วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

สื่อมวลชนเชียงใหม่เยี่ยมชมโครงการหลวงอินทนนท์

Spread the love

สื่อมวลชนเชียงใหม่เยี่ยมชมโครงการหลวงอินทนนท์  

 

สื่อมวลชนเชียงใหม่เยี่ยมชมโครงการหลวงอินทนนท์  ชมความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนจนได้ผลิตภัณฑ์ “แบลคคาร์เวียร์” และกุหลาบสายพันธ์ใหม่

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ในการสืนสานปณิธาณการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรชาวไทยภูเขา พร้อมชมความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนจนได้ผลิตภัณฑ์ “แบลคคาร์เวียร์” ปลาเรนโบว์เทราต์ ที่สถานีวิจัยประมงบนบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์ และกุหลาบสายพันธุ์ใหม่ของโครงการหลวงที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 14.30 น. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรม“เวทีเสวนาและศึกษาดูงานโครงการตามพระราชดำริ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์”ตามโครงการประชาสัมพันธ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2557 ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์

นางอุบลรัตน์ คงกระพันธ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรม“เวทีเสวนาและศึกษาดูงานโครงการตามพระราชดำริ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์” ขึ้น เนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะหน่วยงานประชาสัมพันธ์หลักของรัฐบาล ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ จึงกำหนดให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดทั้ง 76 จังหวัด
จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้รับทราบถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกำหนดจัดขึ้น ในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2557 ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์ โดยกิจกรรมในครั้งนี้มุ่งหวังให้สื่อมวลชนได้ชมผลการดำเนินงานวิจัยใหม่ๆ ของโครงการหลวง ได้แก่ กุหลาบสายพันธุ์ใหม่ และความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนจนได้ผลิตภัณฑ์ “แบลคคาร์เวียร์” รวมทั้งร่วมกิจกรรม “เปิดฟ้า..ตามหาดาว..ที่หอดูดาวแห่งชาติ”ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์  โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวทีเสวนาฯ ประกอบด้วยสื่อมวลชนและเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนรวม 30 คน

นายณฐพงษธร แสงดี รองหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ กล่าวว่า สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถปลูกพืชที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ ทำให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่ง เลิกปลูกฝิ่น เลิกตัดไม้ทำลายป่า เลิกทำไร่เลื่อนลอย หันมาปลูกพืชเมืองหนาวและเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ.2522 ณ บริเวณบ้านขุนกลาง และโปรดให้เป็น “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ.2550 ปัจจุบัน สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ มีบุคลากรจำนวนรวม 375 คน (รวมลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนและรายวัน) มีพื้นที่ดำเนินการจำนวน 4 แห่ง รวมพื้นที่ 513 ไร่ ประกอบด้วยสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ (บ้านขุนกลาง) 89.5 ไร่ หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง 193 ไร่ หน่วยแม่ยะน้อย 110 ไร่ และหน่วยผาตั้ง 120.5 ไร่ รวมพื้นที่ในการดำเนินงานด้านวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช  และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน บนพื้นที่สูงจำนวน 513 ไร่ โดยรูปแบบการพัฒนาโครงการหลวงเหมือนวงแหวนที่เชื่อมโยงกัน 6 ห่วง ได้แก่ 1. การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2. การวิจัยเพื่อหาพืชชนิดใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่สูง 3. การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย 4. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการตลาด 5. การพัฒนาด้านสังคม และ 6. ความร่วมมือกับภาครัฐและประชาชน

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์มีภารกิจในด้านการวิจัยปรับปรุงพันธ์ไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว ไม้ผลเขตกึ่งร้อน และไม้ผลขนาดเล็ก จากนั้นจึงได้นำผลการวิจัยต่างๆ มาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรชาวไทยภูเขาในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา 2 เผ่า คือ ม้ง และกะเหรี่ยง(ปกาเก่อญอ) ในพื้นที่ 9 หมู่บ้าน  คือ บ้านขุนยะ บ้านป่าแขม บ้านขุนกลาง บ้านผาหมอน บ้านเมืองอาง บ้านแม่ปอน บ้านอ่างกาน้อย บ้านแม่ยะน้อย และบ้านหนองหล่ม จำนวน 6,013 คน (1,319 ครัวเรือน) เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 671 ราย พื้นที่ทำการเกษตร 1,167.75 ไร่นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงด้าน “ศูนย์การเรียนรู้ไม้ดอกเมืองหนาว” ให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปโดยเน้นการใช้พื้นที่บนฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้การเกษตรอย่างยั่งยืนบนพื้นที่สูง’ เพื่อเป็นการขยายผลสำเร็จของโครงการหลวงให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่ประชาชน หน่วยงาน และผู้สนใจทั้งภายในและต่างประเทศ ในด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรชาวไทยภูเขา ทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

สำหรับผลการดำเนินงานในปี พ.ศ.2556 สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์มีผลผลิตจากงานขยายพันธุ์เพื่อสนับสนุนงานส่งเสริม ในผลิตผลต่างๆ ดังนี้ กลุ่มไม้ผลขนาดเล็ก มีผลผลิตสตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน 80 ต้นไหล ปริมาณ 10,000 ไหล ต้นพันธุ์ 400 กระถาง กลุ่มพืชผัก ได้ผลผลิตต้นกล้า 15 ชนิด/4,381,030 ต้น เมล็ดพันธุ์ 11 ชนิด/195.27 กิโลกรัม กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ได้ผลผลิตไม้ถุง 3 ชนิด/7,200 ปักชำ งานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 7 ชนิด/39,428 ต้น นอกจากนี้ ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยว 85,515 คน แยกเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 76,568 คน และชาวต่างชาติ จำนวน 8,947 คน จำนวนรถ 11,897 คัน สรุปผลการดำเนินงานสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ในปี พ.ศ.2556 ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 มีรายรับ 34,437,381 บาท รายจ่าย 23,984,171 บาท สรุปรวมรายรับสูงกว่ารายจ่าย 10,453,209 บาท โดยมีผลงานวิชาการใหม่ๆ ที่ได้เผยแพร่ในงานโครงการหลวง 2556 อาทิ ความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนจนได้ผลิตภัณฑ์ “แบลคคาร์เวียร์” และกุหลาบสายพันธุ์ใหม่ของโครงการหลวง เป็นต้น ซึ่งสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสองผลงานวิจัยดังกล่าว ในสองหน่วยวิจัย ได้แก่ การเยี่ยมชมความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนที่สถานีวิจัยประมงบนบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์ และเยี่ยมชมกุหลาบสายพันธุ์ใหม่ที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง

นายสานนท์ น้อยชื่น นักวิชาการประมง สถานีวิจัยประมงบนบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานีวิจัยประมงบนบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์สามารถเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนจนได้ผลิตภัณฑ์ “แบลคคาร์เวียร์”เป็นที่เดียวในประเทศไทย โดยโครงการวิจัยนี้ตั้งเป้าหมายให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ไข่ปลาคาร์เวียร์ในประเทศไทยให้ได้ จึงได้นำพันธุ์ปลาไซบีเรียนสเตอร์เจียนมาเลี้ยงจนได้ผลิตภัณฑ์ “แบลคคาร์เวียร์” ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ผลผลิตไข่ปลาคาร์เวียร์ โดยปัจจุบัน สถานีวิจัยประมงบนบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์มีแม่พันธุ์ปลาจำนวน 500-600 ตัว

เมื่อโตเต็มที่ ปลาสเตอร์เจียนจะมีน้ำหนักสูงสุดเท่าที่บันทึกได้ในต่างประเทศคือ 210 กิโลกรัม เมื่อปลาอายุครบ 3 ปีจะได้ปลาที่น้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม สามารถจำหน่ายเนื้อได้ และเมื่อปลามีอายุ 7 ปีขึ้นไปจะได้ไข่ปลาคาร์เวียร์ โดยไข่ปลาที่ได้จากปลาสเตอร์เจียนตัวใหญ่จะได้ประมาณ 900 กรัม รวมผลผลิตไข่ปลาคาร์เวียที่ได้ในขณะนี้ประมาณ 5 ถึง 6 กิโลกรัม ซึ่งการจำหน่ายไข่ปลาคาร์เวียจะได้ราคาดีกว่าการจำหน่ายเนื้อ

อาหารตามธรรมชาติของปลาสเตอร์เจียนคือสัตว์หน้าดิน ได้แก่ กุ้ง ไส้เดือน ส่วนอาหารที่สถานีวิจัยประมงบนบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์ใช้ในการเลี้ยงคืออาหารเม็ดจมที่สั่งทำเป็นพิเศษ เพราะปลาสเตอร์เจียนต้องการโปรตีนสูง  โดยการเลี้ยงปลาสเตอร์เจี้ยนต้องดูแลโดยให้มีน้ำไหลเข้าบ่อตลอด 24 ชั่วโมง และควบคุมความเย็นให้ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส จึงจะทำให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพที่ดี โดยสถานีวิจัยฯ ใช้น้ำจากน้ำตกสิริภูมิโดยตรงซึ่งมีความเย็นทั้งปี อุปสรรคในการเลี้ยงที่ผ่านมาคือพบว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในรอบวัน เช่น เย็นจัดในช่วงเช้าและร้อนในช่วงบ่าย โดยการเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนนี้ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย ไม่ได้ถ่ายทอดลงสู่ชุมชน แต่ได้มีการจ้างให้ชาวไทยภูเขาให้มาดูแลรับผิดชอบในแต่ละโซน ซึ่งสภาพพื้นที่อื่นๆ ที่น่าจะสามารถเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนได้ได้แก่พื้นที่โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ ดอยดำ อ.เวียงแหง เป็นต้น

สำหรับการเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ ซึ่งเป็นปลาที่มีเนื้อเยอะและมีรสชาติอร่อย เนื้อคล้ายปลาสำลีและปลาทู ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากโอเมก้า 3  โดยสถานีวิจัยประมงบนบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์ได้นำเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.2516 และสามารถเพราะขยายพันธุ์ได้ปี พ.ศ.2541 ในขณะนี้มีจำนวนประมาณ 80,000 ตัว ปลาชนิดนี้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 1 กิโลกรัมขึ้นไป แต่มักจับขายที่ขนาด 250-300 กรัมเพราะเป็นขนาดที่เหมาะสมต่อการบริโภคต่อ 1 คน จำหน่ายทั้งในรูปแบบปลาสดและปลารมควัน โดยจำหน่ายปลาสดในราคากิโลกรัมละ 300 กว่าบาท ปลาเรนโบว์เทราท์สามารถทำไข่ปลาคาร์เวียร์ได้เช่นกัน ซึ่งเรียกว่า “เรดคาร์เวียร์” แต่จะจำหน่ายได้ในราคาที่ถูกกว่าแบลกคาร์เวียร์ในราคากิโลกรัมละ 7,000 บาท วิธีการเลี้ยงเช่นเดียวกับปลาสเตอร์เจียนคือน้ำต้องไหลเวียนตลอด 24 ชั่วโมง อาหารตามธรรมชาติคือแพลงตอนและกุ้งต่างๆ  ส่วนอาหารที่เลี้ยงคืออาหารเม็ดจมที่สั่งทำเป็นพิเศษ อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 18-20 องศาเซลเซียสจะสามารถเจริญเติบโตได้ดี ในหนึ่งปีจะสามารถขยายพันธุ์ได้ครั้งเดียวในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ได้ลูกปลาครั้งละ 1 แสนตัว ปลาเรนโบว์เทราต์เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์จะมีแถบสีข้างลำตัวทั้งตัวผู้ตัวเมีย เป็นที่มาของชื่อ “เรนโบว์เทราต์” จำหน่ายประมาณ 14 ตันต่อปี โดยตลาดหลักคือร้านอาหารและโรงแรมทั้งในกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ ขณะนี้ ยังไม่สามารถขยายผลไปสู่ชุมชนได้เพราะยังอยู่ในช่วงของการวิจัยเพื่อให้ได้ต้นทุนการเพาะเลี้ยงที่ต่ำที่สุดแต่ได้ผลผลิตมากที่สุด แต่ก็ใช้วิธีการจ้างชาวไทยภูเขามาเลี้ยงโดยเน้นการทำดูแลด้านความสะอาดของบ่อ สำหรับแผนงานในอนาคตของสถานีวิจัยประมงบนบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์จะเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่มีกระดอง เช่น ปู โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงให้ปลอดภัย หนาแน่นและคุณภาพดีที่สุด

 

ในส่วนของการเพาะเลี้ยงกุหลาบพันธุ์ใหม่ คุณอนันต์ แสนใจเป็ง นักวิชาการไม้ดอก หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เปิดเผยว่า สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ได้ทำการทดลองปลูกกุหลาบนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จำนวนประมาณ 14 สายพันธุ์ เช่น  พันธุ์สีขาวขลิบขมพู สีครีม หรือชมพูอ่อน เป็นพันธุ์กุหลาบสีอ่อน ต่างจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขางที่เน้นสีแดงและสีขาว ซึ่งพันธุ์กุหลาบที่นำมาปลูกนี้เป็นพันธุ์ที่ต้องปลูกในพื้นที่ที่มีความสูง 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป อุณหภูมิเฉลี่ยที่ 22 องศาเซลเซียส (ต่างประเทศควบคุมที่ 18 องศาเซลเซียส) โดยปลูกแบบ Substrat คือการเพาะเลี้ยงบนวัสดุต่างๆ ได้แก่ กาบมะพร้าวสับ แกลบ ขุยมะพร้าว และทราย อัตราส่วน 3:3:3:1 ไม่ได้ปลูกบนดิน ซึ่งการเลี้ยงแบบ Substrat นี้จะดีกว่าการเลี้ยงบนดินเนื่องจากวัสดุปลูกไม่มีธาตุอาหาร ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหาร น้ำและปุ๋ยที่กุหลาบต้องการได้ครบถ้วน แต่หากปลูกบนดินต้องทำการวิเคราะห์ดินซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจที่กรมวิชาการเกษตรที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเกษตรกรรายย่อยจะไม่มีทุนในการส่งวิเคราะห์ดังกล่าว

ปัจจุบัน สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ มีปริมาณการผลิตดอกกุหลาบเฉลี่ยเดือนละ 40,000 – 50,000 ดอก คิดเป็นวันละประมาณ 3,000 ดอก มีต้นทุนที่ดอกละ 17 บาท โดยชาวบ้านที่รับไปปลูก แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งกลุ่มนี้ในระยะแรกได้รับการสนับสนุนให้ปลูกกุหลาบจากโครงการหลวงจนมีความเข้มแข็ง สามารถเพราะปลูกและจำหน่ายได้เอง และกลุ่มที่สอง คือกลุ่มกะเหรี่ยงที่โครงการหลวงยังให้การสนับสนุนด้านทุน และการวิจัย โดยรับซื้อดอกที่เพาะเลี้ยงจากเกษตรกรทั้งหมด โดยผลผลิตทั้งหมดจะคัดบรรจุส่งให้ฝ่ายตลาดโครงการหลวงเพื่อจัดส่งให้สำนักพระราชวัง เพื่อลดปริมาณการนำเข้าดอกกุหลาบของสำนักพระราชวัง ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในปัจจุบันสำนักพระราชวังนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศปีละประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์สามารถนำส่งดอกกุหลาบเพื่อทดแทนการนำเข้าได้แล้วประมาณ 10 ล้านบาท

 

 

 

ำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน