วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

เทศบาลเมืองต้นเปาจัดงาน 30 ปี ร่มบ่อสร้าง

Spread the love

เทศบาลเมืองต้นเปาจัดงาน 30 ปี ร่มบ่อสร้าง อลังการ เทิดพระเกียรติและเฉลิมฉลองปีมหัศจรรย์เมืองไทย

 

 

30ปบอสราง

เทศบาลเมืองต้นเปา เตรียมพร้อมจัดงาน 30 ปี เทศกาลร่มบ่อสร้างฯ ประจำปี 2556 อลังการกับขบวนรถประดับร่มเน้นประดับตกแต่ง ด้วยเหลือง สีฟ้า และชมพู เทิดพระเกียรติและเฉลิมฉลองปีมหัศจรรย์เมืองไทย
นายสุภคิน วงศ์ษา นายกเทศมนตรีเมืองต้นเปา เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองต้นเปา ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ กำหนดจัดงาน “เทศกาลบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 30 ” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2556 ณ หมู่บ้านบ่อสร้าง ตำบลต้นเปาอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ และเทิดพระเกียรติและเฉลิมฉลองปีมหัศจรรย์เมืองไทยเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมารทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา
ภายในงานพบกับ การแสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์คุณภาพดี ราคาถูก สินค้าหัตถกรรมร่มบ่อสร้างลดราคาทั้งหมู่บ้าน การประกวดหัตถกรรมโดยสล่าท้องถิ่นวาดร่มแพรขนาดต่าง ๆ การประกวดตกแต่งหน้าร้าน การตกแต่งซุ้มประตูป่า ตลอดถนนสายบ่อสร้าง ชมนิทรรศการแสดงวิถีชีวิต และความเป็นมาของการทำร่มบ่อสร้าง ชมพิพิธภัณฑ์ร่มบ่อสร้าง และในช่วงภาคกลางคืนพบกับการประกวดธิดาร่มบ่อสร้าง การแสดงดนตรีไทยลูกทุ่ง และการแสดงดนตรีพื้นเมือง ฯลฯ อีกมากมาย
สำหรับการจัดงานร่มบ่อสร้างฯในครั้งนี้ มีกิจกรรมพิเศษนอกเหนือจากทุกปี ดังนี้
รถประดับร่มฯจะประดับตกแต่งภายใต้แนวคิด “เทิดพระเกียรติและเฉลิมฉลองปีมหัศจรรย์เมืองไทยW
หลังจากพิธีเปิดที่ยิ่งใหญ่ในวันที่ 18 มกราคม 2556 รถประดับร่มทุกคันจะนำมาจอดบนถนนบ่อสร้างเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปและสัมผัสความงามอย่างใกล้ชิด
ขบวนแม่ญิงขี่รถถีบก๋างจ้องและขบวนวัฒนธรรมล้านนา จะจัดให้นักท่องเที่ยวได้รับชมทุกวัน รถรางบริการนักท่องเที่ยวฟรีตลอดทั้งงาน
อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่จัดงาน ทางเทศบาลฯจะปิดถนนสายบ่อสร้าง ตั้งแต่ปากทางเข้าหมู่บ้าน บ่อสร้างจนถึงสามแยกหมู่บ้านบวกเป็ด รวมระยะทาง 1 กิโลเมตร ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชม เดินซื้อ เดินดูสินค้าหัตถกรรมในบรรยากาศดั้งเดิมของถนนคนเดินหมู่บ้านบ่อสร้าง อีกทั้งเพื่อความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมงานดังกล่าว


รมทอง

การกำเนิดของร่มบ่อสร้าง
ความชัดเจนของร่มไม้ไผ่จากพม่ามาสู่ไทยได้ปรากฏขึ้นเด่นชัดจากตำนานคำบอกเล่าของคนในยุคก่อนกว่า 200 ปี ที่ผ่านมา ดังมีเรื่องราวสาระดังต่อไปนี้
หลวงพ่ออินถา พระสงฆ์ผู้ธุดงค์ไปมาหาสู่จากพม่าและไทยเป็นประจำ ได้นำกลดหรือร่มธุดงค์ของพระสงฆ์จากพม่าเข้ามายังไทยที่เมืองเชียงใหม่ ระหว่างที่พำนักอยู่ที่ชุมชนบ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง กลดได้เกิดการชำรุดเสียหาย หลวงพ่อจึงนำไปให้ชาวบ้านช่วยซ่อมแซมจนกลดใช้ได้ดีดังเดิม เมื่อเห็นถึงความสามารถในการซ่อมกลดของชาวบ้านดังนั้น หลวงพ่ออินถาจึงได้แนะนำให้ชาวบ้านลองผลิตกลดขึ้นใหม่ทั้งคัน ชาวบ้านได้ลองทำขึ้นใหม่ในขนาดที่เล็กกว่ากลดเดิม ลองผิดลองถูกนานๆเข้า กลายเป็นร่มขนาดที่ใช้เหมาะมือ จนสามารถผลิตใช้สอยกันภายในหมู่บ้านอย่างทั่วถึง
ร่มบ่อสร้างในยุคแรกๆทำด้วยไม้ไผ่ทั้งคัน หุ้มด้วยกระดาษสาที่ผลิตกันเองภายในหมู่บ้านเช่นกัน ด้วยเปลือกปอสาทุบแล้วต้มให้ละลายด้วยน้ำขี้เถ้า ใช้ตะแกรงไม้ไผ่ล่อนช้อนมาตากแดดจนแห้ง แล้วนำมาหุ้มเป็นตัวร่ม ทาด้วยน้ำตะโก๋เพื่อให้กระดาษสาติดเป็นเนื้อเดียวกัน จะได้มีความเหนียวทนทานต่อแดดและฝน
สีสันของร่มในยุคก่อนนั้นถ้าทาด้วยฝุ่นแดงก็จะ เป็นร่มสีแดง ทาด้วยดินหม้อสีดำก็จะเป็นร่มสีดำ มีทำใช้กันอยู่สองสีเท่านั้น
ตามลานบ้านที่โล่งแจ้งในหมู่บ้านบ่อสร้าง จะเต็มไปด้วยตะแกรงไม้ไผ่ใช้ตากกระดาษสาและตากร่มที่ทาน้ำตะโก๋และทาสีบนร่มเต็มไปหมด
หลังจากนั้น มีการเริ่มวาดลวดลายต่างๆเพิ่มสีสันลงบนร่มเพื่อให้เกิดความสวยงามและน่าหยิบใช้มากขึ้น รูปดอกไม้เป็นที่นิยมวาดอย่างมากในขณะนั้น
ตามใต้ถุนบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนซึ่งเป็นที่พ้นแดด ชาวบ้านไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ จะช่วยกันตกแต่งและวาดลวดลายลงบนร่มกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ร่มบ่อสร้างเริ่มเป็นที่รู้จักกันในละแวกหมู่บ้านใกล้เคียงมากขึ้น จากที่ตั้งใจผลิตเพื่อใช้ในชุมชนก็เริ่มนำออกจำหน่ายจ่ายแจกกระจายทั่วไปมากขึ้น

DSC 7161

พัฒนาการของร่มบ่อสร้าง
การผลิตร่มของหมู่บ้านบ่อสร้างในระยะต่อมา ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐมากขึ้นตามลำดับ จากการใช้กระดาษสาหุ้มทำเป็นร่มแต่เพียงอย่างเดียว ก็มีการใช้ผ้าแพรหลากสีสันหุ้มแทนเพื่อความสวยงามและนำไปเป็นของฝากของที่ระลึก
พ่อค้าต่างถิ่นต่างทยอยเข้ามาซื้อร่มไปจำหน่ายมากขึ้น นักเดินทางต่างถิ่นและนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มรู้จักร่มบ่อสร้าง ต่างแนะนำชวนกันมาดูการผลิตเพิ่มมากขึ้น
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือมีชื่อเรียกย่อในขณะนั้นว่า อสท. หรือเรียกชื่อใหม่ในปัจจุบันว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คือ ททท. ก็เริ่มนำร่มบ่อสร้างและวิถีชีวิตของชุมชนบ้านบ่อสร้างออกเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติได้เข้ามาเที่ยวยังหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น
การกำเนิดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างฯ
เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้นอย่างต่อเนื่อง การกำเนิดของงานเทศกาลร่มบ่อสร้างครั้งที่ 1 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10-12 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ด้วยเหตุผลประการสำคัญคือ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดในด้านการท่องเที่ยวและเพื่ออนุรักษ์พัฒนาการทำร่มบ่อสร้างให้คงอยู่คู่กับจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยตลอดไป
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า สัญลักษณ์สำคัญในการโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทย จึงมักจะมีร่มบ่อสร้างเป็นเอกลักษณ์สำคัญร่วมด้วยเสมอไป
การถือกำเนิดของงานเทศกาลร่มบ่อสร้างนอกจากจะได้สร้างคุณูประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับชุมชนชาวบ้านบ่อสร้างแล้ว ยังถือได้ว่า หมูบ้านทำร่มบ้านบ่อสร้างได้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแห่งแรกที่เป็นต้นแบบของหมู่บ้านอื่นๆอีกหลายหมู่บ้านทั่วไปในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ได้มีการพัฒนาในทิศทางของการท่องเที่ยวเช่นกัน

การกำเนิดธิดาร่มและแม่ญิ่งขี่รถถีบก๋างจ้องDSC 7249
การกำเนิดของงานเทศกาลร่มบ่อสร้าง ได้สร้างตำนานและมิติใหม่ให้กับวงการประกวดสาวงามชาวเมืองเหนือของอำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่อีกอย่างหนึ่งก็ คือ การจัดให้มีการประกวดธิดาร่มบ่อสร้างและแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง ซึ่งเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้วงการประกวดสาวงามที่ต้องมีความสามารถถีบรถจักรยานและกางจ้องไปด้วย เสมือนการใช้ชีวิตประจำวันของสาวเชียงใหม่ที่ต้องขี่รถถีบออกไปทำงานเป็นกิจวัตรประจำวันของคนในสมัยนั้น และจากตำนานของสาวงามแห่งเมืองเชียงใหม่ดังกล่าว การประกวดธิดาร่มและแม่ญิงขี่รถถีบก๋างจ้องในงานเทศกาลร่ม ก็ได้มีการจัดประกวดสืบสานกันต่อๆมาในทุกๆปีจนถึง ณ ปีปัจจุบัน

งานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 30
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2556 ณ หมู่บ้านบ่อสร้าง ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด
“เทิดพระเกียรติและเฉลิมฉลองปีมหัศจรรย์เมืองไทย เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมาร
ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา”

กิจกรรมหลัก
– การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม ร่มบ่อสร้าง ลดราคาทั้งหมู่บ้าน
– ชมการประดับตกแต่งหน้าร้าน ซุ้มซอย บนถนนสายบ่อสร้าง
– นิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ร่มบ่อสร้าง
– การสาธิตการเหลาโครงร่ม การวาดร่ม การวาดพัด
– ชมการแสดงทางวัฒนธรรมและขบวนรถประดับร่ม
– กิจกรรมถนนศิลปะสู่ชุมชน
– ถนนคนเดิน

DSC 7531 2

กิจกรรมการประกวดและแข่งขัน
– การประกวดธิดาร่มบ่อสร้าง
– การประกวดหัตถกรรมวาดพัด วาดร่ม เหลาโครงร่ม
– การแข่งขันกลองสะบัดชัย
– การแข่งขันบอกไฟดอกลูกหนู
– การแข่งขันมอเตอร์ไซด์ไซเคิลครอส
– การแข่งขันเปตอง
– การแข่งขันจักรยานท่องเที่ยวศึกษาวิถีชุมชน เส้นทางท่องเที่ยวตำบลต้นเปา
– กิจกรรมประกวดภาพถ่าย
– การแข่งขันตะกร้อลอดห่วง

กิจกรรมพิเศษ
– ขบวนแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง จะมีทั้ง 3 วัน
– พิธีเปิดที่ยิ่งใหญ่อลังการ

ภายใต้แนวคิด
“เทิดพระเกียรติและเฉลิมฉลองปีมหัศจรรย์เมืองไทย
เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา
สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา
และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมาร
ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา”

– รถรางบริการนักท่องเที่ยวฟรี ตลอดทั้ง 3 วัน
– ขบวนรถประดับร่ม “เทิดพระเกียรติฯและเฉลิมฉลองปีมหัศจรรย์เมืองไทย” จะตกแต่งด้วยร่มสีเหลือง สีฟ้า และสีชมพู จะจอดให้นักท่องเที่ยวได้ชม ในวันที่ 19-20 ม.ค.56 เวลา 10.00-12.00 น. บนถนนบ่อสร้างตลอดสาย

 

ภาพและข่าว จาก http://www.tonpao.go.th/main/news-release/47-news/news-release/130-30umbella.html

สำนักข่าว 
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน