วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

สรรพากรไล่เช็กแสนราย ค้าออนไลน์เตรียมออกกฎหมาย เก็บภาษีการค้า

Spread the love

scoop213

สกู๊ปพิเศษ CNX  NEWS 

สรรพากรไล่เช็กแสนราย ค้าออนไลน์เตรียมออกกฎหมาย เก็บภาษีการค้า

       ท่านผู้อ่านครับ ทุกวันนี้เราหายใจเป็นอินเตอร์เน็ทเราเล่นไลน์ เล่น เฟสบุ๊ก สื่อสารกัน และมีผู้คนจำนวนมากทำธุรกิจในโลกออนไลน์ไปพร้อมกัน ซึ่งการทำธุรกิจทุกประเภทเราทำกันแบบเสรี และไม่ต้องเสียภาษีอีกต่างหาก ทำกันมานานพอสมควรและนับวันจะทำกันมากขึ้น ตัวเลขของคนทำธุรกิจบนโลกอินเตอร์เน็ทว่ากันว่ามีนับแสนรายเพราะฉะนั้นต่อไปนี้ คนทำธุรกิจออนไลน์จะต้องเข้าสู่กระบวนการที่เป็นธรรม คือจะต้องเสียภาษีกันแล้วครับ เรื่องจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม

               คุณประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2559 ว่า ขณะนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมธุรกรรมการค้าและการเงินบนโลกออนไลน์ คาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมติได้ในปี 2560 ก่อนนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาในลำดับต่อไป

              อธิบดีกรมสรรพากร บอกอีกว่า ขณะนี้การร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนปรับร่างเนื้อหา ได้เชิญผู้ที่มีส่วนได้เสียไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในระบบไอที ระบบการเงิน มาระดมความคิด เพื่อให้การเขียนกฎหมายครอบคลุมและอยู่ภายใต้หลักการเดียว คือการจัดเก็บที่เป็นธรรมและสร้างความเท่าเทียม ทั้งบริษัทที่จัดตั้งในประเทศและจัดตั้งในต่างประเทศจะเน้นจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ทุกรูปแบบ ทั้ง Apple Pay , อาลีเพย์ บิทคอยน์ รวมถึงกิจกรรมการค้าและโฆษณาผ่าน เฟซบุ๊ก และ กูเกิ้ล

          “ในอนาคตจะมีการค้ารูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้น การเขียนกฎหมายจะต้องทำให้ครอบคลุม เพราะหากมีกิจกรรมการค้าก่อให้เกิดรายได้ขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามคุณก็มีหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศไทยเท่านั้น”คุณสมประสงค์ กล่าว

ส่วนในร่างกฎหมายฉบับนี้เบื้องต้นกรมสรรพากรแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ทำธุรกิจออนไลน์และมีธุรกิจที่จดทะเบียนภายในประเทศ และกลุ่มที่ 2.กลุ่มธุรกิจออนไลน์แต่มีสถานประกอบการหรือจดทะเบียนจัดตั้งในต่างประเทศ ส่วน ธุรกิจออนไลน์ในไทยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ร้านค้าปกติที่หันมาทำตลาดออนไลน์จำพวกห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ ที่ขายสินค้าทางออนไลน์ กลุ่มนี้ไม่น่าห่วงเพราะอยู่ในฐานภาษีอยู่แล้ว

แต่ที่สำคัญมาก คือในกลุ่มที่ 2 หรือ รายย่อย ถือว่าเป็นกลุ่มที่อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายไม่เสียภาษี ก็จะมีการแก้ไขกฎหมายให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตรวจสอบ จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันมีรายย่อยที่ค้าขายผ่านระบบออนไลน์นับแสนราย แต่ทุกรายไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากรายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์กลุ่มนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างติดตามเพื่อทำกลุ่มข้อมูลสำหรับจัดเก็บภาษีโดยจะตั้งทีมติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ และปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

             “การขายสินค้าออนไลน์ก็จะต้องเสียภาษี ถ้าเป็นบริษัทก็เสียนิติบุคคล บุคคลธรรมดาก็คิดตามเกณฑ์รายได้ แต่หากมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีแล้วก็จะต้องเข้าสู่ฐานระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม” ท่านว่า

กรณีธุรกิจออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีต่ำ เกิดขึ้นในทุกประเทศ และประสบปัญหาเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์หรือเอเชีย ซึ่งไทยเองก็เจอปัญหาไม่ต่างกัน แต่ขณะนี้หลายปีประเทศได้ออกกฎหมายมาควบคุมแล้ว

“ขณะนี้มีประมาณ 30 ประเทศ ที่ออกกฎหมายมาดูแล ไทยเองก็ต้องออกกฎหมายควบคุม เพราะกฎหมายที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล เป็นกฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2490 กว่า สมัยนั้นยังไม่มี iCloud และยังไม่มีอินเตอร์เน็ตคนที่เขียนกฎหมายขณะนั้นยังนึกภาพไม่ออก แต่เมื่อมีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นจำเป็นที่จะต้องปรับแก้กฎหมายให้มีความทันสมัย”

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเสริมว่า การร่างกฎหมายากรนี้ จำเป็นจะต้องมีหน่วย งานอื่นให้ความร่วมมือทั้งจากกรมสรรพากร กระทรวงดีอี และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้กฎหมายที่จะออกมามีความเป็นธรรม เท่าเทียม มองภาพอนาคตในสิ่งที่ยังไม่เกิด ช่วยผู้ที่ทำธุรกิจและเสียภาษีถูกต้องไม่เสียเปรียบคนที่มาใช้ช่องใหม่ ที่สำคัญต้องปิดช่องโหวที่อาจเกิดขึ้นในทุกช่องทาง ปิดทางไม่ให้เลี่ยงการตรวจสอบให้ครอบคลุมที่สุด “Google Pay หรือแม้การจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆเมื่อกฎหมายตรวจสอบได้ง่ายมากโดยดูจากเส้นทางการจ่ายว่ามาจากบัญชีธนาคารและโอนผ่านช่องทางไหนและต่อไปยังปลายทาง รวมถึงการคิดบนพื้นฐานหากโลกเปลี่ยนไป จากที่เน้นซื้อของผ่านห้างสรรพสินค้า เป็นไปได้หรือไม่ที่คนรุ่นใหม่จะเลือกเปรียบเทียบสินค้าในห้าง แต่กลับมาซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตแทน ดังนั้นการตรวจสอบผ่านแอพพลิเคชั่นด้านการใช้จ่ายถือเป็นช่องทางที่สำคัญอย่างมาก”

นอกจากนี้ในอนาคตยังตรวจสอบได้ถึงกรณีที่มีการแอบอ้างชื่อบุคคลอื่น ที่นำมาเปิดเพื่อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพราะในที่สุดเงินก็จะไปอยู่ในบัญชีเจ้าของเงินตัวจริง

            ทางด้าน ด้านนักวิชาการด้านเทคโนโลยี่ให้ความเห็นว่า ภาษีเป็นประเด็นใหญ่ของโลกรวมทั้งประเทศไทย ประเด็นสำคัญคือไทยต้องการรั้วหรือกำแพงเพื่อปกป้องผลประโยชน์เพราะหากเมื่อไหร่ไม่มีกฎหมายหรือรั้วผู้บุกรุกทางสะดวกที่จะเข้ามา

            ก็เป็นอันว่า ปี 2560 ก็จะมีการออกกฏหมายเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ บทความนี้นำเสนอเพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ค้าๆขายๆในโลกออนไลน์ได้เตรียมตัวไว้ครับ ซึ่งก็คงไม่มีปัญหาอะไรมาก นึกว่าเสียภาษีช่วยบ้านเมืองก็แล้วกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก   ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน