วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

อีก 30 ปีเศษประชากรโลกจะเพิ่มเป็น9,000 ล้านคน FAO แนะให้หัดกินแมลงได้แล้ว

Spread the love

scoop

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

อีก30ปีเศษประชากรโลกจะเพิ่มเป็น9,000 ล้านคน FAO แนะให้หัดกินแมลงได้แล้ว

ท่านผู้อ่านครับปัจจุบัน (พ.ศ. 2559)พลเมืองของโลกมีตัวเลขอยู่ที่7,400 ล้านคนครับ และในปี 2593 หรืออีก33ปีข้างหน้าองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) รายงานว่าประชากรของโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน ในขณะที่ปัจจุบันเรายังทำการเกษตรกันแบบไม่เพียงพอบริโภค เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหันมาสนใจอาหารชนิดอื่นกันแล้ว ไม่อย่างนั้นจะมีคนอดตายกันเป็นพันล้านคนแน่ ถ้าถึงวันนั้น

และ แมลง เป็นอาหารทางเลือกใหม่ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO)เขาแนะนำให้เป็นอาหารสำหรับประชากรในอนาคตครับ

สาเหตุสำคัญที่ FAO เลือกให้แมลงเป็นสินค้าอาหารทางเลือกใหม่ คือ แมลงเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูง ทั้งโปรตีน ไขมัน และวิตามิน สามารถใช้เป็นอาหารทดแทนโปรตีนจากสัตว์ใหญ่ได้ดี อาทิ เนื้อจิ้งหรีด 200 แคลอรี ให้โปรตีน 31 กรัม เทียบกับเนื้อวัวให้โปรตีนเพียง 22 กรัมและการเลี้ยงแมลงไม่ต้องใช้พื้นที่และน้ำมาก ในกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อให้ได้เนื้อจิ้งหรีดน้ำหนัก 1 ปอนด์ จะมีการใช้น้ำเพียง 1 แกลลอน ขณะที่การเลี้ยงวัวเพื่อผลิตเนื้อวัวน้ำหนัก 1 ปอนด์ ใช้น้ำมากถึง 2,000 แกลลอนนอกจากนี้ยัง ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ลงทุนต่ำ สามารถเลี้ยงในเขตชนบทได้และการเลี้ยงแมลงยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทนต่ำ (เป็นต้นเหตุของภาวะเรือนกระจก)แมลงมีอัตราการแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio) ต่ำ ทั้งนี้ การเลี้ยงแมลง 1 กิโลกรัมจะใช้อาหารในการเลี้ยงเพียง 2 กิโลกรัม แต่การเลี้ยงวัว 1 กิโลกรัมต้องใช้อาหารในการเลี้ยง 8 กิโลกรัม        

                 FAO.รายงานว่าปัจจุบันมีแมลงมากกว่า 1,900 ชนิดที่สามารถรับประทานได้และมีประชากรโลกราว 2,000 ล้านคนที่รับประทานแมลงเป็นอาหาร

การบริโภคแมลงมีมาช้านานแล้วในบางประเทศ และในปัจจุบันหลายประเทศก็หันมาบริโภคแมลงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคซึ่งนิยมทดลองอาหารแปลกใหม่ เช่น อมยิ้มที่มีแมลงฝังอยู่ข้างใน และซูชิแมลง อย่างไรก็ตาม การที่ FAO สนับสนุนให้มีการบริโภคแมลงมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้มีชื่อเสียงของโลกหลายราย อาทิ Bill Gate, David George Gordow (เชฟที่มีชื่อเสียง) และสถาบัน

สอนอาหารชั้นนำร่วมกันรณรงค์และผลักดันให้บริโภคแมลงเพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ภัตตาคารที่มีชื่อเสียงของโลกอย่าง Noma ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (ได้รับรางวัล Best Restaurant in the World ในปี 2553-2555 และปี 2557) นำมดและแมลงมาประกอบอาหารในเมนูสุดหรู ล้วนทำให้อาหารจากแมลงเป็นที่สนใจของผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย ทั้งนี้ ตลาดแมลงในสหรัฐฯ แม้ยังมีขนาดเล็กและอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยมีมูลค่าตลาดเพียงราว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นตลาดที่มีโอกาสขยายตัวอีกมากในอนาคต โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส รายงานว่า ปัจจุบันในสหรัฐฯ มี Startup จำนวนมากขึ้นที่ทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าอาหารที่ทำจากแมลง และได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน ขณะที่กลุ่มผู้บริโภค

ที่สนใจบริโภคแมลงก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในช่วงอายุ 30-44 ปี ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารที่ทำจากแมลงอยู่ราว 110 ร้าน และยังมีแมลงจำหน่ายทั้งในตลาดค้าปลีก อาทิ EntoMarket และจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ อาทิ www.cricketpowder.com และ www.amazon.com อาหารจากแมลงที่ชาวอเมริกันบริโภคมีหลายชนิด อาทิ ทาโก้ทำจาก

ตั๊กแตน โปรตีนบาร์ที่ทำจากแมลง ไส้เดือนรสจัด จิ้งหรีดรสพริกมะนาว และคุกกี้ที่ทำจากแป้งจิ้งหรีด สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ แป้งจิ้งหรีด นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ ยังมีการทำฟาร์มแมลงเพื่อการบริโภคในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งจำหน่ายให้ขณะที่ EU เป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพ แม้ปัจจุบัน EU จะยังไม่นิยมบริโภคแมลงเป็นอาหารมากนัก แต่การที่คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศยอมรับกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับอาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (Novel food) เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ทำให้สถานประกอบการใน EU สามารถนำเข้า Novel food ซึ่งรวมถึงแมลง ได้สะดวกขึ้น และน่าจะช่วยให้ตลาดอาหารจากแมลงใน EU เปิดกว้างขึ้น

                   ส่วน ประเทศไทยของราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความได้เปรียบในฐานะแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าอาหารจากแมลงอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากภูมิประเทศอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้เป็นแหล่งอาศัยของแมลงจำนวนมาก และมีแมลงที่รับประทานได้มากกว่า 300 สายพันธุ์ อาทิ ตั๊กแตน จิ้งหรีด หนอนไม้ไผ่ หนอนดักแด้ และด้วงสาคู ซึ่งนอกจากนำมาปิ้ง ทอด ย่างแล้ว ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังสามารถนำแมลงดังกล่าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงได้หลากหลายชนิด อาทิ จิ้งหรีดกระป๋อง ข้าวเกรียบบดจากจิ้งหรีด และน้ำพริกจิ้งหรีดตาแดง โดยบางส่วนสามารถแปรรูปในระดับอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกด้วยเช่นกัน

สำหรับ การทำตลาดสินค้าอาหารจากแมลง อาจเป็นเรื่องยากในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคไม่คุ้นเคยกับการรับประทานแมลงมาก่อน เนื่องจากรูปร่างของแมลงดูไม่น่ารับประทาน ดังนั้น กลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ การนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้แมลงเป็นส่วนผสมของอาหารในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ทำให้เห็นรูปร่างของแมลงทั้งตัว เช่น ทำเป็นแป้งเพื่อใช้ประกอบอาหารอื่นๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้บริโภคและพร้อมเปิดรับการบริโภคอาหารที่ทำจากแมลงได้ง่ายขึ้น เมื่อผนวกกับการประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของการ

บริโภคแมลง และรสชาติที่อร่อย ย่อมทำให้ตลาดอาหารจากแมลงมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น นอกจากนี้ การคิดค้นเมนูอาหารที่มีแมลงเป็นส่วนประกอบก็มีส่วนดึงดูดให้ผู้บริโภคกล้าลองรับประทานอาหารจากแมลงมากขึ้น เช่น ร้าน “บั๊กส์ คาเฟ่” ซึ่งเป็นภัตตาคารอาหารฝรั่งเศสในเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ที่นำจิ้งหรีด ตั๊กแตน ผึ้ง มด แมงป่อง และแมงมุมพิษ มาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำอาหารฟิวชั่นที่ผสมความเป็นเอเชียกับยุโรป เช่น ส้มตำแมงป่อง ปอเปี๊ยะเนื้อมด คัพเค้กผสมจิ้งหรีด หรือโดนัทแมงมุม ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะมาชิม โดยลูกค้าที่ได้มาลองรับประทานอาหารต่างเห็นว่า การผสมผสานแมลงในเมนูดังกล่าว ทำให้กล้ารับประทานแมลงมากขึ้นและก็พบว่ามีรสชาติอร่อยกว่าที่คิดไว้

บ้านเรา ทราบว่ามีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อส่งขายในตลาดมานานแล้วครับ ตอนนี้ ผมก็เห็นท่าว่าน่าจะหันมาให้ความสนใจกันให้มันเป็นเรื่องเป็นราวเสียทีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ครับจึงนำรายงานเรื่องนี้มาเสนอท่าน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก EXIM E-NEWS

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ