วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

เชียงใหม่จัดประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2557

  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เน้นย้ำให้โครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยแล้งเป็นอันดับแรก ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรได้ดำเนินการตามแผนสนับสนุนอยู่แล้ว ส่วนกระบวนการแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้ชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนถึงรอบเวรในการจัดสรรน้ำด้วย

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.57  เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายชนะ  แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี พ.ศ.2557 ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งเพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและด้วยความรวดเร็ว โดยมีการบูรณาการและประสานการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง

นางภัชธนิตา สดุดี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดตั้งซูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยให้อำเภอ และ อปท.จัดทำแผนแจกจ่ายน้ำให้แก่ราษฎร ตามข้อมูลหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการประสบปัญหาภัยแล้ง กำหนดจุดแจกจ่ายน้ำ ณ สถนที่ที่สะดวกกับประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน จัดเตรียมกำลังคน สำรวจวัสดุ อุปกรณ์ รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือเครื่องใช้ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งให้พร้อมใช้การได้ทันที สำรวจแหล่งน้ำรวมทั้งภาชนะเก็บกักน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้อย่างเพียงพอ และจัดทำบัญชีไว้เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำดังกล่าว รณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดหาภาชนะเก็บกักน้ำเก็บกักน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งทำความเข้าใจและแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชฤดูแล้ง นอกจากนั้นได้แจ้งให้ อปท.ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาแหล่งน้ำสาธารณะ และภาชนะเก็บกักน้ำอื่น ๆ อีกทั้งพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดที่จัดทำไว้มาดำเนินการในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังได้กำหนดพื้นที่ และหน่วยงานรับผิดชอบภัยแล้ง 5 โซน ประกอบด้วย โซน A  ได้แก่ อำเภอ    ดอยสะเก็ด สันทราย เมืองเชียงใหม่ สันกำแพงและแม่ออน โซน B ได้แก่ อำเภอสารภี หางดง สะเมิง สันป่าตอง และ แม่วาง โซน C ได้แก่ อำเภอจอมทอง แม่แจ่ม ฮอด ดอยเต่า อมก๋อย ดอยหล่อ และ กัลยาณิ-วัฒนา โซน D ได้แก่ อำเภอแม่ริม แม่แตง เชียงดาว และ พร้าว โซน E ได้แก่ อำเภอ ไชยปราการ เวียงแหง ฝาง และ แม่อาย โดยได้กำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้การช่วยเหลือทั้ง 5 โซนไว้แล้ว ในกรณีที่เกิดวิกฤตรุนแรงสามารถขอรับการสนับสนุนหรือบูรณาการทั้งอุปกรณ์หน่วยงาน

สำหรับข้อมูลพื้นที่ประสบภัยแล้งของจังหวัดเชียงใหม่ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2557 มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว รวมทั้งสิ้น 18 อำเภอ 88 ตำบล 801 หมู่บ้าน 82,910 ครัวเรือน 244,899 คน พื้นที่เกษตรเสียหาย  136,307 ไร่ และ ปศุสัตว์ 5,427 ตัว โดยแยกพื้นที่ประสบปัญหาความแห้งแล้ง แบ่งเป็น ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและพื้นที่การเกษตร 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอไชยปราการ ดอยหล่อ อมก๋อย หางดง ฮอด แม่ริมสารภี และอำเภอเมืองเชียงใหม่ ขาดแคลนด้านการเกษตร  10 อำเภอ  ประกอบด้วย อำเภอดอยเต่า พร้าว หางดง สะเมิง สันป่าตอง จอมทอง แม่แจ่ม ดอยสะเก็ด กัลยาณิวัฒนา และแม่แตง ทั้งในในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ อำเภอและ อปท.ในพื้นที่ได้เข้าไปดำเนินการให้การช่วยเหลือทั้งการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร และการบรรทุกน้ำอุปโภค-บริโภคเข้าไปแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนแล้ว ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานว่า เนื่องจากปัญหาภัยแล้งเป็นสาธารณภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและระยะเวลายาวนาน ปัจจัยการเกิดจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและความต้องการของผู้ประสบภัยมีทั้งในเรื่องของน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวระเบียบและหลักเกณฑ์การใช้เงินทดรองราชการไม่เอื้ออำนวยต่อการให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ได้ให้ข้อเสนอแนะในเชิงพื้นที่ว่า ควรมีการวางแผนการใช้น้ำของชุมชน เช่น การวางแผนในการปลูกพืชฤดูแล้ง การบริหารจัดการน้ำ การขุดลอกแหล่งน้ำ และการเตรียมภาชนะรองรับน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ส่วนข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายนั้น ควรมีนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และการจัดโซนนิ่งพื้นที่ เช่นในเขตการจ่ายน้ำของหน่วยงานชลประทาน พื้นที่นอกเขตชลประทาน พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง และพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก เพื่อการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

ผู้แทนโครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ วันที่ 28 มีนาคม 2557 ว่า  เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำ 178.901 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 67.51% ของความจุอ่าง เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 97.18 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36.95 ของความจุอ่าง ส่วน อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 12 แห่ง มีปริมาณน้ำ 28.25 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32.49 โดยสรุปมีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาบริหารจัดการได้ทั้งหมด ประมาณร้อยละ 50 ทั้งนี้โครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการจัดสรรแบ่งปันน้ำสนับสนุนทุกกิจกรรมตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้แล้ว

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเน้นย้ำให้โครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยแล้งเป็นอันดับแรก สำหรับน้ำเพื่อการเกษตรโครงการชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการตามแผนสนับสนุนอยู่แล้ว ส่วนกระบวนการแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือราษฎรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้ชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนถึงรอบเวรและกฎกติกา หรือหลักเกณฑ์ในการจัดสรรน้ำด้วย

 

 

ำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน