วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

สัมมนาแนวทางการปรับตัวภาคการส่งออก

29 ส.ค. 2013
185
Spread the love

 

จัดสัมมนาแนวทางการปรับตัวภาคการส่งออก (อุตสาหกรรม-เกษตรกรรม) 

คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาแนวทางการปรับตัวภาคการส่งออก (อุตสาหกรรม-เกษตรกรรม)  ภายใต้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กลุ่มพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในการร่วมกันแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบ ในการเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา เวลา 14.00 น. ณ ห้องเชียงแสน 1-2 ชั้น 3 โรงแรมเซ็นทาราดวงตะวัน นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหาภาค ฯลฯ ให้แก่ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆของรัฐ ผู้บริหารสายงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม และหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง

โดยประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหาภาค ฯลฯ กล่าวว่า จากที่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างรุนแรง เห็นได้จากในเดือนพฤษภาคม การส่งออกในเชิงดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 5.25 เดือนมิถุนายน ติดลบร้อยละ 3.38 ส่งผลให้ตัวเลขในการส่งออกดอลลาร์สหรัฐในครึ่งปีแรก ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.95 กระทบต่อเป้าการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าปี 2556 น่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 7-7.5 กระทรวงพาณิชย์อาจปรับลดเหลือร้อยละ 5-6 แต่ภาคเอกชนเห็นว่าตัวเลขการส่งออกอาจขยายตัวได้ร้อยละ 2-3 หรืออาจต่ำกว่านี้ ทั้งนี้สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของประเทศคู่ค้าที่สำคัญซึ่งมีตัวเลขการส่งออกในเชิงดอลลาร์สหรัฐที่ถดถอยเช่น ประเทสหรัฐอเมริกา ตัวเลขส่งออกติดลบร้อยละ 0.5 สหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 1.4 เดือนมิถุนายน ติดลบร้อยละ 2.4 ญี่ปุ่นติดลบร้อยละร้อยละ 2.5 จีนติดลบร้อยละ 3.6 และอาเซียน ขยายตัวเป็นบวก ร้อยละ 4.1 ขณะที่การส่งออกผ่านด้านชายแดนเดือนมิถุนายน ติดลบร้อยละ 3.2

การที่ภาคส่งออกมีการขยายตัวถดถอย ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 การส่งออกโดยภาพรวมติดลบร้อยละ 3.2 โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากได้ แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ติดลบร้อยละ 4.7 เดือนมิถุนายน ติดลบร้อยละ 11.6  อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 2.8 เดือนมิถุนายน ติดลบร้อยละ 6.1 อุตสาหกรรมกุ้งแช่แข็งและแปรรูป ติดลบร้อยละ 28.40 เดือนมิถุนายนติดลบร้อยละ 45.60 อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 1.0 อุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและแปรรูป ติดลบร้อยละ 2.0 เดือนมิถุนายน ติดลบร้อยละ 13.0

สำหรับสินค้าเกษตรโดยภาพรวมครึ่งปีแรก การส่งออกติดลบร้อยละ 6.2 โดยภาคเกษตรได้รับผลกระทบที่รุนแรง เช่น การส่งออกข้าว ติดลบร้อยละ 3.4 ยางพาราติดลบร้อยละ 12.35 เดือนมิถุนายนติดลบร้อยละ 20.5 อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล ติดลบร้อยละ 29.50 ทั้งนี้ในครึ่งปีหลัง สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการส่งออกของไทยรวมทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในส่วนภูมิภาค ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น SMEs จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญและช่วยเหลือ

ดั้งนั้นทางคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการสัมมนา เรื่องแนวทางการปรับตัวภาคการส่งออก (อุตสาหกรรม-เกษตรกรรม) ภายใต้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพื่อศึกษาถึงปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก และทิศทางแนวโน้มการขยายตัวจากสภาวะรุมเร้าของเศรษฐกิจโลก เพื่อศึกษาแนวทางการประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงพันธกิจของหน่วยงานต่าง ๆ กับการจัดวางยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ นำเสนอต่อไปยังรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในส่วนของ ภาคการส่งออก

ซึ่งครั้งนี้การจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นกำหนดจัดขึ้นในพื้นที่ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 จัดขึ้นที่ จังหวัดสงขลา วันที่ 16 สิงหาคม 2556 จัดขึ้นที่ จังหวัดบุรีรัมย์ และที่จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นครั้งที่ 3 ส่วนอีก 2 ครั้งกำหนดจัดขึ้นที่จังหวัดระยอง และกรุงเทพมหานครตามลำดับ ซึ่งปัญหาที่พบในภาคใต้เป็นเรื่องของ ยางพารา อาหารทะเล กุ้งแช่แข็ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่อง ข้าว อ้อย และยางพารา ส่วนภาคตะวันออกเป็นเรื่องของยางพารา ผลไม้ การท่องเที่ยวที่ถูกทำลายจากปัญหาคราบน้ำมัน สำหรับภาคเหนือจะมีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งนี้ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือกล่าวว่า เกิดจากปัญหานโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วน เสียให้ครอบคลุมทุกด้านก่อนประกาศใช้ เช่น นโยบายด้านการขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทำให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องประกาศลดจำนวนพนักงาน หรือลดค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น ส่วนการขยายงานไปยังหน่วยงานส่วนท้องถิ่นก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้นจึงเห็นว่าความอ่อนแอของภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสาเหตุ ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของภาครัฐ.

 

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ