วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

เชียงใหม่ร่วมมือคณะวิจิตรศิลป์ มช.เปิดตัวโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (CMLS)

10 ต.ค. 2016
434
Spread the love

14462870_350436281955449_4143822411405925937_n

 

เชียงใหม่ร่วมมือคณะวิจิตรศิลป์ มช.เปิดตัวโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (Chiang Mai Learning Society)

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2559 เวลา 14.00 น. ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ศูนย์ศิลปกรรมและกิจกรรมพิเศษ  คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้  หรือ “Chiang Mai Learning Society” โดยได้รับเกียรติจาก นายประจวบ  กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการเปิดตัวโครงการฯ ร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วีระพันธ์  จันทร์หอม  หัวหน้าศูนย์ศิลปกรรมและกิจกรรมพิเศษ  คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ และนายธนกร  สมฤทธิ์ คณะทำงานโครงการฯ

 

นายประจวบ  กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงแนวคิดต่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ว่า การศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มความเท่าเทียมในสังคม สร้างอาชีพ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ

ทั้งนี้ ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  รวมถึงระบบการศึกษาที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ก่อให้เกิดความทันสมัยในองค์ความรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่ง UNESCO ได้สรุปทักษะสำคัญของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ ต้องรู้อ่าน รู้เขียน รู้คณิตคิดเป็น และรู้ด้านICT  และที่สำคัญต้องมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์โลก เข้าใจการปฏิบัติการเชิงธุรกิจ ทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ เป็นผู้มีสุขภาพดี และร่วมมือกันดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์สำคัญ สำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21

 

ด้านนโยบายทางด้านการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ และการสร้างให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Chiang Mai Learning Society) นั้น ได้กล่าวถึงแนวทางการจัดการศึกษาว่า สำหรับนโยบายการจัดการศึกษาในภาพรวมประเทศไทย ได้จัดทำ Roadmap การปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนอย่างยั่งยืน พ.ศ.2558 – พ.ศ. 2569 เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา  โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยจากมุ่งสาระการเรียนรู้ (Content based education) เป็น มุ่งพัฒนาความสามารถและทักษะผู้เรียน (Competence based education) ผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและผลิตภาพสูง สอดคล้องกับแนวโน้มการปฏิรูปการศึกษาในหลายประเทศ     ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับ “ทักษะ” (Skill) หรือความชำนาญในการปฏิบัติมากยิ่งกว่าเนื้อหาตามตำรา (Content) เป็นการปรับตัวของประเทศไทยในอันที่จะพัฒนากำลังคนให้มีมาตรฐาน มีขีดความสามารถ และศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลก

 

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่  ได้มอบนโยบาย ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ ทุกประเภท โดยดําเนินงานให้สอดคล้องกับกระแสหลักของสังคมที่ต้องการเปลี่ยนเป็นสังคมคุณภาพ (Quality Social) เพื่อพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ให้เจริญก้าวหน้าสามารถเข้าสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้ ซึ่งในแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดตำแหน่งการพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ด้านหนึ่ง คือ การเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษา (Education Hub)โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ จังหวัดเชียงใหม่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางบริการการศึกษาของภาคเหนือ  และสามารถเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติได้  และมีเป้าประสงค์ให้สังคมของเชียงใหม่ เป็นสังคมที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีพ ทั้งการศึกษาหาความรู้ในระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย

จังหวัดเชียง ได้ส่งเสริมการจัดการศึกษา มุ่งพัฒนาการศึกษา ภายใต้กรอบแนวคิดหลักคุณภาพและความเท่าเทียม รวมทั้งนําเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครอบคลุมทั้ง 4 โอกาส คือ

1) โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร สิ่งอํานวยความสะดวก เพื่อสามารถได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

2) โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน นักเรียน นักศึกษาสามารถ เข้าเรียนได้โดยไม่ขึ้นกับฐานะของผู้ปกครอง

3) โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ  นักเรียนนักศึกษาทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริง ผ่านการเรียนรู้บนฐานการทํากิจกรรม (Activity Based Learning)

4) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยใช้เทคโนโลยี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ ศูนย์วัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน จะสามารถสร้างให้เชียงใหม่เป็นสังคมที่มีการเรียนรู้ มีการศึกษา ฝึกฝนตัวเองอยู่ตลอด ก้าวทันโลกและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

 

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วีระพันธ์  จันทร์หอม  ได้กล่าวถึง ที่มาของโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ว่าเพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายในการพัฒนาคนและสังคมของจังหวัดเชียงใหม่ให้มีคุณภาพ จนนำไปสู่การกำหนดตำแหน่งการพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ด้านหนึ่ง คือ การเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษา (Education Hub)ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดกลยุทธ์ ที่จะดำเนินการให้บรรลุตามนโยบาย  คือ การสร้างสังคมแห่งวัฒนธรรม ความรู้ ภูมิปัญญา จิตสาธารณะ และพัฒนาศักยภาพของคนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

กลยุทธ์ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีแผนงานที่เกี่ยวข้อง คือ แผนการศึกษาและการเข้าถึงบริการการการศึกษา  แผนพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนได้มาตรฐานและยั่งยืนในทุกระดับ และแผนงานเสริมสร้างการเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ของจังหวัดเชียงใหม่มีความยั่งยืน ตอบสนองต่อนโยบายของชาติ และทิศทางการพัฒนาของจังหวัด สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้เกียรติ ศูนย์ศิลปกรรมและกิจกรรมพิเศษ  คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้  หรือ Chiang Mai Learning Society  โดยมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ เพื่อ

–                 กำหนดแนวทางในการพัฒนาเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

–                 จัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วนของการทำงาน  ป้องกันและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน

–                 ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของจังหวัด ลดข้อผิดพลาดและเกิดผลสัมฤทธิ์

–                 เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และ

–                 ส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีทักษะครอบคลุมการเรียนรู้ใน ศตวรรษที่ 21

 

ทั้งนี้ เป้าหมายในการดำเนินโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ในครั้งนี้ คือ

1)            เพื่อให้จังหวัดเชียงใหม่มีการวางแผนปฏิบัติการพัฒนาสู่สังคมแห่งการเรียนรู้แบบบูรณา-การจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา และสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

2)           ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมสู่การเรียนรู้ของจังหวัดเชียงใหม่

3)            บุคลากรด้านการศึกษามีความรู้ ความเข้าใจในด้านการวางแผนพัฒนาการเรียนรู้สู่สังคมมากขึ้น และ เพื่อให้

4)            จังหวัดเชียงใหม่มีต้นแบบแนวทางการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่อื่นได้

 

ทั้งนี้ นายธนกร  สมฤทธิ์ ได้กล่าวเสริมถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นโครงการเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ว่า ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการฯ จะครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ได้แก่

1)     การศึกษา รวบรวมข้อมูล และองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมแห่งการเรียนรู้ ในส่วนนี้จะรวมไปถึงการศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศสิงคโปร์

2)    การศึกษาและรวบรวมข้อมูล แนวทางการศึกษาในปัจจุบันของจังหวัดเชียงใหม่

3)     วิเคราะห์รูปแบบการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้จากการศึกษา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับจังหวัดเชียงใหม่

4)     พัฒนาตัวแบบ (Module) แนวทางการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับจังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตามแนวทางการศึกษา และทักษะ ทั้ง 3 ด้าน คือ

o   ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม

o   ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี

o   ทักษะชีวิตและอาชีพ

โดยในส่วนของการพัฒนาตัวแบบนี้ จะจัดสัมมนาระดมความคิดเห็น 3 ครั้ง กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการเข้าร่วมครั้งละ 30 คน ครอบคลุมกลุ่มบุคลากรทางการศึกษาต่างๆ เช่น ครู อาจารย์ด้านวิชาการในสถาบันการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันการศึกษาสาขาวิชาชีพ สถาบันพัฒนศิลป์ สถาบันอุดมศึกษา แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะรวมไปถึง ปราชญ์ชาวบ้าน แกนนำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาพื้นถิ่น เป็นตัน

5)     จัดกิจกรรมพัฒนาต้นแบบ (Model) โดยนำตัวแบบที่พัฒนาได้ มาปรับใช้กับองค์ความรู้ 1 เรื่อง โดยภายใต้กิจกรรมนี้ จะมีกิจกรรมย่อยคอ การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Learning by doing) จำนวน 3 ครั้ง กำหนดกลุ่มเป้าหมายร่วมกิจกรรม ครั้งละไม่น้อยกว่า 30 คน ครอบคลุมประชากร กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ในระบบการศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มประชาชนทั่วไป และการศึกษานอกระบบ เช่น โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ชมรมศิลปวัฒธรรมล้านนา กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน โรงเรียนผู้สูงอายุ แกนนำชุมชน หรือสภาเยาวชน เป็นต้น

6)     การถอดบทเรียนจากการจัดกิจกรรมที่ได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาและต้นแบบเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้

7)    การจัดกิจกรรม Open house จำนวน 1 ครั้ง เพื่อนำเสนอแผนพัฒนาและต้นแบบเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบที่น่าสนใจ เช่น การเยี่ยมชมชุมชนทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ และการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ผลงาน เป็นต้น

8)     จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์แผนพัฒนาเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ในรูปแบบ pocket book

9)    ประชาสัมพันธ์แผนพัฒนาเชียงใหม่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ ประกอบด้วย การจัดแถลงข่าว การประชาสัมพันธ์ผ่านสถานีโทรทัศน์  สถานีวิทยุ  สื่อสังคมออนไลน์ และการจัดทำสารคดีสั้น

 

ซึ่งกิจกรรมทั้งหมด จะตอบสนองต่อเป้าหมายของโครงการฯ คือ จังหวัดเชียงใหม่มีการวางแผนปฏิบัติการพัฒนาสู่สังคมแห่งการเรียนรู้แบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ จนนำไปสู่การมีต้นแบบแนวทางการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป

 

 

DSC_5172

.DSC_5166

DSC_5133

DSC_5134

DSC_5135

DSC_5138

DSC_5143

DSC_5144

DSC_5145 DSC_5146 DSC_5147

DSC_5148

DSC_5149

DSC_5150 DSC_5151

DSC_5157

DSC_5163

CNX NEWS  เจาะข่าว  ตรงใจคุณ

รายงาน