วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

เชียงใหม่เตรียมพร้อมป้องกันปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่เตรียมความพร้อมในการป้องกันการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน

จังหวัดเชียงใหม่เตรียมความพร้อมในการป้องกันการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2557 โดยแบ่งพื้นที่บริหารจัดการไฟป่าและหมอกควันออกเป็น 3 โซน พร้อมทั้งจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ

นายวิเชียร พุฒิวิญญู  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน พื้นที่ภาคเหนือทั้ง 9 จังหวัด รวม 832 ตำบล ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และ ตาก มักประสบปัญหาหมอกควัน สาเหตุหลักเกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร การเผาวัชพืชริมทาง ไฟป่าและการเผาในชุมชน ก่อให้เกิดหมอกควันฝุ่นละออง เถ้า เขม่าควัน ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศทีเป็นแอ่งกระทะ และสภาวะอากาศที่แห้ง ทำให้ฝุ่นละอองแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน บดบังทัศนวิสัย และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้มอบนโยบายให้จังหวัดบริหารจัดการอย่างเป็นรูปแบบ โดยผู้ว่าราชการมีอำนาจสูงสุดในการควบคุม สั่งการ และบัญชาหน่วยงานในพื้นที่ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและมีการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียว

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 มีการจัดประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อรับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ (Kick Off) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง กำหนดเขตควบคุมไฟป่าในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดให้พื้นที่ทุกหมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเขตควบคุมไฟป่า พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันไฟป่าขึ้นภายในพื้นที่เขตควบคุม ไฟป่าด้วย ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการป้องกันการจุดไฟเผาป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งสาเหตุประการหนึ่งเกิดจากการเผาเพื่อการเก็บหาของป่า การล่าสัตว์ และการกำจัดวัชพืชในพื้นที่ป่า ซึ่งหากพบผู้กระทำผิดก็จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการป้องกันการจุดไฟเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตร ซึ่งเกิดจากการกำจัดวัชพืชในที่ดินทำกินของเกษตรกรหรือการเผาขยะ และวัชพืชในพื้นที่โล่ง ก็จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดเช่นกัน และประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง ขอความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการเผาป่าและการเผาในที่โล่ง โดยให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกหน่วยงานปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีในการงดเผา ทุกชนิดในพื้นที่รับผิดชอบ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมการเผาทุกชนิดทั้งในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ พื้นที่     รกร้างว่างเปล่า พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สองข้างทาง รวมทั้งการเผาขยะ กิ่งไม้ใบไม้ตามบ้านเรือน และสนับสนุนการควบคุมไฟป่า โดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วนและเป็นตัวชี้วัดในการปฏิบัติงาน

ด้านการบริหารจัดการไฟป่า จังหวัดเชียงใหม่ได้แบ่งพื้นที่บริหารจัดการไฟป่าและหมอกควันออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนเหนือ โซนกลาง และ โซนใต้ โดยกำหนดแนวทางแก้ไข คือ ก่อนเกิดเหตุ (ตุลาคม-ธันวาคม)  โดยการจัดทำแนวกันไฟ การชิงเผาตามหลักวิชาการ ส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ปลอดการเผา โดยการทำปุ๋ยอินทรีย์ มีการประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสาย ป้ายประกาศ การจัดประกวดชิงรางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา มีการแจ้งเตือนตำบล ที่มี hotspot อยู่ในระดับสูง (ระดับ 3-4) และลงพื้นที่เตรียมความพร้อมในระดับอำเภอ ระหว่างเกิดเหตุ (มกราคม-เมษายน) มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ จัดชุดปฏิบัติการโดยบูรณาการหน่วยงาน      ทุกภาคส่วน และใช้สื่อทุกรูปแบบ ให้มีการรายงานสถานการณ์ในการแจ้งเหตุ จัดประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เร้นท์และส่งข้อมูลไปยังอำเภอ เพื่อให้ข้อมูลและแจ้งเตือนสถานการณ์ในพื้นที่ เช่น hotspot ค่าคุณภาพอากาศ มีการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกทุกรูปแบบ โดยเฉพาะทางเสียงตามสายและหอกระจายข่าว มีการตรวจติดตาม/วิเคราะห์ข้อมูล hotspot, ค่า PM10, ค่า AQI พยากรณ์อากาศ การเกิดไฟป่า การเผาในที่โล่ง เป็นต้น เพื่อส่งข้อมูลให้อำเภอ ตำบล ท้องถิ่น เพื่อใช้ในการวางแผนและดำเนินการในพื้นที่ หลังเกิดเหตุ (พฤษภาคม-กันยายน) ทำการฟื้นฟู (ปลูกต้นไม้, ทำแนวกันไฟป่าเปียก) ขยายผลองค์ความรู้และเพิ่มมูลค่าเชื้อเพลิง สรุปผลการปฏิบัติงาน การถอดบทเรียน และ มอบรางวัลสำหรับหมู่บ้านปลอดการเผา

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมถึงการคาดการณ์สถานการณ์ไฟป่า ปี 2557 ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งได้ติดตามปรากฏการณ์เอนโซ่ (ENSO) อันนำมาซึ่งความแปรปรวนของภูมิอากาศ ได้คาดหมายว่า ในช่วงปี 2557 สถานการณ์ของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมีความเป็นไปได้ว่าจะอยู่ในภาวะเป็นกลางมากกว่า 50% และโอกาสเกิดปรากฏการณ์แอลนิโญ/ลานีญา ประมาณร้อยละ 20 และร้อยละ 25 ตามลำดับ ในส่วนของปัญหาการเกิดมลภาวะหมอกควันไฟนั้น ขึ้นอยู่กับความผันผวนของสภาพอากาศเป็นสำคัญ หากมีความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมพื้นที่เป็นเวลานานจนผิดปกติในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะกักควันและไออากาศร้อนไม่สามารถลอยขึ้นไปสู่บรรยากาศที่สูงขึ้นไปได้ ย่อมเกิดปัญหามลภาวะจากหมอกควันตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้นในปี 2557 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิด และจัดเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมไฟป่าพอสมควร

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน