วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

สำนักงาน กกพ.จัดกิจกรรมพบสื่อมวลชนท้องถิ่น

02 ธ.ค. 2013
202
Spread the love

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจัดกิจกรรมพบสื่อมวลชนท้องถิ่น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างสำนักงาน กกพ. กับสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท ภารกิจของสำนักงาน กกพ. ต่อสาธารณชน

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.56 ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. ณ ห้องอิมพีเรียล 3 ชั้น 2 โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดยการนำของ นายพรเทพ โชตินุชิต ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์การ ได้จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างสำนักงาน กกพ. กับ สื่อมวลชนท้องถิ่น”  โดยเชิญสื่อมวลชนทุกแขนงในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมพบปะสร้างความสัมพันธ์ และเป็นเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท ภารกิจของสำนักงาน กกพ. และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลัง (กกพ.) ต่อสาธารณชนต่อไป

ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์การ กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นองค์กรเพื่อกำกับดูแลงานด้านกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ จัดตั้งขึ้นโดยอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 โดยให้แยกงานกำกับดูแลออกจากงานด้านนโยบาย เพื่อทำให้งานแต่ละด้านมีการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อความมั่นคงของกิจการพลังงานไทย สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน และเชื่อถือได้ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง มีบทบาทภารกิจในการกำกับ คุ้มครองและสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ใช้พลังงาน เช่นการกำกับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) และค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติให้มีราคาที่เหมาะสม สามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน และเทคโนโลยี กำกับดูแลการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อการใช้พลังงานของประเทศ ตลอดจนกระจายความเจริญสู่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ห่างไกลในภูมิภาค การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต (สกพ.เขต) 13 แห่งทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการพลังงานครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด โดยคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่ม เป็นต้น นอกจากนั้นยังกำกับดูแลกิจการพลังงานอย่างมีมาตรฐาน เพื่อความมั่นคงทางด้านกิจการพลังงานด้วย โดยขณะนี้ได้มีการจัดทำโครงการรับซื้อไฟฟ้า Solar PV Rooftop ขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 ซึ่งเห็นชอบให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ Rooftop PV System โดยมีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้ง Photovoltaic Panel รวม 200 MWp จำแนกเป็นสำหรับอาคารประเภทบ้านอยู่อาศัย 100 MWp และสำหรับอาคารประเภทธุรกิจและโรงงาน 100 MWp  ทั้งนี้ให้มีการเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายในปี 2556 ด้วยอัตราการรับซื้อแบบ Feed-in Tariff ระยะเวลาการสนับสนุน 25 ปี โดยระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 15 พฤศจิกายน 2556 มีกลุ่มบ้านอยู่อาศัยเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ จำนวน 6,040 ราย ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขาย จำนวน 52.29          เมกะวัตต์ ส่วนกลุ่มธุรกิจและโรงงานปัจจุบันปิดรับข้อเสนอแล้ว โดยมีข้อเสนอรวม 1,481 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย จำนวน 609.37 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายประมาณ 6 เท่า

ด้านนายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล ผู้อำนวยการสำนักงาน กกพ. ประจำเขต 1 (เชียงใหม่) กล่าวว่า สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 1 (เชียงใหม่) มีบทบาทภารกิจในการกำกับดูแลครอบคลุม 6 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีโรงไฟฟ้าในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวม 18 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,465.95 เมกะวัตต์ โดยโรงฟ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (โรงไฟฟ้าแม่เมาะ) จังหวัดลำปาง ที่ใช้ถ่ายหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุด มีกำลังการผลิตถึง 2,400 เมกะวัตต์ ส่วนจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าใน 6 จังหวัดมีจำนวน 1,776,340 ครัวเรือน โดยภารกิจด้านการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต 1 (เชียงใหม่) หรือ คพข.ซึ่งมีจำนวน 11 คน โดยได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2556 และจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในเดือนกรกฎาคม 2557 นี้ ซึ่งในปีงบประมาณ 2556 ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเกิดขึ้นรวม 3 เรื่อง อยู่ในพื้นที่จังหวัดลำปาง 2 เรื่อง และจังหวัดลำพูน 1 เรื่อง สำหรับข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นเป็นการเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าย้อนหลัง สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ทางไฟฟ้าคลาดเคลื่อนในการอ่านค่า เมื่อ กฟภ.ตรวจพบจึงมีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลัง ส่วนงานด้านกองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า รวม 44 หมู่บ้านใน 5 ตำบลของอำเภอแม่เมาะ ประกอบด้วย ตำบลบ้านดง นาสัก จางเหนือ แม่เมาะ และตำบลสบป้าด ทั้งนี้มีงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ประจำปี พ.ศ.2557 จำนวน 320,350,000 บาท แยกเป็นค่าบริหารจัดการ 14,930,000 บาท และค่าดำเนินการโครงการชุมชน 305,420,000 บาท

ผู้อำนวยการสำนักงาน กกพ. ประจำเขต 1 (เชียงใหม่) กล่าวเพิ่มเติมถึงช่องทางการร้องเรียนเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานว่า ได้เปิดช่องทางการร้องเรียนหลายช่องทาง ได้แก่ การร้องเรียนด้วยตนเองที่ สำนักงาน กกพ.ประจำเขตทุกเขต การร้องเรียนทางโทรศัพท์ การร้องเรียนผ่านเครือข่าย คพข. และทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ.

 

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน