วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

เชียงใหมจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันจากภัยแผ่นดินไหว

Spread the love

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากภัยแผ่นดินไหว

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากภัยแผ่นดินไหว ดินโคลนถล่มแก่เครือข่ายประชาสัมพันธ์ 4 อำเภอของเชียงใหม่ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลแก่ประชาชนในพื้นที่ให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้นได้

นางอุบลรัตน์  คงกระพันธ์  ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศ พบว่ามีแนวโน้มของการเกิดภัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้ง อุทกภัย แผ่นดินไหว สึนามิ ภัยแล้ง ไฟป้าและหมอกควัน  ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินทั้งของทางราชการและประชาชน ตลอดจนระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ซึ่งไม่สามารถประเมิน  ค่าได้ นั้น กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ของรัฐ มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์การสร้างความรู้ ความเข้าใจของประชาชน ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสาธารณภัยและวิกฤตการณ์ที่เป็นภัยคุกคาม ต่าง ๆ ที่เกิดจากภัยธรรมชาติและภัยที่เกิดจากมนุษย์ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมชี้แจง “แนวทางการประชาสัมพันธ์และการรณรงค์ป้องกันสาธารณภัยและภาวะวิกฤต” ขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2557 เวลา 08.00–14.30 น.  ณ โรงแรมริมดอย รีสอร์ท อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายภาษเดช  หงส์ลดารมภ์ นายอำเภอเชียงดาว เป็นประธานในพิธีเปิด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน(อป.มช.) ผู้รับผิดชอบเสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน และผู้ดำเนินรายการวิทยุชุมชุมชน ในพื้นที่อำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ และ เชียงดาว      รวมทั้งสิ้น  33 คน เข้าร่วมรับฟังเพื่อนำข้อมูลและความรู้ที่ได้รับไปขยายผลแก่ประชาชนในพื้นที่ตนเองต่อไป

ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดประชุมชี้แจง “แนวทางการประชาสัมพันธ์และการรณรงค์ป้องกันสาธารณภัยและภาวะวิกฤต” ได้เชิญวิทยากรจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ มาบรรยายให้ความรู้จากการบรรยายเรื่อง “การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์สาธารณภัย” ในส่วนผู้แทนของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ บรรยายให้ความรู้เรื่อง “การเตรียมความพร้อมด้านอาคาร เพื่อรับภัยแผ่นดินไหว” และ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือได้บรรยายให้ความรู้เรื่อง “การเตรียมความรับสถานการณ์แผ่นดินไหว”

นายเรืองฤทธิ์  ผลดี หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ วิทยากรจากสำนักงานป้องกันและบรรเทา        สาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในทุกพื้นที่มีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือ อปพร. ทำหน้าที่กู้ชีพ กู้ภัย ซึ่งได้มีการพัฒนาทักษะในการทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบสาธารณภัยในแต่ละด้านพร้อมเครื่องมือกู้ภัยที่มีประสิทธิภาพ อาทิ  วาตภัย อัคคีภัย อุทกภัย โดยหากประชาชนร้องขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงาน ปภ. แล้ว ทางสำนักงานก็จะพิจารณาว่าควรใช้ทีม อปพร.ที่มีทักษะในด้านนั้น ๆ ไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อลดความสูญเสียอันอาจจะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนั้นยังมี “มิสเตอร์เตือนภัย” ในทุกหมู่บ้าน ๆ ละ 2 คน โดยจะทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อแจ้งเตือนประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนจะเกิดภัยและสามารถเตรียมการป้องกันตนเอง ครอบครัว และทรัพย์สินได้

นายสมาน  ปราการรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยา ได้บรรยายให้ความรู้เรื่อง “การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์แผ่นดินไหว” ได้ชี้แจงถึงสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว ว่า จากรอยเลื่อนระเบิดใต้ดินซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังทั้งหมด 14 รอยเลื่อน โดยกระจายอยู่ใน 22 จังหวัด นอกจากนั้นยังมีสาเหตุเกิดจากการไหลหมุนเวียนของน้ำใต้ดิน การเคลื่อนตัวของหินหลอมละลาย การเปลี่ยนแปลงสถานะใต้ดิน การทำเหมือง การยุบตัวใต้ดิน พร้อมทั้งได้แนะนำข้อปฏิบัติแก่ประชาชนในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากภัยแผ่นดินไหว คือ ระหว่างการเกิดแผ่นไหวจนถึงหลังจากแผนดินไหว 2 นาที หากรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวให้รีบหาที่ปลอดภัยหลบเป็นอันดับแรก หลบใต้โต๊ะหรือสิ่งที่สามารถป้องกันสิ่งของที่จะตกมาใส่ อย่าตื่นตระหนกวิ่งออกจากบ้านเพราะอาจมีสิ่งของตกลงมาทับตัวได้ ระวังกระจกแตก แผ่นกระเบื้อง หรือป้ายต่าง ๆ ที่จะตกลงมา พยายามหลีกเลี่ยงกำแพงคอนกรีตบล็อก ให้เปิดประตู หรือหน้าต่างค้างไว้เพื่อที่จะได้แน่ใจว่ามีทางหนี ช่วง 2-5 นาที หลังแผ่นดินไหว ควรป้องกันมิให้เกิดเหตุไฟไหม้โดยการปิดแก็สหุงต้มทันที ปิดสะพานไฟเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าและตะโกนบอกต่อ ๆ กันด้วย หากไฟไหม้เกิดขึ้นให้รีบตะโกนขอความช่วยเหลือทันที หากมีอุปกรณ์ดับไฟให้รีบดำเนินการ ช่วง 5-10 นาที หลังเกิดแผ่นดินไหว หลังจากดับไฟในบ้านแล้ว ให้รับตรวจสอบสภาพของบ้าน ระวังเหยียบเศษแก้ว   เศษกระจก ที่ตกหล่น ช่วยเหลือคนชรา และคนป่วย ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ซักซ้อมและนัดแนะสมาชิกในครอบครัวหากเกิดเหตุกาณ์ฉุกเฉิน และคอยรับฟังข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอุปกรณ์ที่ควรเตรียมพร้อมไว้เสมอเพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ได้แก่ ไฟฉายและถ่าน เครื่องปั่นไฟ น้ำมัน วิทยุ หมวกนิรภัย ชะแรง แม่แรงเลื่อย พลั่ว อุปกรณ์ช่าง อุปกรณ์การปฐมพยาบาล เชือก บันได เปลหาม ถุงมือ หน้ากาก รวมทั้งเสบียงสำหรับการดำรงชีวิต ได้แก่ น้ำดื่ม อาหาร     ผ้าห่ม เป็นต้น

นายธนะเมศฐ์ มหาวงศนันท์ วิศวกรโยธาชำนาญการ วิทยากรจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความรู้ด้านการเตรียมความพร้อมด้านอาคารรับภัยแผ่นดินไหว ว่า สำนักงานโยธาธิการและ       ผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านรายการวิทยุ ทางสถานีวิทยุวัดป่าแดง FM. 92.25 Mh. ทุกวันศุกร์ 11.00-12.00 น. นอกจากนั้นกรมโยธาธิการและผังเมืองยังได้จัดให้มีเอกสาร คู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยและการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ฉบับประชาชน  มาตรฐานในการออกแบบเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว หาข้อมูลได้ที่ http://www.dpt.go.th  สำหรับข้อแนะนำในการก่อสร้างอาคารใหม่ หรือที่พักอาศัยให้ปลอดภัยจากเหตุแผ่นดินไหวนั้น ควรออกแบบอาคารให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างถูกต้อง คุณภาพได้มาตรฐาน การก่อสร้างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โดยเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ส่วนอาคารเก่า ที่ก่อสร้างก่อน กฎกระทรวงฯ พ.ศ.2550  อาคารเหล่านี้ได้ออกแบบไว้สำหรับรับแรงลม หรือเรียกว่าแรงเฉือน ที่สามารถทำให้อาคารสั่นไหว ก็เป็นมาตรการเบื้องต้นที่สามารถรับแรงแผ่นดินไหวขนาดเบาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขณะที่คณะกรรมการควบคุมอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ระหว่างการยกร่างกฎกระทรวงใหม่ เพื่อให้เจ้าของอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 ได้ปรับโครงสร้างอาคารรองรับแผ่นดินไหวเหมือนกับอาคารที่สร้างภายหลังกฎกระทรวงฯ บังคับใช้

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน