณ 5-7 ปี แต่ความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งธนาคาร AIIB มองว่า ยังต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยต้องหารือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อกำหนดบทบาทและทิศทางร่วมกันในรายละเอียดดำเนินการ

ก่อนหน้านี้ สศค.พิจารณาว่า การจัดตั้ง AIIB จะเป็นประโยชน์กับไทย โดยเฉพาะกรณีที่ไทยมีแผนจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟความเร็วสูง อาจจำเป็นต้องใช้เงินทุนจากแหล่งต่างๆ และจีนเองก็ต้องการเข้ามามีบทบาทในเวทีอาเซียน มีลักษณะคล้ายกับ ธนาคารโลกหรือ เวิลด์แบงก์ และธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี

                      คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เคยให้สัมภาษณ์ว่า เห็นด้วยกับการร่วมจัดตั้ง AIIB ส่วนเงินที่ใช้ในการร่วมลงทุน หากเรื่องนี้เป็นระดับนโยบายของภาครัฐ ก็คงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องหาเงินมาใส่เข้าไป ซึ่งวิธีการสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การออกพันธบัตร(บอนด์) ระดมทุนแล้วนำเงินไปร่วมลงทุน

                        ล่าสุดของล่าสุดก็มีรายงานว่ากลุ่มประเทศในอาเซี่ยนเกือบทุกประเทศไม่เว้น ลาว ก็ไปลงนามใน MOU สนับสนุนการจัดตั้งและพร้อมจะลงขันด้วย และพี่เบิ้มอย่างสหะรัฐ ก็จะเอากะเขาด้วย ในขณะที่เยอรมัน ฝรั่งเศส และประเทศตะวันตกหลายประเทศก็แสดงท่าทีให้การสนับสนุน

                    จะ(จำใจ)สนับสนุนแบบว่าอิจฉาบทบาทจีนที่พยายามถีบตัวเป็นมหาอำนาจโลกหรือไม่ ต้องติดตามอย่ากระพริบตา

 

 

อรุณ ช้างขวัญยืน/รายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ