วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

เชียงใหม่วิกฤติแล้งจัดน้ำปิงเหือดแห้งผู้เลี้ยงปลากระชังรับผลกระทบ

Spread the love

เชียงใหม่วิกฤติแล้งจัดน้ำปิงเหือดแห้งผู้เลี้ยงปลากระชังรับผลกระทบ

 

เชียงใหม่วิกฤติภัยแล้ง น้ำแม่ปิงน้ำสายหลักตื้นเขินหลายจุด ชาวบ้านเลี้ยงปลาในกระชัง อ.เมือง อ.หางดง ได้รับผลกระทบน้ำเริ่มน้ำเสียเพราะน้ำตื้นเขิน ปภ.เชียงใหม่ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง 8 อำเภอ ขณะที่ชาวเขาแม่ฮ่องสอนแล้งหนัก เดือดร้อนน้ำแห้งขอด ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ปลูกพืชผักไม่ได้ ผบ.นพค.36 นำกำลังพลของหน่วย และเจ้าหน้าที่ อบต.  ลงพื้นที่ช่วยเหลือเร่งด่วน  จัดระบบประปาภูเขา  ให้ใหม่ทั้งหมด ด้านภาคการเกษตรเสียหายยับ

เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันที่ 29 ม.ค.56 ผู้สื่อข่าว cnxnews ได้ออกสำรวจลำน้ำปิงบริเวณตั้งแต่หน้าวัดวังสิงห์คำ ต.ป่าแดด อ.เมือง ไปจนถึง ฝายกั้นน้ำบ้านร้องขี้ควาย ต.สบแม่ข่า อ.หางดง จ.เชียงใหม่สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มเข้าขั้นวิกฤติ แม่น้ำปิงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่สายใต้หรือลุ่มแม่น้ำใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตร เพาะปลูกพืชผลการเกษตร แต่เพราะสภาพอากาศแล้งที่เกิดขึ้นทำให้น้ำแม่ปิงตื้นเขินจนเป็นสันดอนกลางลำน้ำ และส่วนใหญ่ชาวบ้านบริเวณนี้จะประกอบอาชีพเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังขาย ตามริมลำน้ำปิง วันนี้ชาวบ้านต้องลากกระชังเลี้ยงปลาไปอยู่บริเวณกลางลำน้ำซึ่งยังพอมีน้ำที่จะให้ปลามีชีวิตรอดได้

นางพิศ ไชยจันต๊ะ อายุ 58 ปี ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง  บ้านร้องขี้ควาย ต.สบแม่ข่า อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าน้ำปิงเริ่มแห้งขอดลงมาได้หลายวันแล้วน้ำปิงก็เริ่มที่จะเป็นสีดำและน้ำเสียส่งผลให้ปลาทับทิมที่เลี้ยงในกระชังขาดออกซิเจน และน้ำก็ไม่ไหลปลาที่เลี้ยงก็จะตายลงทุกวัน และจะเพิ่มขึ้นเลื่อยๆ หากน้ำในลำน้ำปิงไม่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนปลาที่ตายลงก็จะนำไปทิ้งหรือนำไปประกอบอาหารกินเอง เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่มาซื้อปลาจะซื้อปลาที่สดจะไม่นิยมซื้อปลาที่ตายแล้วไปประกอบอาหาร ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ผู้ที่เลี้ยงปลาในกระชังที่มีอยู่หลายที่บริเวณนี้ก็จะต้องขาดทุนไปตามๆกันอย่างแน่นอน ก็ต้องรอคอยผุ้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

ด้านนายคมสัน สุวรรณอัมพา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) ปี 2555 ไปแล้ว 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอดอยหล่อ จอมทอง แม่แจ่ม สันกำแพง พร้าว สะเมิง แม่ออน และ อำเภอฮอด โดยมีพื้นที่ประสบภัยแล้ว 58 ตำบล กว่า 405 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความ 4,271 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายไปกว่า 25,019 ไร่ โดยที่อำเภอสันกำแพง อำเภอสะเมิง และ อำเภอแม่ออน กำลังขาดน้ำทำการเกษตร ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปยังชลประทานจังหวัดให้เร่งปล่อยน้ำให้กับเกษตรกรเพื่อทำการเกษตรแล้ว ส่วนอำเภอที่ประสบภัยแล้งที่เหลือส่วนใหญ่จะประสบปัญหาเรื่องน้ำดื่ม จึงประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จัดรถน้ำออกแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว

 

ธนวรรธน์  จรณชัยวัจน์

ทีมข่าวCNXNEWS รายงาน